วิจัยใหม่ชี้มนุษย์โบราณขุดซากศพบรรพบุรุษขึ้นมาใช้ทำเครื่องมือ

22 ก.ย. 2566 - 05:08

  • “สิ่งที่ผมคิดว่าค่อนข้างน่าสนใจคือ จำนวนกระดูกที่ถูกดัดแปลง เช่นเดียวกับการใช้ถ้ำแห่งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการฝังศพเป็นเวลานาน การค้นพบเหล่านี้ทำให้เห็นภาพว่าถ้ำแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมมาหลายชั่วอายุคน”

ancient-humans-dug-up-remains-ancestors-use-as-tools-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อไม่นานมานี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตรวจเจอหลักฐานว่าซากศพที่ฝังอยู่ในถ้ำมาร์โมเลส (Cueva de los Marmoles) ใกล้เมืองกรานาดา ทางตอนใต้ของสเปน โดยพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณนั้นถูกขุด ดัดแปลง และใช้เป็นเครื่องมือของคนรุ่นต่อๆ ไป 

ทีมวิจัยระบุว่า ‘เป็นศพคนอย่างน้อย 12 คนซึ่งถูกฝังไว้ตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสตกาลถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีการดัดแปลงโครงกระดูก รวมถึงมีรอยกระดูกที่หักและรอยถลอกที่อาจเป็นผลมาจากความพยายามในการสกัดไขกระดูกและเนื้อเยื่ออื่นๆ’ 

นอกจากนี้ กระดูกหน้าแข้งชิ้นหนึ่งดูเหมือนจะถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ “กระดูกหน้าแข้งหักในตอนแรก และปลายด้านหนึ่งของชิ้นส่วนนั้นถูกใช้ขูดวัสดุบางส่วน…กะโหลกศีรษะก็ถูกขูดออกรอบๆ เป็นแนวเส้นรอบวง" นักวิจัยสาขามานุษยวิทยากายภาพแห่งมหาวิทยาลัยเบิร์นเขียนผ่านอีเมลเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา 

มิเลลาอธิบายว่า “การค้นพบนี้สอดคล้องกับหลักฐานที่เคยค้นพบในถ้ำอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ การดัดแปลงและการจัดการซากศพมนุษย์เป็นที่รู้จักกันดีในเวลานี้ โดยมีตัวอย่างจากภูมิภาคเดียวกันด้วย ในแง่นั้น ถ้ำมาร์โมเลสสอดคล้องกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพฤติกรรมพิธีศพของวัฒนธรรมเหล่านี้”  

“สิ่งที่ผมคิดว่าค่อนข้างน่าสนใจคือ จำนวนกระดูกที่ถูกดัดแปลง เช่นเดียวกับการใช้ถ้ำแห่งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการฝังศพเป็นเวลานาน การค้นพบเหล่านี้ทำให้เห็นภาพว่าถ้ำแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมมาหลายชั่วอายุคน” มิเลลากล่าวเสริม 

จากการศึกษาพบว่า แนวทางปฏิบัติในการปรับเปลี่ยนซากศพมนุษย์กลายเป็นเรื่องปกติในช่วงประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาลบริเวณคาบสมุทรไอบีเรียตอนใต้ แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใด 

มิเลลาเผยอีกว่า “สิ่งที่เรารู้ก็คือ การรักษาซากศพมนุษย์ที่คล้ายคลึงกันนั้นถูกระบุในบริบทถ้ำอื่นๆ ที่คล้ายกัน จากภูมิภาคเดียวกัน และเห็นได้ชัดว่าถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญทางสังคมสำหรับชุมชนเหล่านี้…เรากำลังเผชิญกับวัฒนธรรมที่ความสัมพันธ์กับผู้ตายและซากศพของพวกเขาเป็นสื่อกลางในการรักษาและถ่ายทอดความทรงจำทางสังคม เช่นเดียวกับความเหนียวแน่นทางสังคม”  

และอาจเป็นไปได้ด้วยว่าผู้ที่ดัดแปลงซากศพอาจรู้จักผู้คนที่พวกเขาอยู่ด้วยเมื่อยังมีชีวิตอยู่ “การกระทำที่เกิดขึ้นกับศพไม่ได้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหลังความตาย…มันมีความเป็นไปได้” มิเลลากล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์