เขียนด้วยมือยังจำเป็นอยู่! สหรัฐฯ ยื่นร่างกฎหมายป้องกันไม่ให้ ‘ลายมือ’ สูญพันธุ์

28 เม.ย. 2567 - 00:00

  • ขณะนี้หลายรัฐในสหรัฐฯ กำลังพยายามป้องกัน ‘ไม่ให้ลายมือสูญพันธุ์’ ไป เนื่องจากห้องเรียนได้เปลี่ยนจากการใช้ปากกาและกระดาษไปใช้แท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น

  • การสำรวจในปี 2021 พบว่า 45% ของชาวอเมริกันมีปัญหาในการอ่านลายมือของตัวเอง ในขณะที่ 70% นั้นพบว่าชาวอเมริกันมีปัญหาในการอ่านบันทึกหรือรายงานจากเพื่อนร่วมงาน

  • “หากลายมือสูญพันธุ์ มันจะเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์หรือเชื่อมโยงกับอดีตของเรา…”

americas-fight-save-handwriting-from-extinction-iq-begin-fall-first-time-ever-SPACEBAR-Hero.jpg

คุณคิดว่า ‘ลายมือ’ หรือ ‘การเขียนด้วยมือ’ ยังสำคัญอยู่ไหม? ในเมื่อปัจจุบันเรามีทั้งแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ไว้สำหรับพิมพ์งาน ไหนจะปากกาดิจิทัลและเมาส์ปากกาอีก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้เราจริงๆ ทว่าบางครั้ง ‘การเขียนด้วยมือ’ ก็ยังจำเป็นอยู่ ในแง่ของการเซ็นชื่อ เซ็นเอกสารสำคัญ 

บางคนอาจคิดว่ามันอาจไม่ค่อยจำเป็นแล้ว แต่ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงในสหรัฐฯ ถึงกับร่างกฎหมายไม่ให้ ‘ลายมือ’ ต้องถูกกลืนไปเพราะเทคโนโลยีเลยทีเดียวล่ะ 

เมื่อ ‘ลายมือ’ กำลังจะสูญหายไปเพราะ ‘เทคโนโลยี’!

americas-fight-save-handwriting-from-extinction-iq-begin-fall-first-time-ever-SPACEBAR-Photo01.jpg

ขณะนี้หลายรัฐในสหรัฐฯ กำลังพยายามป้องกัน ‘ไม่ให้ลายมือสูญพันธุ์’ ไป เนื่องจากห้องเรียนได้เปลี่ยนจากการใช้ปากกาและกระดาษไปใช้แท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น 

รัฐบาลสหรัฐฯ ถอดทักษะดังกล่าวออกจากหลักสูตรหลักในปี 2010 โดยอ้างว่าเป็นทักษะที่ใช้เวลานานและไม่มีประโยชน์ในยุคเทคโนโลยี ซึ่งหมายความว่าโรงเรียนอาจมุ่งเน้นไปที่คลาส ‘การพิมพ์’ แทน 

‘การเขียนด้วยลายมือ’ ถือเป็นทักษะการเคลื่อนไหวที่ดีที่กระตุ้นและท้าทายสมอง แต่เมื่อโรงเรียนหันมาใช้เทคโนโลยีแทน ครูบางคนก็บ่นว่านักเรียนแทบจะไม่สามารถจับดินสอได้ แต่กลับสามารถปัดและดับเบิลคลิกบนอุปกรณ์ของตัวเองได้เสียอย่างงั้น 

นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้อย่างโรค ‘ดิสกราเฟีย’ (dysgraphia / เขียนพยัญชนะผิด สะกดคำผิดบ่อยๆ เขียนตัวหนังสือกลับด้าน หรือเขียนหัวพยัญชนะสลับด้าน) สามารถอ่านได้แต่มีปัญหาในการเขียนพยัญชนะ ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากวิธีการเอาชนะความบกพร่องนี้จำเป็นต้องฝึกเขียนด้วยมือ 

การศึกษาก่อนหน้านี้เปิดเผยว่าคะแนนไอคิว (IQ) ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ และบ่งชี้ว่า ‘เทคโนโลยีอาจเป็นสาเหตุได้’ 

ขณะเดียวกันทางครู ผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญบอกกับสำนักข่าว DailyMail ว่า พวกเขาพบเห็นเด็กและเยาวชนที่ไม่รู้วิธีเซ็นชื่อหรืออ่านตัวเขียน (read cursive) 

ร่างกฎหมายป้องกัน ‘ลายมือ’ สูญพันธุ์

americas-fight-save-handwriting-from-extinction-iq-begin-fall-first-time-ever-SPACEBAR-Photo02.jpg

รัฐแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์กให้ความสำคัญกับ ‘ลายมือ’ ถึงขนาดที่มีการผ่านร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งกำหนดให้นักเรียนอายุ 6-12 ปีต้องเรียนรู้การเขียนตัวเขียน (cursive writing) ขณะที่รัฐอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการในสภานิติบัญญัติแล้ว แต่บางรัฐก็ยังอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ เช่น รัฐโคโลราโด รัฐนิวเม็กซิโก และรัฐเนวาดา 

“ฉันหวังว่านักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีการเขียนด้วยตัวเขียน” เทรซี เบนดิช นักบำบัดโรคออทิสติกด้วยการปรับพฤติกรรม (ABA) จากสถาบันการศึกษาเจฟเฟอร์สันบอกกับ DailyMail 

ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมากระหว่างโรงเรียนที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่าย กับโรงเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล’ (digital divide) กล่าวคือ นักเรียนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีกว่าจะประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้ดีกว่านักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งเมื่อมีครูจำนวนมากขึ้นหันมาใช้เทคโนโลยีในหลักสูตรการสอนของตัวเอง 

เทคโนโลยีมีส่วนทำให้ IQ ลดลงด้วย… 

เมื่อปีที่แล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออริกอนและนอร์ธเวสเทิร์นรายงานว่า “คะแนนไอคิวลดลงเนื่องจากเทคโนโลยีทำให้สมาธิสั้นลง และลดความจำเป็นในการคิดอย่างลึกซึ้ง” 

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญก็เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้บริหารโรงเรียนนำทักษะ ‘การเขียนด้วยมือ’ กลับมาใช้ในโรงเรียน โดยอ้างถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีปัญหาในการจับดินสอ แต่กลับสามารถใช้อุปกรณ์ดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย

“การสอนตัวเขียนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีประโยชน์ แต่เด็กๆ ก็ต้องสามารถอ่านตัวเขียนได้ อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จำเป็นต้องรู้วิธีเซ็นชื่อ…ฉันเคยเจอนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและผู้สมัครงานจำนวนมากที่ไม่สามารถเซ็นชื่อในเอกสารได้”

ดร.ลอรี โคเออร์เนอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตการศึกษากลางริเวอร์เฮดในนิวยอร์กบอกกับ DailyMail

 
การสำรวจในปี 2021 ที่ดำเนินการโดย ‘OnePoll’ ในนามของบริษัท ‘Bic USA Inc.’ พบว่า 45% ของชาวอเมริกันมีปัญหาในการอ่านลายมือของตัวเอง ในขณะที่ 70% นั้นพบว่าชาวอเมริกันมีปัญหาในการอ่านบันทึกหรือรายงานจากเพื่อนร่วมงาน

บางคนแสดงความคิดเห็นที่คล้ายกัน โดยกล่าวว่าการเซ็นชื่อในเอกสารสำคัญจะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่ตึงเครียดหากไม่สามารถเขียนตัวเขียนได้ “หลานสาววัย 20 ปีของฉันต้องลำบากในการเซ็นเช็ค มันสำคัญมากและควรนำทักษะการเขียนด้วยมือกลับไปสอนในโรงเรียนทุกแห่ง” คิมเบอร์ลี จาโควีโน จากเมืองมอนโร รัฐคอนเนตทิคัต

เว็บไซต์ ‘Psychology Today’ รายงานว่า “หลังจากที่มีการหันมาใช้คีย์บอร์ดแทนการเขียนด้วยมือ นักการศึกษาก็พบว่า ‘ระดับ IQ ของนักเรียนลดลง’ และโทษว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีในห้องเรียน”

เฮ็ตตี โรสซิงห์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแคลแกรีได้สะท้อนความรู้สึกนี้ โดยกล่าวว่า “เด็กอายุ 5 ขวบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางวิชาการ เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล”

ทั้งนี้ โรสซิงห์ให้การสนับสนุนโรงเรียนต่างๆ มานานแล้วในการผลักดันการเขียนด้วยลายมือและการเขียนตัวเขียนให้กับเด็กๆ เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความซับซ้อนของสมองและวงจรที่กระตุ้นความทรงจำซึ่งการพิมพ์ไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ 

การเขียนด้วยมือช่วยให้สมองทำงานดีขึ้น!

americas-fight-save-handwriting-from-extinction-iq-begin-fall-first-time-ever-SPACEBAR-Photo03.jpg

การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งนอร์เวย์ (NTNU) พบว่า “การเขียนด้วยลายมือเชื่อมโยงกับการทำงานของสมองที่เพิ่มขึ้นในด้านการรับรู้ ทักษะการเคลื่อนไหว และความจำ”

“สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าสมองเป็นไปตามหลักการ ‘use it or lose it’ (หลักการที่สมองจะลบความจำออกโดยอัตโนมัติเวลาที่เราไม่ใด้ใช้งานความจำนี้เป็นเวลานาน)…เมื่อเขียนด้วยมือ สมองส่วนใหญ่จะทำงาน สิ่งนี้ทำให้สมองสื่อสารระหว่างส่วนต่างๆ ที่ทำงานอยู่ ซึ่งส่งผลให้สมองอยู่ในสภาวะที่ช่วยให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เรียนรู้มากขึ้นและจดจำได้ดีขึ้น”

ออเดรย์ ฟาน เดอร์ เมียร์ ผู้เขียนรายงานวิจัยและศาสตราจารย์ด้านประสาทจิตวิทยาแห่ง NTNU กล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อทักษะ ‘การพิมพ์’ เริ่มสำคัญกว่า ‘ตัวเขียน’

โรงเรียนต่างๆ ได้หยุดสอนการเขียนตัวเขียนไปในปี 2010 เมื่อรัฐในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่นำสิ่งที่เรียกว่า หลักสูตร ‘Common Core State Standards’ มาใช้ ซึ่งกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการอ่านและคณิตศาสตร์ แต่ไม่รวมตัวเขียนเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่แนะนำ ในเวลานั้น นักวิจารณ์กล่าวว่า “ความพยายามในการสอนควรใช้ไปกับการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เช่น การเขียนโค้ดและการพิมพ์คอมพิวเตอร์“ ในขณะที่นักวิจารณ์คนอื่นๆ เรียกหลักสูตรการเขียนตัวเขียนว่า ‘ล้าสมัย‘

หลังจากยกเลิกการเขียนตัวเขียนจากหลักสูตรทั่วไป สมาชิกสภานิติบัญญัติแจงว่า “การเขียนตัวเขียนนั้นใช้เวลานานและจะไม่มีประโยชน์เท่ากับทักษะอื่นๆ เช่น การพิมพ์ ซึ่งนักเรียนจะต้องมีเมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย”  

อย่างไรก็ดี การเขียนตัวเขียนไม่ได้อยู่ในการทดสอบที่จัดอันดับโรงเรียนภายใต้กฎหมาย ‘No Child Left Behind’ (ไม่มีเด็กคนใดถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง) ซึ่งบังคับใช้โดยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู.บุช ในปี 2002 และสิ้นสุดในปี 2015 

โดยทั่วไป โรงเรียนจะปรับหลักสูตรการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดภายใต้กฎหมาย ‘No Child Left Behind Act’ (NCLB) ซึ่งกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับผลการเรียนที่ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน NCLB อย่างต่อเนื่อง รัฐก็มีสิทธิ์เปลี่ยนทีมผู้นำของโรงเรียน หรือแม้แต่ปิดโรงเรียน 

สุดท้ายแล้วทักษะ ‘การเขียนด้วยมือ’ มันไม่ควรหายไป…

americas-fight-save-handwriting-from-extinction-iq-begin-fall-first-time-ever-SPACEBAR-Photo04.jpg

รัฐ 41 รัฐนำหลักสูตรแกนกลางทั่วไปมาใช้ และแต่ละรัฐก็สามารถเลือกสอนตัวเขียนได้ ซึ่งรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐแมสซาชูเซตส์ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่รัฐที่เลือกใช้ ประมาณ 6 ปีต่อมา 14 รัฐได้นำหลักสูตรการเขียนตัวเขียนกลับมาใช้ใหม่ในทุกชั้นเรียน และภายในปี 2019 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 20 รัฐ 

ชารอน เคิร์ก-ซิลวา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนียได้เสนอร่างกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว โดยอ้างว่า “นักเรียนไม่เพียงแต่สามารถเขียนตัวเขียนได้เท่านั้น แต่ยังต้องอ่านได้ด้วย” 

ร่างกฎหมายแคลิฟอร์เนียจะมีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2024-2025 ที่กำลังจะมาถึง แต่ร่างกฎหมายที่คล้ายกันนี้ยังคงค้างอยู่ในรัฐอื่นๆ เช่น รัฐเคนตักกี้ ซึ่งหากว่าผ่าน จะมีการบังคับใช้ในปีการศึกษา 2025-2026 

แรงผลักดันนี้ยังเป็นการตอบสนองต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง เคิร์ก-ซิลวา เชื่อว่าจะทำให้ครูต้องให้นักเรียนกลับไปทำข้อสอบเรียงความที่เขียนด้วยลายมือ ซึ่งนักเรียนจำเป็นต้องมีความสามารถในการเขียนตัวเขียน เนื่องจากมันเร็วกว่าการพิมพ์ 

“หากลายมือสูญพันธุ์ มันจะเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์หรือเชื่อมโยงกับอดีตของเรา…” โรสซิงห์กล่าว 

ยิ่งไปกว่านั้น ชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์อาจสูญหายไปสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้รับการสอนให้อ่านและเขียนตัวเขียน ทำให้พวกเขาไม่สามารถอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ ได้ เช่น บันทึกลับของแอนน์ แฟรงก์ รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ และร่างพระราชบัญญัติสิทธิสหรัฐฯ 

เชลซี เฮยส์ คุณแม่ในรัฐแมรีแลนด์กล่าวว่า ไม่ว่าโรงเรียนจะตัดสินใจอย่างไร เธอวางแผนเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าลูกสาววัย 3 ขวบของเธอจะได้เรียนรู้วิธีเขียนตัวเขียนเมื่อโตขึ้น “ฉันคิดว่ามันสำคัญ ไม่ใช่แค่เพื่อจุดประสงค์ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทักษะด้วย ฉันคิดว่ามันเกือบจะเหมือนกับการเรียนรู้ภาษาอื่น มันเป็นอีกทักษะหนึ่งที่ฉันคิดว่าลูกสาวของฉันควรมี ซึ่งถ้ามีมันก็เยี่ยมมาก”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์