วิจัยชี้น้ำดื่มขวดอันตราย! มีเศษพลาสติกนับแสนชิ้นเล็กมากจนผ่านเข้าหัวใจได้

9 มกราคม 2567 - 08:56

bottled-water-contains-hundreds-of-thousands-of-plastic-bits-SPACEBAR-Hero.jpg
  • นักวิทยาศาสตร์สามารถนับเศษพลาสติกที่ตรวจพบได้โดยเฉลี่ย 240,000 ชิ้นต่อน้ำ 1 ลิตรในแบรนด์ยอดนิยม ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 10-100 เท่า

การศึกษาใหม่ในรายงานการประชุมของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ระบุเมื่อวันจันทร์ (8 ม.ค.) ว่า น้ำดื่มบรรจุขวดมีผลเสียมากกว่าที่คิดไว้ถึง 100 เท่าในแง่ของจำนวนเศษพลาสติกเล็กๆ

จากการใช้เทคนิคที่คิดค้นขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ โดยเฉลี่ย 240,000 ชิ้นต่อน้ำ 1 ลิตรในแบรนด์ยอดนิยม ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 10-100 เท่า ทำให้เกิดความกังวลด้านสุขภาพที่อาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

“หากผู้คนกังวลเกี่ยวกับนาโนพลาสติกในน้ำบรรจุขวดก็สมเหตุสมผลที่จะพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น น้ำประปา” เป้ยจ้าน หยาน รองศาสตราจารย์วิจัยด้านธรณีเคมีแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าวกับ AFP 

แต่หยานเสริมว่า “เราไม่ได้ห้ามการดื่มน้ำบรรจุขวดในกรณีที่จำเป็น เนื่องจากความเสี่ยงในการขาดน้ำอาจมีมากกว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสนาโนพลาสติก” 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไมโครพลาสติกซึ่งแยกตัวออกจากพลาสติกขนาดใหญ่ และปัจจุบันพบได้ทุกที่ตั้งแต่แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกไปจนถึงยอดเขา ได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้น เพราะมันแทรกซึมไปตามระบบนิเวศ และเข้าสู่น้ำดื่มและอาหาร

ไมโครพลาสติกมีขนาดต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วนนาโนพลาสติกนั้นถูกกำหนดให้เป็นอนุภาคที่มีขนาดต่ำกว่า 1 ไมโครเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนสามารถผ่านเข้าระบบย่อยอาหาร ปอด เข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง เข้าไปยังอวัยวะต่างๆ รวมถึงสมอง และหัวใจ นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายของทารกในครรภ์ได้ด้วย

ทีมวิจัยได้ทดสอบแบรนด์ชั้นนำ 3 แบรนด์ แต่เลือกที่จะไม่ระบุชื่อ “เพราะเราเชื่อว่าน้ำดื่มบรรจุขวดทั้งหมดมีนาโนพลาสติก ดังนั้นการแยกแบรนด์ยอดนิยม 3 แบรนด์ออกมาจึงถือว่าไม่ยุติธรรม” หยานกล่าว 

ผลการวิจัยพบพลาสติกชิ้นเล็กๆ ราว 110,000-370,000 อนุภาคต่อลิตร โดย 90% เป็นนาโนพลาสติก ในขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นไมโครพลาสติก 

ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ‘ไนลอน’ ซึ่งอาจมาจากตัวกรองพลาสติกที่ใช้กรองน้ำ ตามด้วยโพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต หรือ PET ซึ่งจะถูกกรองออกมาเมื่อบีบขวด โดยพลาสติกชนิดอื่นจะลงไปในน้ำเมื่อเปิดและปิดฝา 

ครั้งต่อไปทีมวิจัยมีแผนจะตรวจสอบน้ำประปาซึ่งพบว่ามีไมโครพลาสติก แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากก็ตาม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์