บทวิเคราะห์: สหรัฐฯ เสี่ยงถูกดึงเข้าสู่สงครามตะวันออกกลาง

29 ต.ค. 2566 - 01:00

  • สัปดาห์ที่แล้วสหรัฐฯ ตกเป็นเป้าถล่มในตะวันออกกลางหลายจุดทั้งจากกลุ่มกบฏในเอเมนและอิรัก

  • เริ่มมีสัญญาณเตือนชัดเจนแล้วว่ากำลังจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกในตะวันออกกลาง

  • ปัญหาทั้งหมดทำให้สหรัฐฯ ขยับเข้าใกล้ความเป็นไปได้ที่แท้จริงในการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในสงครามตะวันออกกลาง

analysis-us-dangerously-close-to-being-pulled-into-middle-east-war-SPACEBAR-Hero.jpg

สัปดาห์ที่แล้วสหรัฐฯ ตกเป็นเป้าถล่มในตะวันออกกลาง เรือรบยูเอสเอสคาร์นีย์ของสหรัฐฯ สกัดขีปนาวุธและโดรนที่ยิงโดยกลุ่มกบฏฮูษีในเยเมนซึ่งมีอิหร่านหนุนหลัง ฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งในซีเรียถูกโจมตี ส่วนในอิรักกองกำลังสหรัฐฯ ถูกกลุ่มติดอาวุธในอิรักที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านโจมตีด้วยโดรนและจรวด

ตอนนี้กาซาคือพื้นที่ที่สงครามกำลังเกิดขึ้น แต่เริ่มมีสัญญาณเตือนชัดเจนแล้วว่ากำลังจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกในตะวันออกกลาง

สหรัฐฯ ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 กองเรือไปทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ต่อมามีการเปลี่ยนแผนให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส ไอเซนฮาวร์มุ่งหน้าไปตะวันออกกลางแทน แทนที่จะไปสมทบกับกองเรือยูเอสเอส ฟอร์ด-ผู้เขียน) เพื่อป้องปรามอิหร่านและซีเรีย รวมทั้งกลุ่มฮิซบุลลอห์ไม่ให้เปิดแนวรบใหม่กับอิสราเอล นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังสั่งให้นาวิกโยธิน 2,000 นายเตรียมพร้อมสำหรับการถูกส่งตัวไปตะวันออกกลาง 

สัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ใช้เวลาอยู่ในอิสราเอล 7 ชั่วโมง โดยบอกว่าจะสนันสนุนอิสราเอลในกาซาอย่างเต็มที่ รวมทั้งเตือนผู้นำอิสราเอลว่าอย่าให้ความโกรธบังตา และกล่าวย้ำเช่นนั้นอีกครั้งเมื่อแถลงถึงการเดินทางเยือนอิสราเอลจากทำเนียบขาว นอกจากนี้ ไบเดนยังรับปากอิสราเอลว่าจะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ก่อนหน้านั้น แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้เวลาพบปะกับคณะรัฐมนตรีเฉพาะการสำหรับรับมือสงครามครั้งนี้ถึง 7 ชั่วโมง และในระหว่างนั้นสหรัฐฯ ก็กำลังขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ต่างๆ ไปช่วยอิสราเอล

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้สหรัฐฯ ขยับเข้าใกล้ความเป็นไปได้ที่แท้จริงในการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในสงครามตะวันออกกลาง

แต่ครั้งนี้ไม่ใช่การขับไล่กองทัพของ ซัดดัม ฮุสเซน ออกจากคูเวตเมื่อปี 1991 หรือการบุกอิรักเมื่อปี 2003 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ผ่านการวางแผนและเตรียมการมาหลายเดือน จากนั้นสหรัฐฯ และพันธมิตรจึงตัดสินใจเรื่องเวลา สถานที่ และขนาดของการโจมตี    

แต่ตอนนี้อย่างดีที่สุดคือ สหรัฐฯ กำลังตะเกียกตะกายตอบโต้เหตุการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมไปแล้ว

และในภูมิประเทศที่อันตรายนี้ ทันใดนั้นความอ่อนแอของการมีอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ ที่แผ่ขยายไปทั่วตะวันออกกลางก็ปรากฏขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คู่แข่งในภูมิภาค 

สหรัฐฯ มีกองกำลังอยู่ในตะวันกตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของซีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีทั้งกองทัพของ บาชาร์ อัล-อัสซาด และกองกำลังจากรัสเซีย ตุรกี อิหร่าน ฮิซบุลลอห์ และกลุ่มติดอาวุธเคอร์ดิช รวมทั้งสมาชิกกลุ่มไออสที่ยังหลงเหลือยู่ปฏิบัติการอยู่ โดยปกติอิสราเอลมักจะถล่มเป้าหมายในซีเรีย และเมื่อเร็วๆ นี้คือสนามบินอะเลปโปและดามัสกัส โดยมีจุดประสงค์เพื่อสกัดไม่ให้อิหร่านขนอาวุธยุทโธปกรณ์ข้ามาทางเครื่องบิน 

สหรัฐฯ ยังมีกองกำลังอยู่ในอิรักซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธที่มีอิหร่านหนุนหลังและมีอาวุธอย่างดี มีประสบการณ์ในการทำสงครามปฏิบัติการอยู่ 

ไหนจะอิหร่านอีก

แม้ว่าจะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรมาหลายสิบปีแล้ว แต่อิหร่านก็ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธที่ทันสมัย กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ได้รับประสบการณ์การรบอันมีค่าจากซีเรียและอิรัก และได้ฝึกอบรม รวมทั้งจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มกบฏฮูษีในเยเมน รัฐบาลซีเรีย กลุ่มฮิซบุลลอห์ ฮามาส และอิสลามิกญีฮัด 

หลังเหตุการณ์สหรัฐฯ ลอบสังหาร กัสเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการ IRGC เมื่อเดือนมกราคม 2020 อิหร่านก็กระหน่ำยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก  

และในขณะที่การเคลื่อนย้ายทหารหรือนาวิกโยธิน 1 นายจากสหรัฐฯ ไปตะวันออกกลางมีค่าใช้จ่ายหลายพันดอลลาร์สหรัฐ แต่การเคลื่อนทหารของ IRGC 1 นายไปยังกรุงแบกแดด ดามัสกัส หรือเบรุตกลับง่ายดายเพียงการนั่งรถข้ามไปเท่านั้น 

จริงอยู่ว่าสหรัฐฯ อาจมีกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แต่ก็เคยพ่ายแพ้ในสงคามเวียดนามและอัฟกานิสถานมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีอะไรการันตีว่าสหรัฐฯ จะเอาชนะศัตรูที่มีทั้งความมุ่งมั่นและมีทรัพยากรพรั่งพร้อม แล้วในตะวันออกกลางก็มีศัตรูหลายคนเสียด้วย  

ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงเบรุต ดามัสกัส และโดฮา ฮุสเซน อามีร์ อับดุลลอเฮียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านออกปากเตือนหลายครั้งว่า หากอิสราเอลยังเดินหน้าถล่มกาซา ก็ไม่อาจตัดตัวเลือกของการเปิดแนวรบใหม่ออกไปได้ ซึ่งนี่อาจเป็นเพียงคำขู่ หรืออาจจะพูดจริงจังก็ได้

ประท้วงอิสราเอลและสหรัฐฯ  

ในขณะที่สงครามในกาซาดำเนินต่อไป ตะวันออกกลางก็เต็มไปด้วยความโกรธแค้น การประท้วงต่อต้านอิสราเอลปะทุขึ้นทั้งในจอร์แดน เลบานอน ลิเบีย เยเมน อิหร่าน ตุรกี โมร็อกโก อียิปต์ และอีกหลายแห่ง แต่ความโกรธแค้นส่วนใหญ่ก็พุ่งตรงไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนที่เสียงดังและใจกว้างที่สุดของอิสราเอลอย่างสหรัฐฯ โดยตรงด้วย  

กษัตริย์อับดุลห์ของจอร์แดน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ให้ความร่วมมือกับวอชิงตันมากที่สุดในบรรดาประเทศอาหรับ ทรงยกเลิกการประชุมกับประธานาธิบดีไบเดนในกรุงอัมมานที่กำหนดไว้แล้ว หลังเกิดเหตุโรงพยาบาลอัล อาห์ลี อาหรับในฉนวนกาซาถูกถล่ม จึงไม่แปลกที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์และผู้ที่มีกำหนดการจะเข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ อย่างประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตา เอล-ซีซี ของอียิปต์ ประธานาธิบดี มาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ จะลังเลที่จะปรากฏตัวเคียงข้างผู้นำสหรัฐฯ ที่โอบอุ้มอิสราเอลในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในกาซาเพิ่มขึ้น 

แม้สหรัฐฯ จะยังมีพันธมิตรอยู่ในตะวันออกกลาง แต่บนถนนนั้นคนละเรื่องกันเลย 

หลังเหตุระเบิดโรงพยาบาลอัล อาห์ลี อาหรับ ในฉนวนกาซาที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ความโกรธแค้นก็ปะทุขึ้นทันที เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์กล่าวหาว่าอิสราเอลเป็นฝ่ายถล่มโรงพยาบาลแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าอิราเอลปฏิเสธ  

หลังการพบปะกันที่กรุงไคโรของอียิปต์ ประธานาธิบดีซีซีและกษัตริย์ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า “หากสงครามไม่ยุติลงและขยายวงกว้างออกไป มันเสี่ยงจะทำให้ทั้งภูมิภาคตกอยู่ในหายนะ”

CNN ระบุว่า สถานการณ์ระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเพียงพอให้สหรัฐฯ กังวล แต่ยังไม่เพียงพอให้เร่งเดินหน้าทำสงครามเต็มกำลัง และยังไม่เพียงพอที่จะดึงสหรัฐฯ เข้าไปสู่ความขัดแย้ง แต่ก็มีความเป็นไปได้อย่างมาก 

กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ กำลังจะไปที่นั่นเพื่อขัดขวางไม่ให้อิหร่าน ฮิซบุลลอห์ และคนอื่นๆ ไม้ให้ไปไกลเกินไป และหากสถานการณ์บานปลายแล้วสหรัฐฯ ตอบโต้ ผลลัพธ์คงยากจะคาดการณ์ 

ตอนนี้ทุกๆ อย่างกำลังเอื้อให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษขยายวงไปสู่ความหายนะของภูมิภาค และสหรัฐฯ อาจอยู่ตรงกลางของหายนะนั้น

Photo by Miriam Alster / POOL / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์