ประกันสังคมประเทศเพื่อนบ้านเราทำฟันได้กี่บาท

26 ก.พ. 2568 - 08:37

  •   ประเทศในอาเซียนที่ใช้ระบบประกันสังคมมี 7 ประเทศ ได้แก่ ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย พม่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม

asean-social-security-contribution-dental-benefit-SPACEBAR-Hero.jpg

สิงคโปร์  

ระบบประกันสังคม Central Provident  Fund (CPF) ของสิงคโปร์เป็นหนึ่งในโครงการที่พัฒนามากที่สุดในเอเชียและเป็นเสาหลักของระบบประกันสุขภาพของประเทศที่กำกับดูแลโดยกระทรวงพลังงาน (MoM) CPF ของสิงคโปร์ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านทันตกรรมโดยตรง แต่นายจ้างมักจะจ่ายค่าทำทันตกรรมให้ลูกจ้างผ่านประกันสุขภาพ หรือหากนายจ้างไม่ได้ดูแลค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์จากบัญชี Medisave จ่ายค่าผ่าตัดรักษาทางทันตกรรม อาทิ ผ่าฟันคุด รากฟันเทียม ได้ส่วนหนึ่ง แต่ Medisave ไม่ครอบคลุมการรักษาทางทันตกรรมที่ไม่ได้ผ่าตัด 

เงินที่จ่ายเข้าประกันสังคมของสิงคโปร์ (จ่ายทุกคนไม่ว่าจะทำงานเต็มเวลา พาร์ทไทม์ หรือทำงานรายวัน) จะถูกแบ่งเข้า 3 บัญชีคือ  

  1. บัญชีสามัญ (Ordinary account) (2.5% - 3.5%) สำหรับการซื้อพักอาศัย 
  2. บัญชีพิเศษ (Special account) (4%-5%) สำหรับความจำเป็นเพื่อการเกษียณ 
  3. บัญชีรักษาพยาบาล (MediSave account) (4%-5%) สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 

เงินสะสมในบัญชีสามัญและบัญชีพิเศษจะถูกย้ายไปยังบัญชีเพื่อการเกษียณ (Retirement account) เมื่อผู้ประกันตนอายุ 55 ปี และสามารถถอนเงินสะสมออกมาได้ 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และเมื่ออายุ 65 ปี สามารถถอนออกมาได้อีก 20%  

การจ่ายเงินสมทบ 

อัตราเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 37% ของเงินเดือนสำหรับผู้ที่มีเงินเดือนมากกว่า 750 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน โดยเงินสมทบจะจำกัดเพดานอยู่ที่เงินเดือนสูงสุด 7,400 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน และจะเพิ่มเป็น 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนในปี 2026   

  • ฝ่ายลูกจ้างจ่าย 5-20% ของเงินเดือน  
  • ฝ่ายนายจ้างจ่าย 7.5-17%  

ลาว 

ระบบประกันสังคมของลาวไม่ครอบคลุมผลประโยชน์ด้านทันตกรรมสำหรับผู้ประกันตน แต่นายจ้างบางรายอาจดูแลจ่ายค่าประกันสุขภาพส่วนบุคคลที่ครอบคลุมค่ารักษาทางทันตกรรมเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่ลูกจ้าง 

การจ่ายเงินสมทบ 

  • นายจ้างจ่าย 6% ของเงินเดือนทั้งหมด  
  • ลูกจ้างจ่าย 5.5% ของเงินเดือนทั้งหมด  

แต่เงินเดือนสูงสุดที่จะนำมาคำนวณจ่ายเงินสมทบต้องไม่เกิน 4.5 ล้านกีบ 

เมียนมา 

ตามกฎหมายประกันสังคมเมียนมา ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ด้านทันตกรรม แต่อาจมีข้อจำกัดและขึ้นอยู่กับชนิดของการรักษาที่จำเป็น เนื่องจากความคุ้มครองจะเน้นการรักษาพยาบาลทั่วไปเป็นหลัก 

การจ่ายเงินสมทบ 

  • นายจ้างจ่าย 2% สูงสุดไม่เกินเดือนละ 9,000 จั๊ต 
  • ลูกจ้างจ่าย 3% ของค่าจ้างทั้งหมด สูงสุดไม่เกิน 6,000 จั๊ต 

เวียดนาม 

ลูกจ้างในเวียดนามไม่ได้รับผลประโยชน์ด้านทันตกรรมจากการจ่ายเงินประกันสังคม ระบบประกันสังคมที่ใช้อยู่ขณะนี้ครอบคลุมเฉพาะผลประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น ไม่รวมถึงการดูแลด้านทันตกรรม ดังนั้นลูกจ้างต้องจ่ายเงินประกันส่วนบุคคลเองหากต้องการให้ได้รับความคุ้มครองนี้ 

การจ่ายเงินสมทบ 

  • ลูกจ้างจ่าย 8% ของเงินเดือน
  • นายจ้างจ่าย 17.5% ของเงินเดือน
asean-social-security-contribution-dental-benefit-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: โรงพยาบาลในกรุงฮานอยของเวียดนาม Photo by Hoang An / AFP

มาเลเซีย 

องค์การประกันสังคมมาเลเซีย (SOCSO) ไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมโดยเฉพาะแก่ผู้ประกันตน แต่สิทธิประโยชน์นี้อาจไปรวมอยู่ในประกันสุขภาพส่วนบุคคลที่นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ 

การจ่ายเงินสมทบ 

  • ลูกจ้างจ่าย 11.2% โดย 11% จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้าง (EPF) และ 0.2% จ่ายเข้าระบบประกันการจ้างงาน (EIS) 
  • นายจ้างจ่ายสูงสุด 14.45% โดย 1.25% จ่ายเข้าองค์การประกันสังคมมาเลเซียเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประกันอุบัติเหตุจากการจ้างงานและบำนาญทุพพลภาพ 13% (หรือ 12% หากเงินเดือนต่ำกว่า 5,000 ริงกิต) จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้าง และ 0.2% จ่ายเข้าระบบประกันการจ้างงาน 

ฟิลิปปินส์ 

ขณะนี้ระบบประกันสังคม (SSS) ของฟิลิปปินส์ไม่ได้ครอบคลุมผลประโยชน์ด้านทันตกรรม ประกันสุขภาพหลักของลูกจ้างฟิลิปปินส์มาจาก PhiHealth แต่ก็ไม่ได้รวมความคุ้มครองทางทันตกรรมไว้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจมาตรฐาน 

การจ่ายเงินสมทบ 

ณ วันที่ 1 ม.ค. 2025 อัตราการจ่ายเงินสมทบอยู่ที่ 15% แบ่งเป็น

  • นายจ้างจ่าย 10% ของเงินเดือน
  • ลูกจ้างจ่าย 5% ของเงินเดือน 

โดยฐานเงินเดือนขั้นต่ำที่จะนำมาคำนวณอยู่ที่ 5,000 เปโซ สูงสุดไม่เกิน 35,000 เปโซ 

อินโดนีเซีย 

ประกันสังคมของอินโดนีเซียครอบคลุมผลประโยชน์ด้านทันตกรรม โดยลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับ BPJS Kesehatan  แล้วสามารถเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม อาทิ ตรวจฟัน รักษาฟันได้ แต่รายละเอียดเฉพาะ เช่น ข้อจำกัดความคุ้มครองอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแผนและผู้ให้บริการ 

การจ่ายเงินสมทบ 

  • นายจ้างจ่าย 3% ของเงินเดือน 
  • ลูกจ้างจ่าย 5.7% ของเงินเดือน 

โดยฐานเงินเดือนสูงสุดที่จะนำมาคำนวณเบื้ยประกันอื่นๆ จำกัดไว้สูงสุดที่ 5 ล้านรูเปียห์ 

Photo by Shutterstock

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์