ร้อนปรอทแตก! เตือนอีก 5 ปีอุณหภูมิโลกจะร้อนเกินขีดจำกัด

18 พฤษภาคม 2566 - 08:15

asian-heatwave-and-arrival-of-el-nino-signal-severe-drought-SPACEBAR-Thumbnail
  • ทีมนักวิจัยของ WMO ประเมินสภาพอากาศล่าสุดว่า มีโอกาสกว่า 50% ที่อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นเกินลิมิต 1.5 องศาเซลเซียส

  •  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เผชิญความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

  • ไทยจะเผชิญกับภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อยหรือาจจะไม่ตกเลย

ทีมนักวิจัยขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO)  ประเมินสภาพอากาศล่าสุดว่า มีโอกาสกว่า 50% ที่อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นเกินลิมิต 1.5 องศาเซลเซียส จากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในช่วงปี 2023-2027 

เปตเตรี ตาลาส เลขาธิการ WMO ระบุเมื่อวันพุธ (17 พ.ค.) ว่า มีโอกาสถึง 66% ที่จะได้เห็นอุณหภูมิเกินลิมิต 1.5 องศาเซลเซียสในช่วง 5 ปีข้างหน้า และข้อมูลที่มีบ่งชี้ว่าโลกเราไม่สามารถจำกัดอุณหภูมิโลกร้อนได้ และเรากำลังมุ่งหน้าสู่ทิศทางที่ผิด 

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 หรือยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นเกณฑ์และสัญลักษณ์ของการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และนานาชาติบรรลุข้อตกลงปารีส 2015 ที่จะพยายามควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 

WMO เริ่มจัดทำรายงานประเมินโอกาสที่อุณหภูมิโลกเกินลิมิต 1.5 องศาเซลเซียสเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งในรายงานฉบับแรกมีโอกาสไม่ถึง 20% และในปีที่แล้วโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 50% 

โอกาสที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีนี้ หลังจากโลกเผชิญปรากฏการณ์ลานีญาที่ยาวนานถึง 3 ปีและสิ้นสุดเมื่อเดือนมี.ค. ปี 2023 ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 

WMO พบว่า มีโอกาส 98% ที่ปีใดปีหนึ่งในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะทำสถิติมีอุณหภูมิสูงที่สุด แซงหน้าปี 2016 ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกือบ 1.3 องศาเซลเซียสจากช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และหากอุณหภูมิเกินลิมิต 1.5 องศาเซลเซียสทุกปี เป็นเวลา 10-20 ปี อาจมีผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อนยาวนานขึ้น พายุรุนแรงมากขึ้น และไฟป่าเพิ่มมากขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์มองว่า ขณะนี้ยังมีเวลาที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกได้ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกในทันที 

รายงานของ WMO มีขึ้นในช่วงเดียวกับข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศและอุทกอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของเวียดนาม ระบุว่า อุณหภูมิในเมืองเตืองเซือง ทางตอนเหนือของประเทศ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 44.2 องศาเซลเซียส 

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย รายงานว่า เมืองหลวงพระบางของลาวก็มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ในวันที่ 13 พ.ค.โดยอยู่ที่ 43.5 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพมหานคร พบว่ามีอุณหภูมิที่ร้อนเป็นอย่างมากเช่นกันที่ 41 องศาเซลเซียสในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดเผยว่า สิงคโปร์มีอุณหภูมิพุ่งแตะ 37 องศาเซลเซียสในวันที่ 13 พ.ค. โดยอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส เป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้เมื่อ 40 ปีก่อน 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานเมื่อวันจันทร์ (15 พ.ค.) ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เผชิญความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้มลพิษทางอากาศในภูมิภาคเลวร้ายลง 

นอกจากนี้ การรวมตัวกันของระดับความร้อนที่สูงมากและหมอกควันที่มากเป็นทุนเดิม ทำให้ความเสี่ยงเรื่องการเจ็บป่วยจากความร้อนในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด 

อุณหภูมิที่ร้อนระอุในปีนี้เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา และปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นรูปแบบของสภาพภูมิอากาศที่มักจะนำพาความร้อนและความแห้งแล้งมาสู่ภูมิภาค โดยทั่วไปแล้ว เดือนที่ร้อนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเดือนมี.ค. - พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง และอุณหภูมิมักจะพุ่งสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส 

ก่อนหน้านี้ไม่นาน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศบอกว่าปีนี้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อยลงในหน้าฝน หรือาจจะไม่ตกลงมาเลย 

ภัยแล้งที่ว่าเป็นผลมาจากคลื่นความร้อน หรือที่เรียกว่า “ Monster Asian Heatwave” ปรากฏการณ์ร้อนจัด ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาณจากภาวะโลกร้อนที่เริ่มบอกว่ามนุษย์ต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี 

คลื่นความร้อน ส่วนมากจะเจอในยุโรป ไม่ค่อยเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย แต่ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกและเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำงานเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนในรูปแบบต่างๆ ทั้งลดปริมาณขยะ ลดการใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งยังไม่เพียงพอ ต้องร่วมมือกันผลักดันและทำเรื่องพวกนี้ต่อไป 

Monster Asian Heatwave เกิดจากภาวะการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำอุ่นเกิดการถ่ายเท พออุณหภูมิโลกร้อนขึ้นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจะเฉื่อยลง ทำให้กระแสความร้อนร้อนมากขึ้น จุดไหนที่ร้อนขึ้นจะเจอภาวะแล้งจัด จึงส่งผลกระทบทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์