วิจัยชี้แว่นกรองแสง (อาจ) ไม่ช่วยปกป้องดวงตาอย่างที่คิด

21 ก.ย. 2566 - 07:05

  • การศึกษาก่อนหน้านี้ในกลุ่มทดลองมักมีขนาดเล็ก แต่หลายชิ้นพบว่า ‘เลนส์ไม่ได้ป้องกันดวงตาของผู้คนจากการเหนื่อยล้าหรือระคายเคือง และไม่ได้ดูเหมือนจะช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น’

blue-light-glasses-unlikely-to-help-eye-strain-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อแว่นตากรองแสงสีฟ้า (อาจ) ไม่ช่วยปกป้องสายตาอีกต่อไป!

ที่ผ่านมาใครหลายๆ คนอาจเข้าใจว่าใส่แว่นตากรองแสงสีฟ้า หรือเลนส์บลู (Blue light) นั้นจะช่วยจัดการกับอาการตาพร่ามัวที่เกิดจากการเลื่อนดูโทรศัพท์มือถือ หรือจ้องมองแล็ปท็อปหลังจากผ่านไปหลายชั่วโมงได้ 

ทว่ามันอาจไม่เป็นอย่างนั้นเพราะยังขาดหลักฐานที่สนับสนุนข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างมาก โดยการทบทวนการศึกษา 17 ชิ้นครั้งใหม่พบว่า ‘แว่นตากรองแสงดังกล่าวอาจไม่ช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการเมื่อยล้าของดวงตา’ 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนสงสัยว่า ‘แสงสีฟ้าอาจอยู่เบื้องหลังกลุ่มอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (computer vision syndrome) หรือไม่?’ โดยเป็นภาวะที่ครอบคลุมอาการระคายเคืองตา รวมถึงอาการปวดหัวและการมองเห็นไม่ชัด ซึ่งหลายๆ คนประสบหลังจากใช้เวลาอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน 

อย่างไรก็ดี การศึกษาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในหมู่มวลผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย  

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ลอรา ดาวน์นี แห่งทัศนมาตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์การมองเห็นจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานฉบับใหม่นี้พบว่า ‘การใช้แว่นตากรองแสงสีฟ้าดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์เมื่อเทียบกับเลนส์มาตรฐานเพื่อลดอาการปวดตา’ 

“นักวิจัยสงสัยมานานแล้วว่าแว่นตาแสงสีฟ้าสามารถลดอาการปวดตาได้จริงหรือเปล่า?” ศาสตราจารย์มาร์ก โรเซนฟิลด์จากวิทยาลัยทัศนมาตรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าว 

การศึกษาก่อนหน้านี้ในกลุ่มทดลองมักมีขนาดเล็ก แต่หลายชิ้นพบว่า ‘เลนส์ไม่ได้ป้องกันดวงตาของผู้คนจากการเหนื่อยล้าหรือระคายเคือง และไม่ได้ดูเหมือนจะช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น’ นอกจากนี้ การศึกษาบางชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่สวมใส่แว่นกรองแสงจะนอนหลับดีขึ้น  

“มีหลักฐานอีกว่า แสงสีฟ้าอาจส่งผลต่อการนอนหลับด้วยการยับยั้งความสามารถของสมองในการหลั่งเมลาโทนิน (melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ผู้คนพร้อมที่จะพักผ่อน” ดร.ราจ มาตูรี โฆษกของสมาคมจักษุแพทย์อเมริกัน (American Academy of Ophthalmology) กล่าว 

ศาสตราจารย์ดาวน์นีเผยว่า “จริงๆ แล้วปริมาณแสงสีฟ้าที่โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ปล่อยออกมานั้นค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมการปิดกั้นแสงจึงไม่ช่วยบรรเทาอาการปวดตาได้มากนัก แต่ถ้าคุณใช้เวลา 4 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวันกับคอมพิวเตอร์ คุณก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระคายเคืองดวงตาจากหน้าจอ” 

“การใช้สายตาของผู้คนเมื่อจ้องมองหน้าจอเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ใกล้ใบหน้า อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายได้” 

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ดาวน์นีและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ยังได้แนะนำเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจช่วยแก้ปัญหาอาการได้ 

  • ใช้ยาหยอดตา หรือน้ำตาเทียมลูบริค-อายส์บ่อยๆ : หากมีอาการปวดตา หรือตาแห้งจากการจ้องหน้าจอนานเกินไป หากปวดเป็นประจำให้หยอดตา 3-4 ครั้งต่อวัน  
  • ให้เวลาตัวเองพักบ้าง : ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพตามักจะแนะนำกฎ ‘20-20-20 ซึ่งก็คือ ทุกๆ 20 นาที ให้พัก 20 วินาทีเพื่อมองบางสิ่งที่อยู่ห่างออกไป 20 ฟุตหรือ 6 เมตร เพราะการบริหารแบบนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อตาผ่อนคลาย แต่นักวิจัยบางคนแนะนำว่าการพัก 20 วินาทีอาจไม่เพียงพอ 
  • ลดแสงสะท้อน : ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงไม่ใช่แค่แสงจากหน้าจอคอมฯ เท่านั้น แต่รวมถึงแสงทั่วทั้งห้อง และแสงสะท้อนจากหน้าต่างและประตูกระจกด้วย  
  • การจัดวางคอมพิวเตอร์ในระดับที่เหมาะสม : ก็คือการรักษาจุดกึ่งกลางของหน้าจอให้ต่ำกว่าระดับสายตา หากว่าคุณมีอาการตาล้า ให้ลองขยับคอมพิวเตอร์ให้ไกลออกไปโดยห่างจากศีรษะของคุณ 50-75 ซม. แต่สำหรับโทรศัพท์ควรถือให้ห่างอย่างน้อย 40 ซม. 
  • พบแพทย์ : หากว่าคุณรู้สึกปวดตาอยู่ตลอดเวลา และวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ผลหลังจากทำต่อเนื่องกัน 3-4สัปดาห์ ให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์