งานเข้าโบอิ้งเจอพิษภาษีทรัมป์! จีนไม่รับเครื่องบิน ‘737 MAX’ ต้องบินกลับสหรัฐฯ

21 เม.ย. 2568 - 04:11

  • เครื่องบินเจ็ตของบริษัทโบอิ้งที่เตรียมให้สายการบินจีนใช้งาน ได้ลงจอดที่ศูนย์การผลิตของโบอิ้งในสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (20 เม.ย.) เนื่องจากได้รับผลกระทบจาดมาตรการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

  • เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายลำที่กำลังรออยู่ที่ศูนย์การผลิตเครื่องบินโจวซานของบริษัทโบอิ้งเพื่อดำเนินการขั้นสุดท้ายและส่งมอบให้กับสายการบินของจีน

  • ในวันนั้นเครื่องบินเจ็ท 737 MAX เที่ยวบินขากลับระยะทาง 8,000 กม. (5,000 ไมล์) ได้แวะเติมน้ำมันที่เกาะกวมและฮาวาย

boeing-jet-returns-to-us-from-china-victim-of-trump-tariff-war-SPACEBAR-Hero.jpg

เครื่องบินเจ็ตของบริษัทโบอิ้งที่เตรียมให้สายการบินจีนใช้งาน ได้ลงจอดที่ศูนย์การผลิตของโบอิ้งในสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (20 เม.ย.) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  

เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 MAX ซึ่งผลิตขึ้นสำหรับสายการบินเซี่ยเหมินแอร์ไลน์ของจีน ได้ลงจอดที่สนามบินโบอิ้งในเมืองซีแอตเทิลเมื่อเวลา 18.11 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ตามคำบอกเล่าของพยานระบุว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเพ้นท์เป็นลายเซี่ยเหมิน 

เครื่องบินลำนี้เป็นหนึ่งในหลายลำที่กำลังรออยู่ที่ศูนย์การผลิตเครื่องบินโจวซานของบริษัทโบอิ้งเพื่อดำเนินการขั้นสุดท้ายและส่งมอบให้กับสายการบินของจีน ในวันนั้นเครื่องบินเจ็ท 737 MAX เที่ยวบินขากลับระยะทาง 8,000 กม. (5,000 ไมล์) ได้แวะเติมน้ำมันที่เกาะกวมและฮาวาย     

ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 145% เพื่อเป็นการตอบโต้ ขณะที่จีนก็ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% ตามข้อมูลของ ‘IBA’ บริษัทที่ปรึกษาด้านการบินระบุว่า สายการบินจีนที่รับมอบเครื่องบินโบอิ้งอาจได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าดังกล่าว เนื่องจากเครื่องบิน 737 MAX รุ่นใหม่มีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.83 พันล้านบาท) 

ยังไม่ชัดเจนว่าฝ่ายใดเป็นผู้ตัดสินใจให้เครื่องบินดังกล่าวกลับคืนสู่สหรัฐฯ บริษัทโบอิ้งไม่ได้แสดงความคิดเห็นในทันที ส่วนเซี่ยเหมินแอร์ไลน์ก็ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น 

การส่งคืนเครื่องบิน 737 MAX ซึ่งเป็นรุ่นขายดีที่สุดของโบอิ้งนั้น ถือเป็นสัญญาณล่าสุดของการหยุดชะงักของการส่งมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ หลังจากสถานะ ‘ปลอดภาษี’ ของอุตสาหกรรมการบินซึ่งมีมายาวนานหลายสิบปีหยุดชะงัก  

สงครามภาษีศุลกากรและการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งมอบเกิดขึ้นในขณะที่บริษัทโบอิ้งกำลังฟื้นตัวจากการตรึงนำเข้าเครื่องบินรุ่น 737 MAX มานานเกือบ 5 ปี และความตึงเครียดทางการค้ารอบก่อน 

ความสับสนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีศุลกากรอาจทำให้การส่งมอบเครื่องบินจำนวนมากอยู่ในสภาวะไม่แน่นอน นักวิเคราะห์เผยว่าซีอีโอสายการบินบางรายกล่าวว่าพวกเขาจะเลื่อนการส่งมอบเครื่องบินแทนที่จะจ่ายภาษีศุลกากร 

(Photo by MARK RALSTON / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์