โทษประหารยังจำเป็น? เมื่อยอดประหารทั่วโลกพุ่งสูงสุดรอบ 5 ปี

18 พ.ค. 2566 - 08:08

  • การตัดสินประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2022 เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

  • ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตประชาชนไปทั้งสิ้น 196 ราย ถือว่ามากที่สุดของประเทศในรอบ 30 ปี

  • ไทย เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งใน 55 ประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิต

amnesty-executions-worldwide-increased-in-2022-SPACEBAR-Thumbnail
องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานประจำปีเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่บ่งชี้ว่า การตัดสินประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2022  มีจำนวนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นำโดยภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า มีการตัดสินประหารชีวิตเกิดขึ้น 883 คดีใน 20 ประเทศ รวมถึง 1 คดีในญี่ปุ่น เทียบกับ 993 คดีในปี 2017 และ 579 คดีในปี 2021 แต่ยอดการประหารชีวิตทั่วโลกในความเป็นจริงน่าจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวไม่รวมการตัดสินประหารชีวิตอีกหลายพันคดีที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน โดยการประหารชีวิตนอกจีนประมาณ 90% เกิดขึ้นในอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ 

องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตประชาชนไปทั้งสิ้น 196 ราย  ถือว่ามากที่สุดของประเทศในรอบ 30 ปี และมีการประหารชีวิตมากที่สุดถึง 81 รายในวันเดียว 

ส่วนอิหร่าน มีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 576 ราย จาก 314 รายในปี 2021 โดย แอกเนส คัลลามาร์ด เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า รัฐบาลอิหร่านประหารชีวิตผู้คนที่ออกมาใช้สิทธิ์ประท้วงด้วยความพยายามอย่างหนักที่จะยุติการลุกฮือของประชาชนในประเทศ 

ขณะเดียวกัน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งสิ้น 11 คน รวมทั้งในสิงคโปร์ ในบังกลาเทศ และในญี่ปุ่นแต่ รายงานชิ้นนี้ไม่ได้ระบุตัวเลขอย่างเฉพาะเจาะจงของเกาหลีเหนือ และประเทศอื่นๆ รวมทั้งจีนและเวียดนาม เนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ 

ส่วนเมียนมา ซึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2021 มีการตัดสินประหารชีวิตนักโทษรวมทั้งสิ้น 4 คน ถือเป็นการประหารชีวิตนักโทษเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีของเมียนมา 

นอกจากนี้ อัฟกานิสถาน ยังกลับมาเริ่มประหารชีวิตนักโทษอีกครั้ง เมื่อกลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจหลังการโค่นล้มรัฐบาลที่สหรัฐให้การสนับสนุน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3SF5nyoyj30XdlVbM1XUGE/cb4f15e8479cf679321762e4de225d8f/amnesty-executions-worldwide-increased-in-2022
สำหรับประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ขณะที่ลาวและบรูไน ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ โดยยังคงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไปแต่ได้ระงับการประหารชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือมากกว่านั้น 

ส่วนไทย เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งใน 55 ประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตอยู่ 

การลงโทษด้วยการประหารชีวิตผู้กระทำความผิดยังคงเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บเป็นความลับในหลายประเทศ รวมทั้งจีน เกาหลีเหนือ และเวียดนาม ซึ่งใช้โทษประหารอย่างเปิดเผย ด้วยเหตุนี้ตัวเลขที่แท้จริงของผู้เสียชีวิตจากโทษประหารน่าจะสูงกว่านี้  เช่น  กรณีของจีน ที่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขผู้ถูกประหารชีวิตว่ามีเท่าใดแต่รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า จีนประหารชีวิตนักโทษมากกว่าอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ ยังมีการรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตใน 5 ประเทศคือ อัฟกานิสถานที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  คูเวต เมียนมา ปาเลสไตน์และสิงคโปร์ 

การประหารชีวิตในความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021แต่ถึงแม้ว่าจำนวนครั้งของการประหารชีวิตจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนการใช้โทษประหารชีวิตจริงๆ ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนลดลงอย่างน้อยจาก 2,052 ครั้งในปี 2021 เหลือ 2,016 ครั้งในปี 2022 

นอกจากนี้ มี 6 ประเทศที่ยกเลิกการประหารชีวิตในทุกกรณี หรือบางกรณี เช่น คาซักสถาน ปาปัวนิวกินี เซียร์ราลีโอน และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนอิเควทอเรียลกินีและแซมเบีย ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป 

นับจนถึงสิ้นปี 2022 มี 112 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท และมี 9 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้ระบุว่า มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นสำหรับการใช้โทษประหาร โดยไลบีเรียและกานา กำลังดำเนินการด้านนิติบัญญัติเพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ส่วนศรีลังกา และมัลดีฟส์ ประกาศชัดเจนว่า จะไม่กลับไปใช้โทษประหารอีก ส่วนมาเลเซียก็เสนอร่างกฏหมายเพื่อยกเลิกการประหารชีวิตและตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาในรัฐสภา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์