ผู้เชี่ยวชาญมีคำตอบ นั่งตรงไหนปลอดภัยที่สุดบนเครื่องบิน?

2 มีนาคม 2566 - 03:48

aviation-expert-what-is-the-safest-seat-on-a-plane-SPACEBAR-Thumbnail
  • การพุ่งชนภูเขาจะลดโอกาสความเป็นไปได้ในการรอดชีวิตลงอย่างมาก

  • การลงจอดในมหาสมุทรโดยเอาหัวเครื่องลงก่อนก็ลดโอกาสการรอดชีวิตเช่นกัน

  • นักบินได้รับการฝึกอบรมเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาจะพยายามเลี่ยงการพุ่งชนภูเขา และมองหาพื้นที่ราบเรียบอย่างสนามโล่งๆ แทน

เชื่อว่าตอนจองตั๋วเครื่องบินหลายคนคงไม่เคยขบคิดว่าที่นั่งตรงไหนจะปกป้องเราได้มากที่สุดหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนใหญ่จะเลือกจองที่นั่งเพื่อความสบาย อย่างมีพื้นที่วางขากว้าง หรือเพื่อความสะดวก เช่น เดินเข้าห้องน้ำง่าย หรือบางคนอาจเลือกที่นั่งที่ใกล้กับด้านหน้ามากที่สุดเพื่อให้ได้ลงเครื่องเร็วๆ  

เราไม่ค่อยเลือกจองตั๋วเครื่องบินด้วยความหวังว่าจะได้ที่นั่งตรงกลางแถวสุดท้าย แต่รู้หรือไม่ว่าโดยสถิติแล้วที่นั่งตำแหน่งนี้เป็นหนึ่งในที่นั่งแถวที่ปลอดภัยที่สุด 

การเดินทางทางอากาศปลอดภัย 

ก่อนจะพูดถึงเรื่องที่นั่ง ต้องย้ำกันก่อนว่า การเดินทางทางอากาศเป็นวิธีการขนส่งที่ปลอดภัยที่สุด ในปี 2019 ทั่วโลกมีเที่ยวบินเดินทางมากถึง 70 ล้านเที่ยว โดยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพียง 287 ครั้ง 

การวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนของสภาความปลอดภัยแห่งชาติของสหรัฐฯ พบว่า โอกาสที่จะเสียชีวิตในเครื่องบินอยู่ที่ 1 ต่อ  205,552 ขณะที่โอกาสเสียชีวิตในรถยนต์อยู่ที่ 1 ต่อ 102 ทว่าแม้จะเป็นอย่างนั้น เรากลับไม่ค่อยให้ความสนใจกับอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนน แต่อุบัติเหตุเครื่องบิน ATR72 ตกที่เนปาลกลับกลายเป็นพาดหัวข่าวดังไปทั่วโลกในทุกสื่อ 

ความสนใจเกี่ยวกับข่าวเครื่องบินตกของเราอาจเป็นเพราะความต้องการทำความเข้าใจว่าทำไมโศกนาฎกรรมเหล่านี้จึงเกิดขึ้น หรือว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นเท่าไร และบางทีมันอาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ความกังวลของเราทำให้มั่นใจว่าเหตุการณ์ที่น่าสลดใจเหล่านี้ได้รับการสอบสวนอย่างละเอียด ซึ่งช่วยให้การเดินทางทางอากาศยังเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย 

ตรงกลางด้านหลัง 

ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่าโดยธรรมชาติของอุบัติเหตุมันจะไม่มีมาตรฐานใดๆ ในปี 1989 สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ เที่ยวบิน 232 ตกที่เมืองซูของรัฐไอโอวา โดยผู้โดยสาร 184 คน จากทั้งหมด 269 คนรอดชีวิต ส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตนั่งอยู่หลังจากชั้นเฟิร์สคลาสไปทางด้านหน้าของเครื่องบิน 

อย่างไรก็ดี การตรวจสอบข้อเท็จจริงของนิตยสาร TIME ที่ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุของเครื่องบินในช่วง 35 ปี พบว่า ที่นั่งตรงกลางด้านหลังของเครื่องบินมีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุดคือ 28% ขณะที่ที่นั่งริมทางเดินตรงกลางอยู่ที่ 44%  

สิ่งนี้เป็นตรรกะที่สมเหตุสมผลเช่นกัน การนั่งติดกับทางออกจะช่วยให้เราถึงทางออกเร็วที่สุดในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หากด้านนั้นไม่เกิดไฟไหม้เสียก่อน แต่ปีกเครื่องบินเป็นที่บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นแถวทางออกกลางจึงไม่ใช่แถวที่ปลอดภัยที่สุด  

ในขณะเดียวกัน การนั่งใกล้กับด้านหน้าของตัวเครื่องหมายความว่าคุณจะได้รับแรงกระแทกก่อนคนที่นั่งอยู่ด้านหลังซึ่งมีแถวทางออกสุดท้ายอยู่ และเหตุที่ที่นั่งตรงกลางปลอดภัยกว่าที่นั่งริมหน้าต่างหรือริมทางเดินเป็นเพราะมีกันชนจากคนที่นั่งอยู่ทั้งสองข้าง 

บางเหตุฉุกเฉินก็รุนแรงกว่าครั้งอื่นๆ 

ประเภทของเหตุฉุกเฉินก็เป็นตัวกำหนดการรอดชีวิต การพุ่งชนภูเขาจะลดโอกาสความเป็นไปได้ในการรอดชีวิตลงอย่างมาก อย่างในเคสของสายการบินแอร์นิวซีแลนด์ เที่ยวบิน TE901 เมื่อปี 1979 ที่พุ่งชนเนินเขาของภูเขาไฟเอเรบัสในแอนตาร์กติกา ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิต 257 ราย

การลงจอดในมหาสมุทรโดยเอาหัวเครื่องลงก่อนก็ลดโอกาสการรอดชีวิตเช่นกัน เช่นในเคสของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 447 เมื่อปี 2009 ซึ่งผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิต 228 คน 

นักบินได้รับการฝึกอบรมเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาจะพยายามเลี่ยงการพุ่งชนภูเขา และมองหาพื้นที่ราบเรียบอย่างสนามโล่งๆ เพื่อลงจอดให้เป็นปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ เทคนิคการลงจอดในน้ำจำเป็นต้องประเมินสภาพพื้นผิวและพยายามลงจอดระหว่างคลื่นในมุมลงจอดปกติ 

เครื่องบินถูกออกแบบมาให้แข็งแรงทนทานมากที่สุดสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน อันที่จริง เหตุผลหลักที่ลูกเรือคอยเตือนให้เราคาดเข็มขัดนิรภัยไม่ใช่เพราะความเสี่ยงที่เครื่องบินจะตก แต่เป็นเพราะกระแสอากาศปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส (clear air turbulence) ที่อาจประสบได้ทุกเมื่อเมื่อบินอยู่ในระดับสูงๆ ปรากฎการณ์ทางอากาศนี้สามารถสร้างความเสียหายให้ผู้โดยสารและเครื่องบินดได้มากที่สุด 

ผู้ผลิตเครื่องบินออกแบบเครื่องบินใหม่ๆ ด้วยวัสดุผสมที่ทนต่อแรงกดดันระหว่างการบินได้มากขึ้น อาทิ ปีกเครื่องบินจะไม่แข็งแต่จะยืดหยุ่นเพื่อดูดซับน้ำหนักเพื่อป้องกันไม่ให้โครงสร้างพัง 

ประเภทของเครื่องบินสร้างความแตกต่างไหม

มีตัวแปรบางอย่าง เช่น ผลกระทบจากความเร็วของเครื่องบินที่บินผ่านในอากาศ (airspeed) ที่อาจแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างเครื่องบินประเภทต่างๆ อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของการบินจะเหมือนกันไม่มากก็น้อยในเครื่องบินทุกลำ 

โดยทั่วไปเครื่องบินที่ลำใหญ่กว่าจะมีวัสดุโครงสร้างมากกว่า ดังนั้นจึงมีความแข็งแรงมากขึ้นในการทนต่อแรงดันที่ระดับความสูง ซึ่งหมายความว่าเครื่องบินลำใหญ่เหล่านี้อาจให้การปกป้องพิ่มขึ้นในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเหตุฉุกเฉินเป็นหลัก 

ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าการจองตั๋วเครื่องบินครั้งต่อไปจะต้องเลือกเครื่องลำใหญ่ๆ เพราะอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรกว่าการเดินทางทางอากาศปลอดภัยที่สุด 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์