‘ออสเตรเลีย’ ดันร่างกฎหมายให้ลูกจ้าง ‘ไม่รับสาย-ไม่ตอบแชท’ หลังเลิกงาน

9 ก.พ. 2567 - 04:37

  • สมาชิกวุฒิสภาออสเตรเลียได้ผ่านร่างกฎหมายที่ให้สิทธิแรงงานในการ ‘เพิกเฉย’ ต่อสายเรียกเข้าและข้อความนอกเวลางาน

  • ในอีกทางหนึ่งถือเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมการทำงาน ‘หนักเกินไป’ ซึ่งตอนนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนที่สภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติในขั้นสุดท้ายแล้ว

australia-introduces-workers-right-to-disconnect-SPACEBAR-Hero.jpg

นอกเวลางานก็ยังจะโทรจิกอยู่นั่นแหละ! เป็นปัญหาที่เจอกันเกือบจะทุกชาติ แต่จะไม่เกิดกับชาว ‘ออสเตรเลีย’ อีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขาจะสามารถ ‘ตัดสาย’ เจ้านายและไปพักผ่อนในวันหยุด วันลา หรือแม้กระทั่งวันธรรมดาที่หมดเวลาทำงานแล้วได้อย่างสบายใจเลยน่ะสิ

เพราะล่าสุดสมาชิกวุฒิสภาออสเตรเลียได้ผ่านร่างกฎหมายที่ให้สิทธิแรงงานในการ ‘เพิกเฉย’ ต่อสายเรียกเข้าและข้อความนอกเวลางานโดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนใครเล่นงาน ในอีกทางหนึ่งถือเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมการทำงาน ‘หนักเกินไป’ ซึ่งตอนนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนที่สภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติในขั้นสุดท้ายแล้ว 

ร่างกฎหมายใหม่ที่คาดว่าจะผ่านในสภาฯ ได้อย่างสบายๆ ให้สิทธิแรงงานออสเตรเลียปฏิเสธการสื่อสารทางวิชาชีพที่ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ นอกวันทำงาน และบริษัทไหนลงโทษพนักงานที่ไม่ตอบสนองอาจถูกปรับได้

“บุคคลที่ไม่ได้รับค่าจ้างตลอด 24 ชั่วโมงไม่ควรถูกลงโทษ หากพวกเขาไม่ได้ทำงานออนไลน์และสแตนบายพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง”

แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าว

บทบัญญัตินี้เป็นการแก้ไขในนาทีสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เสนอซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างสิทธิของคนงาน กฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงการคุ้มครองคนงานชั่วคราวที่ต้องการจะกลายมาเป็นมาตรฐานที่ถาวรมากขึ้น และมาตรฐานใหม่สำหรับคนงานนอกระบบ เช่น พนักงานส่งอาหาร 

ออสเตรเลียเดินตามรอยของประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งในปี 2017 ได้นำเสนอสิทธิของคนงานที่จะปฏิเสธสายเรียกเข้าจากนายจ้างนอกเวลางาน โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกนำไปใช้ในเยอรมนี อิตาลี และเบลเยียมในเวลาต่อมา รัฐสภายุโรปยังได้เรียกร้องให้มีกฎหมายทั่วทั้งสหภาพยุโรปที่จะบรรเทาแรงกดดันต่อคนงานในการสื่อสารนอกเวลา

australia-introduces-workers-right-to-disconnect-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Lillian SUWANRUMPHA / AFP

“โลกเชื่อมโยงถึงกัน แต่นั่นกลับสร้างปัญหาขึ้นมา หากคุณอยู่ในระบบงานที่ได้รับค่าจ้างรายชั่วโมง บางทีก็ประสบปัญหาหากไม่ตอบอีเมล แต่คนงานเหล่านี้ก็ไม่ควรจะต้องมาตอบข้อความ หรืออีเมลในช่วงเวลาที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน”

โทนี่ เบิร์ค รัฐมนตรีกระทรวงการจ้างงานและความสัมพันธ์ในที่ทำงานกล่าวกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะของออสเตรเลียเมื่อวันอังคาร (6 ก.พ.) ที่ผ่านมา

สหภาพแรงงานและกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โต้เถียงกันมานานแล้วว่าพนักงานมีสิทธิ์ที่จะตัดการสื่อสารหลังเวลางาน แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับความสำคัญมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างกว้างขวาง ทำให้ขอบเขตระหว่างชีวิตที่บ้านและชีวิตการทำงานผสมปนเปกันมากขึ้น 

บรรดาผู้วิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งได้แก่ กลุ่มธุรกิจและสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้าน มองว่ากฎดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรัฐบาลเข้าถึงมากเกินไป โดยแสดงความกังวลว่าอาจทำให้ธุรกิจต่างๆ ทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ยากขึ้น

australia-introduces-workers-right-to-disconnect-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: GREG BAKER / AFP

“กฎหมายฉบับนี้จะสร้างต้นทุนที่สำคัญให้กับธุรกิจ และส่งผลให้มีงานน้อยลงและโอกาสน้อยลง” แบรน แบล็ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสภาธุรกิจแห่งออสเตรเลียกล่าว 

ขณะที่ มิคาเลีย แคช สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคฝ่ายขวากล่าวด้วยว่า ไม่มีมาตรการใดที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต งาน การเติบโต และการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งคนงานยังได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายต่อชั่วโมงทำงานที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว

ขณะที่คนอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์กลไกของกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้คนงานต้องปกป้องสิทธิของตน แทนที่จะบังคับให้นายจ้างไม่ติดต่อกับพนักงานในเวลาที่ไม่สมควร 

ชาวออสเตรเลียได้รับสิทธิประโยชน์มาตรฐานมากมายอยู่แล้ว เช่น การลาหยุดประจำปีโดยได้รับค่าจ้าง 20 วัน การลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง การลางาน ‘ระยะยาว’ เป็นเวลา 6 สัปดาห์สำหรับผู้ที่ทำงานให้กับนายจ้างเป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี และ 18 สัปดาห์ของการลาเพื่อคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง และค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศประมาณ 15 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมง หรือราว 350 บาท (ต่อชั่วโมง) 

ประเทศนี้อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกในด้าน ‘ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน’ หรือที่เรามักเรียกกันว่า Work-life balance ตามหลังมาด้วยนิวซีแลนด์ สเปน และฝรั่งเศส ตามข้อมูลจากแพลตฟอร์มการจ้างงานระดับโลก ‘Remote’ ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลกลางอยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 53 ของโลก (260 บาทต่อชั่วโมง) 

อย่างที่เขาว่ากันว่า ‘ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเป็นเครื่องหมายทางวัฒนธรรมของชาวออสเตรเลีย’ เห็นทีก็คงจะจริง..

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์