เตือนประชากรโลกมีแนวโน้มป่วย ‘มะเร็ง’ มากขึ้น! มะเร็งปอดสาเหตุการตายอันดับ 1

5 เมษายน 2567 - 05:58

as-the-world-ages-cancer-cases-are-projected-to-rise-hitting-some-countries-SPACEBAR-Hero.jpg
  • “ในปี 2022 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล มีการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 20 ล้านราย ร่วมกับผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 9.7 ล้านราย”

  • “มะเร็งปอดเป็นชนิดมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยบ่อยที่สุดทั่วโลกในปี 2022 โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 2.5 ล้านราย และผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.8 ล้านราย”

คนทั่วโลกจะป่วยเป็น ‘มะเร็ง’ มากขึ้น! 

ในแต่ละปีทั่วโลกพบว่าผู้คนหลายสิบล้านคนต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง และหลายล้านคนเสียชีวิตจากโรคนี้ ปัจจุบัน รายงานจากสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐฯ (American Cancer Society) คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น 77% 

รายงานดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ ‘CA: A Cancer Journal for Clinicians’ ระบุว่า “ในปี 2022 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล มีการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 20 ล้านราย ร่วมกับผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 9.7 ล้านราย” 

การประมาณการเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า “ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้จะป่วยเป็นมะเร็งในช่วงชีวิตของพวกเขา โดยผู้ชายประมาณ 1 ใน 9 และผู้หญิงประมาณ 1 ใน 12 จะเสียชีวิตจากโรคนี้” 

เมื่อพูดถึงจำนวนผู้ป่วยทั่วโลก “เราคิดว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคนภายในปี 2050 สาเหตุหลักมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ” ดร. วิลเลียม ดาฮัต หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐฯ

รายงานฉบับใหม่ระบุว่าการเติบโตของประชากรและภาวะสูงวัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนจำนวนโรคมะเร็งของโลก โดยคาดว่าจำนวนประชากรทั่วโลกประมาณ 8 พันล้านคนในปี 2022 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคนภายในปี 2050 

“แต่หากผู้คนสูบบุหรี่มากขึ้นและมีโรคอ้วนมากขึ้น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ สำหรับโรคมะเร็ง จำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่คาดการณ์ไว้ก็อาจสูงขึ้นไปอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้น้อย…ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิดที่เรามักพบเห็นในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ยาสูบและโรคอ้วน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นกับประเทศที่มีรายได้ต่ำด้วย” ดาฮัตกล่าว พร้อมเสริมว่าแนวโน้มนี้น่าเป็นห่วง  

‘มะเร็งปอด’ พบมากที่สุดในโลก

as-the-world-ages-cancer-cases-are-projected-to-rise-hitting-some-countries-SPACEBAR-Photo01.jpg

ฐานข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ‘Global Cancer Observatory’ แสดงให้เห็นว่า “มะเร็งปอดเป็นชนิดมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยบ่อยที่สุดทั่วโลกในปี 2022 โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 2.5 ล้านราย และผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.8 ล้านราย” 

รายงานระบุว่า “มะเร็งที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมในสตรี มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (non-Hodgkin lymphoma)…” 

“มะเร็งปอดยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง รองลงมาคือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตับ เต้านมในสตรี กระเพาะอาหาร ตับอ่อน หลอดอาหาร ต่อมลูกหมาก ปากมดลูก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งใน 37 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา อเมริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 

“วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ‘HPV’ (human papillomavirus vaccine) สามารถลดความเสี่ยงของบุคคลต่อมะเร็งชนิดนี้ได้ แต่ทั่วโลกมีเด็กหญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงประมาณ 15% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีน และยังมีความไม่เท่าเทียมกันในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย” ข้อมูลของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐฯ ระบุ 

ขณะเดียวกันก็พบว่า มะเร็งต่อมลูกหมากคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

รายงานอีกฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ‘The Lancet’ คาดการณ์ว่า “จำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่จะเพิ่มขึ้นทุกปีจากประมาณ 1.4 ล้านรายในปี 2020 เป็น 2.9 ล้านรายภายในปี 2040” 

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นหนึ่งในมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยมากที่สุด โดยคิดเป็นประมาณ 15% ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในสหรัฐฯ ตามรายงานฉบับใหม่จาก ‘The Lancet Commission’ เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมากระบุว่า “มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ชาย 112 ประเทศ”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์