แม้จะผ่านพ้นปีใหม่มาได้แค่ 5 วัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ‘ญี่ปุ่น’ เจอศึกหนักทั้งภัยธรรมชาติ และเหตุการณ์ระทึกขวัญมากมายไม่หยุดหย่อน จนเราอดคิดย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีตอย่าง ‘ลัทธิวันสิ้นโลก’ ที่ครั้งหนึ่งเคยก่อคดีอุกอาจสะเทือนขวัญไปทั้งโลกไม่ได้ ซึ่งในวันนี้เราจะมาย้อนรอยเรื่องราวเหล่านั้นกัน!
จุดเริ่มต้น
ช่วงทศวรรษที่ 1980 ‘โชโกะ อาซาฮาระ’ ผู้ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นทั้งพระคริสต์และเป็นผู้รู้แจ้งคนแรกนับตั้งแต่พระพุทธเจ้า ได้ก่อตั้งลัทธิ ‘โอม ชินริเกียว (Oumu Shinrikyō)’ ซึ่งแปลว่า ‘ความจริงขั้นสูงสุด’ ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อระหว่างฮินดูและพุทธ และได้รับสถานะอย่างเป็นทางการในฐานะองค์กรทางศาสนาในญี่ปุ่นในปี 1989

ตัวเจ้าของลัทธิอย่างอาซาฮาระเองก็มีผู้ติดตามทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เขาเคยเป็นทั้งวิทยากร และเขียนหนังสือด้วย ขณะที่ลัทธินี้มีสาวกนับหมื่นคนทั่วโลกในช่วงเวลานั้น ซึ่งเหล่าสาวกของเขาหลายคนเป็นผู้ที่มีการศึกษาที่ดี เช่น นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ทว่าพวกเขาทั้งหลายนี้มีภูมิหลังจากการโดนกดดันทั้งเรื่องเรียน การใช้ชีวิต รวมไปถึงอาชีพการงานในอนาคตเช่นกัน ทำให้ลัทธินี้เป็นเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพวกเขาว่า ‘ชีวิตในวันข้างหน้าจะมีความหมายมากขึ้น’

โอม ชินริเกียวค่อยๆ กลายเป็นลัทธิที่หวาดระแวงวันโลกาวินาศ หรือวันสิ้นโลก ด้วยความเชื่อที่ว่าโลกจะล่มสลายและเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 และมีเพียงสาวกในลัทธินี้เท่านั้นที่จะรอดชีวิต
ความรุนแรงเริ่มก่อตัวในลัทธิมากขึ้น ทั้งการลักพาตัว การทำร้ายร่างกาย และแม้กระทั่งการใช้สารเคมี และสารชีวภาพในการโจมตีคนอื่นๆ
ความโหดร้ายในรูปแบบ ‘ความเชื่อ’
ลัทธิดังกล่าวมีความพยายามที่จะโจมตีผู้คนโดยการปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์ในสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ แต่ก็ล้มเหลวอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งช่วงเดือนมีนาคม ปี 1995 ความโหดร้ายที่ยึดโยงกับความเชื่อได้สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั้งโลก ในช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงเร่งด่วนในเช้าของวันทำงาน

ผู้สัญจรหลายหมื่นคนก้าวขาเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะที่พลุกพล่านเป็นปกติ ทว่าบนรถไฟฟ้าขบวนนี้มีถุง 5 ใบที่เต็มไปด้วยสารทำลายประสาทอย่าง ‘ซาริน’ ซึ่งพัฒนาโดยพวกนาซีที่เหล่าสาวกของลัทธิมาวางทิ้งไว้ เมื่อถุงดังกล่าวเริ่มรั่ว สารพิษในถุงก็เริ่มรั่วไหลออกมาและทำร้ายผู้คนที่โดยสารบนรถไฟฟ้า
พิษเหล่านี้ทำผู้คนล้มลงกับพื้นในเวลาไม่กี่วินาที ทำพวกเขาสำลัก อาเจียน บางรายตาบอด บางรายเป็นอัมพาต มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 5,800 ราย จากการโจมตีพร้อมกัน 5 ครั้ง บนรถไฟฟ้า 3 สาย ซึ่งถือเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่ทำชาวญี่ปุ่นหวาดกลัวที่สุด ในประเทศที่เรียกได้ว่ามีเหตุอาชญากรรมน้อยที่สุดในโลก

สาวกหลายสิบคนเผชิญกับการพิจารณาคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงมี 13 รายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตซึ่งในจำนวนนี้รวมอาซาฮาระด้วย คนสุดท้ายที่ต้องเข้ารับการพิจารณาคดีนี้คือ คัตสึยะ ทาคาฮาชิ ซึ่งถูกจับกุมในเดือนมิถุนายน 2012 หลังจากหลบหนีมานานกว่า 17 ปี ซึ่งเขาถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต

ปัจจุบันลัทธินี้ยังมีอยู่ไหม?
เอาจริงๆ ก็นับว่า ‘มี’ แต่ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ต้องใช้ชีวิตแบบ ‘ใต้ดิน’ และเปลี่ยนชื่อลัทธิเป็น อาเลฟ (Aleph) นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ชื่อ ฮิคาริ โนะ วะ (วงกลมแห่งสีรุ้ง) ซึ่งนำโดย ฟุมิโระ โจยุ อดีตสาวกลัทธิโอม ชินริเกียว ที่ได้รับช่วงต่อมาจากอาซาฮาระในปี 2007 อีกที แม้โจยุจะอ้างว่ากลุ่มของเขาไม่ได้บูชากราบไหว้อาซาฮาระก็ตาม

โอม ชินริเกียวถูกกำหนดให้เป็นองค์กรก่อการร้ายในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ แต่อาเลฟและฮิคาริ โนะ วะ ต่างก็ถูกกฎหมายในญี่ปุ่น แม้ว่าจะถูกกำหนดให้เป็น ‘ศาสนาที่เป็นอันตราย’ ซึ่งอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังที่เข้มงวดมากขึ้น มีการประมาณการว่าลัทธิพวกนี้มีผู้ติดตามราว 1,500 คน และจำนวนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ


ลัทธินี้เคลื่อนไหวนอกญี่ปุ่นหรือเปล่า?
กลุ่มนี้ดำเนินการภายใต้อดีตรัฐโซเวียต หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในเดือนมีนาคม ปี 2016 มอนเตเนโกรไล่ชาวต่างชาติ 58 คนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับลัทธิโอม ชินริเกียว หลังจากพวกเขารวมตัวกันที่โรงแรมที่พวกเขาเช่าไว้ในยูโกสลาเวีย ด้านกระทรวงมหาดไทยระบุว่า 4 คนมาจากญี่ปุ่น แต่ 43 คนมาจากรัสเซีย 7 คนจากเบลารุส 3 คนจากยูเครน และ 1 คนจากอุซเบกิสถาน

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในญี่ปุ่นบางส่วนออกมาปกป้องกลุ่มลัทธิโอม ชินริเกียว โดยกล่าวว่า พวกเขาไม่ทราบแผนโจมตีรถไฟใต้ดินในโตเกียว
ถึงอย่างนั้นแต่สาวกโอม ชินริเกียวก็มีโอกาส ‘น้อยมาก’ ที่จะได้รับการยอมจากสังคมแบบจริงๆ แม้ว่าพวกเขาจะแยกตัวออกมาจากลัทธิดังกล่าวด้วยการตั้งชื่อลัทธิใหม่ก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่มาในรูปแบบของ ‘ความเชื่อ’ ที่สามารถชักจูงเราให้ทำเรื่องเลวร้ายและส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ สร้างแผล และความหวาดกลัวให้สังคมจวบจนปัจจุบัน