เปิดตำนานเจ้าพ่อแชร์ลูกโซ่ ‘เบอร์นี มาดอฟฟ์’ ฟันเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท

16 ต.ค. 2567 - 10:29

  • SPACEBAR พาผ่าวงการธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ‘พอนซี’ ที่ดาราฮอลลีวูดตกเป็นเหยื่อเยอะของ ‘เบอร์นี มาดอฟฟ์’ ผู้ได้รับฉายา ‘อาชญากรการเงินรายใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่’

  • การหลอกลวงการลงทุนที่มาในรูปแบบการซื้อขายหลักทรัพย์ และการทำบุญบริจาคให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แถมไม่มีใครรู้เบื้องลึกเบื้องหลังมาตั้งเกือบ 20 ปี

bernie-madoff-who-he-was-how-his-ponzi-scheme-worked-SPACEBAR-Hero.jpg

กลายเป็นมหากาพย์ไปแล้วสำหรับประเด็นร้อนคดี ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ (The Icon Group) ธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพออนไลน์ที่มีผู้เสียหายมากกว่า 1,000 คน มูลค่าความเสียหายแล้วกว่า 400 ล้านบาทแล้ว ในระหว่างนี้กำลังอยู่ในกระบวนการสืบสวนต่อไป 

วงการหลอกให้เชื่อให้ลงทุนแบบเป็นกระบวนการนี้มีมานานแล้วและไม่ได้มีแค่ที่ไทยเท่านั้น แต่ในวงการฮอลลีวูดของสหรัฐฯ ก็มีไม่น้อย SPACEBAR พาทำความรู้จักกระบวนการแชร์ลูกโซ่ที่มีนายใหญ่อย่างอดีตอาชญากรการเงิน ‘เบอร์นี มาดอฟฟ์’ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ชาวอเมริกันผู้บงการการแชร์ลูกโซ่รายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ หลอกลวงนักลงทุนหลายพันคนจนสูญเสียเงินประมาณ 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.16 ล้านล้านบาท) ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 17 ปี 

‘เบอร์นี มาดอฟฟ์’ หนึ่งในอาชญากรการเงินรายใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่

‘เบอร์นี มาดอฟฟ์’ อาชญากรรายนี้เริ่มต้นอาชีพเป็นที่ปรึกษาการลงทุนชื่อดังในช่วงทศวรรษ 1960 และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากการเป็นผู้ดำเนินโครงการแชร์ลูกโซ่ที่เรียกว่า ‘พอนซี’ (Ponzi scheme) ที่ว่ากันว่าเป็นโครงการฉ้อฉลใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ 

มาดอฟฟ์ดึงดูดนักลงทุนในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ถูกกฎหมายด้วยการสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงแบบที่ไม่คาดคิด เมื่อนักลงทุนมอบเงินให้ มาดอฟฟ์ก็แค่ฝากเงินเข้าในบัญชีธนาคารส่วนตัวของเขาที่ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส (Chase Bank) จากนั้นเขาก็จ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนก่อนหน้านี้โดยใช้เงินที่ได้รับจากนักลงทุนในภายหลัง ส่วนใบแจ้งยอดการซื้อขายของลูกค้าที่แสดงผลกำไรที่อ้างว่าได้รับนั้นเป็นเรื่องโกหก 

สำหรับประเด็นที่ยังเป็นปริศนาอยู่ก็คือ ธุรกิจหลอกลวงนี้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อใด มาดอฟฟ์ทำอย่างไรถึงไม่มีใครตรวจเจอความผิดปกติได้ตั้งนานหลายปี ทั้งนี้ อดีตพนักงานนที่เคยทำงานกับมาดอฟฟ์บางคนอ้างว่าการหลอกลวงนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 แต่ตัวมาดอฟฟ์เองยืนยันว่าการหลอกลวงนี้เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 

อย่างไรก็ดี มันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่มาดอฟฟ์สามารถรักษาแผนการนี้ไว้ไม่ให้ใครรู้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 1992 บุคคลต่างๆ ได้เข้าเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission) สอบสวนแนวทางการดำเนินธุรกิจของมาดอฟฟ์หลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตรวจจับการฉ้อโกงได้ แถมมาดอฟฟ์ยังสามารถดำเนินโครงการฉ้อฉลพอนซีได้โดยไม่ถูกตรวจสอบตั้งเกือบ 20 ปี 

อาชญากรรายนี้ใช้กลยุทธ์อะไรดึงดูดการลงทุน ทำไมผู้คนถึงหลงเชื่อ?

bernie-madoff-who-he-was-how-his-ponzi-scheme-worked-SPACEBAR-Photo01.jpg

อย่างที่ทราบกันดีว่ามาดอฟฟ์เป็นที่รู้จักกันในหมู่ที่ปรึกษาทางการเงินอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่านักลงทุนหลายๆ คนจะหลวมตัวหลงเชื่อเขาง่ายๆ เพียงเพราะคำเชยชวนที่ว่า ‘มันจะได้ผลตอบแทนที่สูงมากๆ กว่าเดิม’ เมื่อลูกค้าต้องการถอนการลงทุน มาดอฟฟ์จะใช้เงินทุนใหม่เพื่อชำระคืน ซึ่งในช่วงแรกๆ เขายังหมุนเงินได้ เนื่องจากมีคนเข้ามาลงทุนอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ มาดอฟฟ์ยังสร้างภาพลักษณ์ให้โครงการพอนซีด้วยการปฏิเสธลูกค้าในช่วงแรกด้วย 

แน่นอนว่าการสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเคารพและใจกว้างอย่างการจัดกิจกรรมการกุศลก็ช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้คนที่มาร่วมลงทุนกับเขาด้วยเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรไม่แสวงหากำไรหลายแห่งก็ตกเป็นเหยื่อของเขาด้วย ทำให้เขาได้เงินจากองค์กรเหล่านี้ประมาณ 10%  

สำหรับหนึ่งในปัจจัยความน่าเชื่อถือของมาดอฟฟ์ในสายตาของนักลงทุนก็คือ ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง (10-20% ต่อปี) และสม่ำเสมอแต่ไม่เกินจริง ดังที่ Wall Street Journal เคยรายงานในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 1992 ว่า

มาดอฟฟ์ยืนกรานว่าผลตอบแทนนั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษเลย เพราะดัชนีหุ้น S&P 500 สร้างผลตอบแทนรายปีเฉลี่ย 16.3% ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 1982 ถึงเดือนพฤศจิกายน 1992

“ผมคงแปลกใจถ้าใครสักคนคิดว่าการที่หุ้น S&P สามารถทำผลตอบแทนได้เท่ากับหุ้นอื่นๆ ตลอด 10 ปีนั้นถือเป็นเรื่องที่โดดเด่น”

มาดอฟฟ์ กล่าว

วงการฮอลลีวูดโดนเยอะ!!!

จากรายงานพบว่ามีผู้เสียหายมากกว่า 1,000 คนที่โดนหลอกให้ลงทุน และหนึ่งในผู้เสียหายเหล่านั้นมีนักแสดงจากวงการฮอลลีวูดเองก็โดนเยอะ : 

  • เควิน เบคอน นักแสดงชาวอเมริกันที่ยอมรับว่า ตัวเขาและ ไครา เซดจ์วิค ภรรยา ได้ร่วมลงทุนในโครงการพอนซีและเสียเงินไปกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท)
  • เจฟฟรีย์ แคตเซนเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนต์และประธานบริหารของดรีมเวิร์กสแอนิเมชัน “แคตเซนเบิร์ก สูญเสียเงินไป 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 660 ล้านบาท)...” Los Angeles Times เผย 
  • เอลี วีเซล ศาสตราจารย์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ วีเซลเคยเผยเมื่อปี 2009 ว่า เขาและภรรยาเคยสูญเสียเงินออมทั้งชีวิตมูลค่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 399 ล้านบาท) และอีก 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 499 ล้านบาท) ให้กับมูลนิธิ ‘Elie Wiesel Foundation for Humanity’ 
  • จอห์น มัลโควิช นักแสดง ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้างชาวอเมริกันเชื้อสายโครเอเชีย ได้ออกมาเปิดเผยในปี 2013 ว่า สูญเสียเงินลงทุน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 66 ล้านบาท) ให้กับมาดอฟฟ์เช่นเดียวกันกับนักแสดงคนอื่นๆ 
  • แลร์รี่ คิง พิธีกรชาวอเมริกันชื่อดัง ออกมาเผยว่า เขาเคยสูญเสียเงินไปถึง 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23 ล้านบาท) แต่โชคดีที่เขาสามารถเอาเงินจำนวนนั้นกลับคืนมาได้ภายในเวลาไม่กี่ปี

ปิดมาได้ตั้งนาน แล้วทำไมถึงถูกจับได้...

bernie-madoff-who-he-was-how-his-ponzi-scheme-worked-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by CHRIS HONDROS / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP

ทว่าในปี 2008 สถานการณ์กลับตาลปัตร เมื่อนักลงทุนจำนวนมากต้องการถอนเงินลงทุนออกไปเป็นมูลค่าราว 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.33 แสนล้านบาท) แต่มาดอฟฟ์ไม่มีเงินเพียงพอที่จะถอนเงินตามที่ขอไว้ ในเวลานั้น เขาสามารถถอนเงินออกมาได้เพียง 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.6-9.9 พันล้านบาท) เท่านั้น 

ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มถึงจุดวิกฤตในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2008 ประกอบกับมาดอฟฟ์ไม่สามารถดำเนินการตามคำขอถอนเงินของนักลงทุนได้อีกต่อไป มาดอฟฟ์จึงสารภาพกับลูกชายทั้ง 2 คนของเขา ในเวลาต่อมาพวกเขาก็แจ้งความจับพ่อตัวเอง 

มาดอฟฟ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง ฟอกเงิน และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาถูกตัดสินจำคุกในเรือนจำของรัฐบาลกลางเป็นเวลา 150 ปีตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2021 ในวัย 82 ปี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์