โบอิ้งหาลูกค้าใหม่มาซื้อเครื่องบินที่จีนเคยสั่ง 50 ลำ สายการบินในมาเลย์เจรจาขอรับไว้

24 เม.ย. 2568 - 09:47

  • โบอิ้ง (Boeing) เตรียมหาผู้ซื้อรายใหม่สำหรับเครื่องบินที่สายการบินจีนเคยสั่งซื้อมากถึง 50 ลำ หลังจากจีนประกาศเก็บภาษีนำเข้าเครื่องบินจากสหรัฐฯ สูงถึง 125% ตอบโต้มาตราการภาษีทรัมป์

  • ขณะเดียวกัน บริษัท ‘Malaysia Aviation Group’ (MAG) บริษัทแม่ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ก็กำลังเจรจากับโบอิ้งเพื่อขอรับเครื่องบินรุ่นใหม่ หากสายการบินจีนไม่เอาเครื่องบินเหล่านั้น

boeing-hopes-to-find-new-buyers-for-up-to-50-planes-returned-by-china-SPACEBAR-Hero.jpg

โบอิ้ง (Boeing) บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานและยุทโธปกรณ์เตรียมหาผู้ซื้อรายใหม่สำหรับเครื่องบินที่สายการบินจีนเคยสั่งซื้อมากถึง 50 ลำ หลังจากจีนประกาศเก็บภาษีนำเข้าเครื่องบินจากสหรัฐฯ สูงถึง 125% เพื่อตอบโต้มาตราการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

โบอิ้งแสดงความมั่นใจว่าสามารถหาผู้ซื้อรายอื่นแทนสายการบินจีนได้ โดยขณะนี้มีสายการบินจากประเทศอื่นแสดงความสนใจเครื่องบินบางลำแล้ว และบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเปลี่ยนสีเครื่องบินให้ตรงกับลูกค้ารายใหม่ 

เครื่องบินโบอิ้ง 2 ลำได้เดินทางกลับสหรัฐฯ จากจีนแล้ว และมีอีกลำหนึ่งกำลังเดินทางกลับ หลังจากที่จีนเรียกเก็บภาษีนำเข้าเครื่องบินจากสหรัฐฯ ในอัตรา 125% เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมาก 

เคลลี่ ออร์ตเบิร์ก ซีอีโอของโบอิ้งกล่าวว่า เขาหวังให้สถานการณ์ภาษีนี้คลี่คลายในอนาคต และยืนยันว่าโบอิ้งกับแอร์บัส คู่แข่งสำคัญของบริษัท ต่างต้องการสภาพแวดล้อมทางการค้าที่ปราศจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งแตกต่างจากทรัมป์ที่เชื่อว่าภาษีจะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ 

ออร์ตเบิร์กยังกล่าวด้วยว่า “ลูกค้าหลายรายในจีนแจ้งว่าจะไม่รับมอบเครื่องบินในสถานการณ์นี้ ขณะที่สายการบินจีนรายใหญ่ทั้ง Air China, China Eastern และ China Southern ต่างถูกสั่งระงับการรับมอบเครื่องบินโบอิ้งและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องจากสหรัฐฯ” 

การผลิตเครื่องบิน 41 ลำที่เดิมทีมีจุดหมายปลายทางที่จีนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยอีก 9 ลำมีแผนจะส่งมอบในปีนี้ “มันเป็นสถานการณ์ที่น่าเสียดาย แต่เรายังมีลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการรับมอบเครื่องบินในระยะเวลาอันใกล้” ออร์ตเบิร์กกล่าว โดยบริษัทมีคำสั่งซื้อเครื่องบินรวม 5,600 ลำจากสายการบินทั่วโลกที่คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 

ความต้องการเครื่องบินโดยรวมยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีจนถึงขณะนี้ ซึ่งช่วยให้บริษัทเดินหน้าขยายกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 Max เป็น 38 ลำต่อเดือนตามแผน แม้จะมีการขึ้นภาษีนำเข้า แถมราคาหุ้นของโบอิ้งยังเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อวันพุธ (23 เม.ย.) ด้วย 

โบอิ้ง ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เป็นเป้าหมายสำคัญของการตอบโต้สงครามการค้าของจีน แม้จะเผชิญกับปัญหาด้านความปลอดภัยหลายครั้งจนเสียชื่อเสียง แต่โบอิ้งยังคงมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แข็งแกร่งในวอชิงตัน ขณะที่ ออร์ตเบิร์กุเผยว่า บริษัทได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่และนักการเมือง รวมถึงตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม การถูกปิดกั้นจากตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลกถือเป็นเรื่องเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแอร์บัส คู่แข่งที่ผลิตเครื่องบินในฝรั่งเศส จีน และสหรัฐฯ สามารถขายต่อไปได้ “เราจะไม่ผลิตเครื่องบินสำหรับลูกค้าที่ไม่รับมอบอีกต่อไป” ออร์ตเบิร์กกล่าว พร้อมเสริมว่า “หากเราพบว่าตลาดปิดตัวลง นั่นจะเป็นความท้าทายใหญ่สำหรับเรา” 

ทรัมป์ได้ตั้งภาษี 10% กับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกนอกเหนือจากจีน แต่โบอิ้งสามารถชดเชยต้นทุนนี้ได้จากการส่งออก อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของจีนกลับเป็นสิ่งที่โบอิ้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ขณะที่บริษัทในมาเลเซียเล็งเครื่องบินโบอิ้งรุ่นใหม่หากจีน ‘ไม่เอา’ 

กลุ่มบริษัท ‘Malaysia Aviation Group’ (MAG) บริษัทแม่ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ (Malaysia Airlines) กำลังเจรจากับโบอิ้งเพื่อขอรับเครื่องบินรุ่นใหม่ หากสายการบินจีนไม่รับมอบเครื่องบินเหล่านั้น 

อิซฮัม บิน อิสมาอิล กรรมการบริหารของ MAG มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้รับเครื่องบินเร็วกว่าที่คาดไว้ “MAG กำลังพูดคุยกับโบอิ้งว่าเราสามารถครอบครองเครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้หรือไม่” อิสมาอิล กล่าว 

สายการบินทั่วโลกต่างต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ แต่ต้องเผชิญกับเวลารอส่งมอบที่ยาวนานเนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานหลังการระบาดของโควิด และการผลิตที่ชะลอตัวของโบอิ้งจากการตรวจสอบกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น รวมไปถึงการนัดหยุดงานประท้วงของพนักงาน 

MAG ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดย ‘Khazanah Nasional’ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของมาเลเซีย  กำลังขยายและปรับปรุงฝูงบินอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจะมีเครื่องบินรุ่น 737 MAX รุ่นใหม่จำนวน 55 ลำภายในปี 2030 

เมื่อเดือนที่แล้ว MAG สั่งซื้อเครื่องบิน 737 MAX 8 จำนวน 18 ลำ และ 737 MAX 10 อีก 12 ลำ พร้อมสิทธิ์ซื้อเพิ่มอีก 30 ลำ นอกจากนี้ MAG ยังมีสัญญาเช่าเครื่องบิน 737 MAX จำนวน 25 ลำจากบริษัทให้เช่าเครื่องบิน ‘Air Lease Corp’ ระหว่างปี 2023-2026 

(Photo by HECTOR RETAMAL / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์