ไม่ใช่แค่ร้อนระอุ แต่แล้งจัด-ฝุ่นหนักกำลังตามมา

12 พฤษภาคม 2566 - 12:08

asia-superheat-el-nino-threatens-water-shortage-pollution-SPACEBAR-Thumbnail
  • ตลอดช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศอันร้อนระอุ แต่อุณหภูมิที่สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ยังทำให้ผู้คนหลายล้านคนตั้งแต่อินเดีย มาเลเซีย จนถึงเวียดนามร้อนระอุไปตามๆ กัน

  • ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกรุนแรงสุดขั้วในหลายประเทศจนทำสถิติใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สอดคล้องกับที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ร้อนที่สุดในโลกจากปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’

  • สภาพอากาศที่ร้อนจัดยังเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะแล้ง ไฟป่า ปัญหาฝุ่นควันที่กำลังตามมา ยิ่งร้อนปัญหาแล้งฝุ่นควันก็จะยิ่งรุนแรง

แม้จะผ่านเดือนเมษายนอันเป็นช่วงเวลาร้อนที่สุดแห่งปีของไทย แต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมทั่วประเทศไทยก็ยังคงมีอากาศร้อนจนทุบสถิติความร้อนในหลายพื้นที่ หากเทียบกับอุณหภูมิความร้อนเมื่อเดือนเมษายน สิ่งสะท้อนความร้อนระอุได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ความต้องการรใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ในระบบของ 3 การไฟฟ้าอีกครั้งเมื่อเวลา 21.41 น. ทุบสถิติที่ 34,826.5 เมกะวัตต์  

ตลอดช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศอันร้อนระอุ แต่อุณหภูมิที่สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ยังทำให้ผู้คนหลายล้านคนตั้งแต่อินเดีย มาเลเซีย จนถึงเวียดนามร้อนระอุ จากที่ช่วงนี้ของปีอากาศก็ร้อนจัดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สภาพอากาศที่ร้อนสุดขั้วนี้กำลังเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้คนในชาติอาเซียน เตรียมเผชิญสัญญาณภัยแล้งที่คุกคามการเกษตร การขาดน้ำในฟิลิปปินส์ ฝนหนัก จนถึงไฟป่าที่เคยก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษในอินโดนีเซียเมื่อปี 2015 จนกระทบต่อหลายชาติทั่วอาเซียน 

ร้อนระอุทั่วอาเซียน 

ช่วง 6 พฤษภาคม สปป.ลาวเจอความร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 43.5 องศาเซลเซียส ในเมืองหลวงพระบาง ทุบสถิติ 42.7 องศา ในเดือนเมษายน ขณะเดียวกันลาวยังมีอุณหภูมิช่วงเวลากลางคืนร้อนที่สุดในจังหวัดคำม่วน 31.8 องศา เช่นเดียวกับนครหลวงเวียงจันทร์ทุบสถิติที่ 42.5 องศา  

ไม่เพียงแค่สปป.ลาว ในวันเดียวกันนี้ ที่เวียดนามก็เจอคลื่นความร้อนทำลายสถิติเช่นกัน ที่เมืองเติงเซือง จังหวัดเหงะอาน ทางตอนเหนือของเวียดนาม เจออากาศร้อนจัด 44.2 องศาเซียลเซียส ทุบสถิติจากวันก่อนหน้าที่เพิ่งร้อนทำสถิติไปเช่นกัน สภาพเช่นนี้ทำให้ชาวเวียดนามต้องทำงานและเลิกงานเร็วกว่าปกติ เลี่ยงออกนอกอาคารบ้านเรือนในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองสำคัญแถบตอนกลางอย่างเมืองเว้ และญาจาง ที่อยู่ใกล้กับทะเลยิ่งทำให้มีความรู้สึกร้อนกว่าปกติ 

อีกฟากหนึ่งของเพื่อนบ้านไทยอย่างเมียนมา ก็เจอสภาพอากาศร้อนจัดในรอบ 60 ปี ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ในรัฐมอญทางตอนใต้ของเมียนมามีอุณหภูมิแตะ 43 องศา ส่วนรัฐพะโคทางตอนกลางของประเทศมีอุณหภูมิแตะ 42.7 องศา ร้อนสุดในรอบ 60 ปี เมียนมาเคยเจอสถิติร้อนสุดในเดือนพฤษภาคม 2019 แตะ 44.2 องศาที่เมืองมัณฑะเลย์ นอกจากสภาพอากาศร้อนจัดแล้ว ชาวพม่าจำนวนไม่น้อยต้องหลบร้อนเข้าไปในป่า เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ค่าครองชีพทั้งน้ำสะอาดจนถึงราคาพลังงานแพงสูงผลพวงจากการรัฐประหารและการถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร 

ส่วนมาเลเซีย ซึ่งได้ชื่อว่ามีพื้นที่ป่าจำนวนมากและเป็นแหล่งจัดหาน้ำสำคัญให้กับสิงคโปร์ ต่างก็เผชิญคลื่นความร้อนยาวจนถึงเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ทางการมาเลเซียต้องประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยปีนี้มาเลเซียเจออากาศร้อนทุบสถิติถึง 38.4 องศาต่อเนื่องกัน 3 วัน ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดยังอาจกระทบต่อการผลิตปาล์มน้ำมันซึ่งมาเลเซียผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับต้นของโลก บางพื้นอาจมีฝนตกน้อยลงซึ่งนอกจากภัยแล้งจากปริมาณน้ำที่น้อยลงแล้ว ยังต้องคอยระวังไฟป่าและมลพิษทางอากาศเช่นกัน 

ภัยแล้ง ไฟป่า ฝุ่น จ่อตามมา 

ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกรุนแรงสุดขั้วในหลายประเทศจนทำสถิติใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สอดคล้องกับที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ร้อนที่สุดในโลกจากปรากฏการณ์ 'เอลนีโญ'  

แม็กซิมิเลียโน เฮอร์เรรา ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ กล่าวว่า โลกเราอาจได้สถิติอุณหภูมิแปรปรวนเฉลี่ยใหมภายในปี 2022 หรือ 2023 อันเป็นผลพวงจากปรากฏการณ์สภาพอากาศแบบเอลนีโญ (El Nino) ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น กระแสลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรจะเคลื่อนตัวช้าลง และกระแสน้ำอุ่นถูกพัดให้ไหลไปทางตะวันออกทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น 

ที่ผ่านมา โลกเคยเจอปรากฏการณ์อุณหภูมิร้อนจัดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2016  ซึ่งตรงกับวงรอบที่เกิดเอลนีโญอย่างรุนแรง ทว่าแม้จะไม่ถึงรอบการเกิดเอลนีโญ สภาพอากาศก็สามารถแปรปรวนสุดขั้วได้จากการสะสมของก๊าซเรือนกระจก และเมื่อปีนี้ที่ถึงวงรอบของเอลนีโญประกอบกับการสะสมของก๊าซเรือนกระจก นั่นจึงเป็นคำตอบว่าเหตุใดหลายพื้นที่เผชิญกับความร้อนรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ร้อนทะลุปรอท  

ดร. หวัง จิงหยู ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งสถาบันการศึกษาแห่งชาติในสิงคโปร์ ผู้วิจัยการสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นดินกับบรรยากาศ กล่าวว่า เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในเอเชียแล้วจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้อากาศยิ่งร้อนไปอีก  โลกกำลังอุ่นขึ้นโดยมีความชื้นในชั้นบรรยากาศมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เขากล่าว  

วัฏจักรสภาพอากาศที่แปรปรวนตามธรรมชาติไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวของ “เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ทำลายสถิติล่าสุด” กิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอื่นๆ ได้ผลักดันวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่เพิ่มขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งดักจับความร้อนและทำให้โลกอุ่นขึ้น 

สภาพอากาศที่ร้อนจัดยังเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะแล้ง ไฟป่า ปัญหาฝุ่นควันที่กำลังตามมา ยิ่งร้อนปัญหาแล้งฝุ่นควันก็จะยิ่งรุนแรง  

ย้อนกลับไปในปี 2015 อินโดนีเซียเคยเผชิญไฟป่าอย่างหนักที่เผาทำลายพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายหลายร้อยเอเคอร์ นอกจากไฟป่าแล้ว ฝุ่นควันที่ตามมายังสร้างผลกระทบให้ประเทศเพื่อนบ้านหลายชาติ ตั้งแต่สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน จนถึงบางส่วนในภาคใต้ของไทย  

เหตุการณ์ควันพิษจากไฟป่าในครั้งนั้น พบว่าเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 100,000 รายทั่วอินโดนีเซีย รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์  

กฤษณะ ยันตี เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของสมาคมเกษตรและผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตรในอินโดนีเซียต่างเตือนว่า ด้วยสภาพอากาศร้อนจัดอาจทำให้เกิดเหตุซ้ำรอยแบบปี 2015 พร้อมกับเตรียมมาตรการเฝ้าระวังเหตุไฟป่า ตลอดจนการลักลอบเผาที่อาจเกิดขึ้น 

ขณะเดียวกันความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเริ่มส่งสัญญาณเตือนไปทั่วภูมิภาค เนื่องจากอุณหภูมิสูงทำให้สภาพอากาศแห้งจนทำให้ฤดูมรสุมทิ้งช่วง จึงอาจก่อให้เกิดภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น  

ในฟิลิปปินส์หน่วยงานรัฐบาลได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันวิกฤตน้ำที่อาจเกิดจากปรากฏการณ์เอล นีโญ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในปี 2019 ที่ประมาณ 10,000 ครัวเรือนในเขตเมโทรมะนิลาไม่มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เนื่องจากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของเมืองหลวงลดแห้งสุดเป็นประวัติการณ์ 

ส่วนประเทศไทยได้ออกคำเตือนเมื่อเดือนที่แล้วเรียกร้องให้ประชาชนประหยัดน้ำ หลังเริ่มพบว่าระดับกักเก็บน้ำในเขื่อนสำคัญลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ที่มาเลเซียสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศเตรียมรับมือกับภัยแล้งที่คาดว่าเกิดขึ้นในรัฐเคดาห์ กลันตัน และเปอร์ลิส ทำให้เกิดสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งเป็นเวลานาน ส่งผลให้กองทัพอากาศมาเลเซียต้องรีบหาจังหวะเหมาะสมทำฝนเทียมบริเวณใกล้เกาะปีนังเพื่อหวังให้มีฝนตก 

นอกจากนี้ อากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้ต่างก็กำลังส่งสัญญาณให้กับประเทศในทวีปอื่นซึ่งกำลังที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปีนี้ เตรียมรับมือผลกระทบจากสภาพอากาศแล้งจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีกโลกใต้ที่ออสเตรเลียซึ่งเคยเกิดเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ของประเทศระหว่าง 2019-2020 หรือที่รู้จักกันว่า Black Summer มาแล้ว 

สภาวะที่ร้อนแปรปรวนสุดขั้ว นับเป็นบททดสอบศักยภาพของรัฐบาลประเทศต่างๆ ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากโควิด-19  

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยเมื่อปีที่ผ่านมาคาดว่า ก่อนสิ้นศตวรรษนี้โลกของเราอาจเผชิญกับคลื่นความร้อนมากขึ้นกว่าเดิมราว 3-10 เท่าตัว ขณะที่จำนวนวันที่ร้อนมีอุณหภูมิร้อนรุนแรงก็อาจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวด้วยเช่นกัน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์