มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ดำเนินมาถึงโค้งสุดท้ายแล้วกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน มิตรภาพดีๆ ระหว่างหมู่มวลนักกีฬา มีแพ้มีชนะได้เห็นสปิริตนักกีฬา ได้ใจแฟนกีฬาและคนทั้งประเทศ แถมยังเป็นประสบการณ์ล้ำค่าของนักกีฬา รวมถึงแฟนๆ ด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน ทางการจีนเองก็กำลังดำเนินการปราบปราม ‘แฟนๆ โอลิมปิกที่ทำตัวก้าวร้าว’ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อผลงานของนักกีฬาจีนในโอลิมปิกที่ปารีส ถือเป็นครั้งล่าสุดในการต่อต้านกลุ่มบูชาคนดัง (celebrity worship) ที่ดำเนินมายาวนานหลายปี
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อของรัฐได้รายงานถึงพฤติกรรมที่ ‘ไม่เหมาะสม’ ของแฟนกีฬาชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นการโห่ไล่ระหว่างการแข่งขัน หรือกล่าวหาว่าผู้ตัดสินไม่ยุติธรรม
พฤติกรรมบูชาคนดังก็กลับมาเป็นชนวนร้อนแรงอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม หลังจาก เฉินเมิ่ง นักกีฬาปิงปอง เอาชนะ ซุนหยิ่งชา เพื่อนร่วมทีม และคว้าเหรียญทองในการแข่งขันปิงปองหญิงเดี่ยวมาได้ ตลอดทั้งเกม ซุน ได้รับเสียงเชียร์ดังลั่น แต่ เฉิน กลับโดนโห่ทุกครั้งที่เธอทำคะแนนได้ ขณะเดียวกัน ชาวเน็ตจีนที่เชียร์ซุนก็ไปคอมเมนต์ประณามชัยชนะของเฉินว่า ‘เธอชนะเพียงเพราะซุนอ่อนล้าจากการแข่งขัน 3 ครั้งก่อนหน้านี้’

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนลบโพสต์นับหมื่นรายการ และแบนบัญชีผู้ใช้กว่า 800 บัญชี เนื่องจากแสดงความคิดเห็นเชิงลบและปลุกปั่นความขัดแย้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว
แฟนกีฬาที่เชียร์ซุนคนหนึ่งปีคอมเมนต์ว่า เธอ “แอบหวังว่าเฉินจะถูกตรวจเจอสารต้องห้าม แล้วเหรียญทองก็จะได้ตกเป็นของซุน” ซึ่งคอมเมนต์ดังกล่าวได้กลายเป็นชนวนจุดประกายความโกรธเคืองในโลกออนไลน์
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหนึ่งที่หญิงสาววัย 29 ปีถูกจับกุมข้อหาโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทเกี่ยวกับการแข่งขันครั้งนี้ด้วย แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดถึงสิ่งที่เธอโพสต์ โดยตำรวจกล่าวเมื่อวันอังคาร (6 ส.ค.) ว่า “เธอสร้างข้อมูลเท็จและใส่ร้ายผู้อื่นอย่างโจ่งแจ้ง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม”
นี่ถือเป็นครั้งล่าสุดในการปราบปรามสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมบูชาคนดัง’ ในจีน

ก่อนหน้านี้ ประเทศจีนเคยถูกแบนการจัดอันดับของคนดัง การปรับโครงสร้างของแฟนคลับ และการลบคอนเทนต์ท็อกซิกจากแฟนเพจเป็นประจำ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ของรัฐ ‘Global Times’ ได้ตีพิมพ์บทความหลายฉบับที่ประณาม ‘วัฒนธรรมบูชาคนดัง’ ในวงการกีฬา “ชาวจีนจำนวนมากรู้สึกกังวลเกี่ยวกับ ‘วัฒนธรรมบูชาคนดัง’ ที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคุกคามกัดกร่อนวงการกีฬา” รายงานฉบับหนึ่งระบุ
นอกเหนือจากความคิดเห็นที่ยั่วยุที่มุ่งเป้าไปที่บุคคลในวงการกีฬาแล้ว เจ้าหน้าที่ยังวิพากษ์วิจารณ์แฟนๆ ที่เชียร์เสียงดัง หรือใช้แฟลชถ่ายรูประหว่างการแข่งขัน รวมถึงแฟนๆ ที่แสวงผลกำไรจากการขายของที่ระลึกที่มีลายเซ็นของนักกีฬาอีกด้วย
“วัฒนธรรมบูชาคนดังไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการฝึกซ้อม และการแข่งขันของนักกีฬาจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงของวงการกีฬาจีนอีกด้วย”
สำนักข่าวซินหัวรายงานผ่านวิดีโอเมื่อวันพุธ (7 ส.ค.)
สำนักข่าว Shanghai Daily ได้เผยแพร่ความเห็นเรียกร้องให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดต่อพฤติกรรมที่เป็นอันตราย และเรียกร้องให้องค์กรกีฬาแสดงจุดยืนที่แน่วแน่ต่อ...ความคลั่งไคล้ของแฟนๆ กีฬา
กลายเป็นปัญหาในวงการกีฬาจีนที่ยังคาราคาซัง!

ทางการจีนเคยเตือนเรื่อง ‘วัฒนธรรมบูชาคนดัง’ ตั้งแต่ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ปารีสแล้ว เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะกรรมการโอลิมปิกจีน และฝ่ายบริหารกีฬาแห่งประเทศจีนได้ตักเตือนแฟน ๆ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ที่พวกเขาถ่ายวิดีโอ และตามนักกีฬาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ดูเหมือนว่าแฟนๆ เหล่านี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความรักที่มีต่อไอดอล และกระทำการอันไร้เหตุผลโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ซึ่งเป็นอันตรายต่อเหตุการณ์ปกติ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และขนบธรรมเนียมที่ดี การมีน้ำใจนักกีฬา รวมถึงศีลธรรมทางสังคม”
คณะกรรมการโอลิมปิกจีนกล่าวในแถลงการณ์
ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 2021 คณะกรรมการได้เตือนนักกีฬาโอลิมปิกชาวจีนไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มแฟนคลับ โดยเสริมว่า คณะกรรมการต้องการที่จะ ‘ยุติการแพร่กระจายของวัฒนธรรมบูชาคนดังในวงการกีฬาอย่างเด็ดขาด’
นักกีฬาเหล่านี้ต่างก็กล่าวว่าพวกเขาต้องการได้รับการปฏิบัติด้วย ‘ความเคารพ’ ด้วยเช่นเดียวกัน เหมือนอย่างที่ เติ้งยาผิง นักกีฬารุ่นเก๋าก็เคยออกมาเรียกร้องให้แฟนๆ “แสดงความชอบโดยไม่โจมตีผู้อื่น เราต้องเคารพซึ่งกันและกัน และให้พื้นที่้ส่วนตัวกับทุกคน”