‘ทรัมป์’ ปลุกมวลชนบุกรัฐสภา อดีตประธานาธิบดีบราซิลก็ใช้วิธีเดียวกัน

13 ม.ค. 2566 - 05:11

  • ความปราชัยในศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้อดีตประธานาธิบดีโบลโซนารู ไม่ยอมรับคำตัดสิน

  • สหรัฐฯ ประณามการโจมตีประชาธิปไตยและสนับสนุนการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติในบราซิล

  • บราซิลจับกุมผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโบลโซนาโรไปกว่า 1,500 คน

  • ศาลฎีกาบราซิล มีคำสั่งให้ ‘อีบานีส ฮัวเชอะ’ ผู้ว่าการกรุงบราซิเลีย พ้นจากตำแหน่งเป็นเวลา 90 วัน

brazil-protests-2023-common-trumps-jan-6-SPACEBAR-Thumbnail
ตอนนี้เกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองในบราซิลรุนแรงถึงขั้นกลุ่มนิยมขวาจัดยกพวกถล่มอาคารศาลฎีกา ซ้ำรอยเหตุการณ์เดียวกันนี้ในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 ที่กองกำลังมวลชนขวาจัดซึ่งสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าอาคารรัฐสภา สร้างความเสียหายอย่างมาก สมาชิกสภาแข่งกับเวลาหนีตายเอาชีวิตรอด 

มวลชนขวาจัดในบราซิลที่นิยมอดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้งและบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา อาคารศาลสูง ทำเนียบรัฐบาล เป็นการบุกยึดสถานที่และทำลายสิ่งของเหมือนกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ 

อดีตประธานาธิบดีโบลโซนารู ได้รับฉายาว่าเป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งละตินอเมริกา เพราะมีแนวคิดนิยมขวาจัดและไม่คำนึงถึงกฎระเบียบใดๆ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เขาถูกกล่าวหาอย่างหนักว่าดำเนินการล่าช้าในการจัดหาวัคซีน ทำให้ประชาชนบราซิลติดเชื้อมากมายแม้กระทั่งตัวเขาเองก็ติดเชื้อด้วย 

ความปราชัยในศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อดีตประธานาธิบดีโบลโซนารูไม่ยอมรับคำตัดสิน โดยอ้างว่าถูกโกงเพราะคู่แข่ง ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีสองสมัยอย่าง ‘ลูลา ดา ซิลวา’ ชนะไปได้อย่างฉิวเฉียด ตั้งแต่นั้นมาก็มีมวลชนผู้สนับสนุนผู้แพ้ออกมาเคลื่อนไหวไม่หยุด 

แม้จะมีคำพิพากษาโดยศาลสูงว่า ดา ซิลวา เป็นผู้ชนะ แต่ก็ยังถูกกล่าวหาว่าการนับคะแนนเสียงด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มีปัญหาและมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยที่อดีตประธานาธิบดีโบลโซนารูเองก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานหนุนคำกล่าวหาได้ 

พฤติกรรมไม่ยอมรับคำตัดสิน และกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งที่เกิดในบราซิล ไม่ต่างอะไรกับที่มีการใช้ข้ออ้างของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความวุ่นวายให้กับเจ้าหน้าที่โดยกลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดขวาจัด 

ทรัมป์ ปลุกระดมมวลชนให้ไปชุมนุมในเมืองหลวงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนอดีตประธานาธิบดีโบลโซนารู ใช้วิธีแบบเดียวกันด้วยการปลุกระดมมวลชนชาวบราซิลไม่ให้ยอมรับการตัดสิน มีการชุมนุมประท้วงหลายเมือง ก่อความไม่สงบในช่วงที่ผู้ชนะเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่ง 

ดา ซิลวา สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งโบลโซนารู ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีส่งมอบอำนาจตามธรรมเนียม แต่ส่งเสริมให้ม็อบที่สนับสนุนตัวเองชุมนุมประท้วงไม่หยุด แถมก่อนวันที่ม็อบจะบุกอาคารรัฐสภา ศาลสูง ทำเนียบประธานาธิบดี และจัตุรัสพลานาลโต  อดีตประธานาธิบดีโบลโซนารู ได้เดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ที่รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าเขาไม่มีส่วนรับผิดชอบกับการที่มวลชนบุกเข้าไปในสถานที่สำคัญต่างๆ ของประเทศในพื้นที่ราชการของกรุงบราซิเลีย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6T5YLVbvIoCCDsiM7f4GoP/80a7f575a423ff4a575947cfb1fb3701/info-brazil-protests-2023-common-trumps-jan-6
ความวุ่นวายทางการเมืองในบราซิลจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายจากนานาประเทศ เริ่มจาก กาเบรียล โบริก ประธานาธิบดีชิลี ที่บอกว่า ชิลีสนับสนุนบราซิลอย่างเต็มที่ในการเผชิญหน้ากับการโจมตีที่ขี้ขลาดและชั่วช้าต่อประชาธิปไตย 

ส่วนประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบีย กล่าวว่า “ลัทธิฟาสซิสต์ได้ตัดสินใจทำรัฐประหาร” ในประเทศนี้แล้ว 

ด้าน มาร์เซโล เอบราร์ด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก กล่าวว่า เม็กซิโกสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อคณะบริหารของประธานาธิบดีลูลาซึ่งได้รับเลือกจากประชาชน 

ขณะที่พี่เบิ้มอย่างสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนทวีตข้อความว่า “สหรัฐฯ ขอประณามการโจมตีประชาธิปไตยและสนับสนุนการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติในบราซิล สนับสนุนสถาบันประชาธิปไตยของบราซิล และยืนยันว่าเจตจำนงของชาวบราซิลจะต้องไม่ถูกบั่นทอน” 

ด้านนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี เขียนบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า “การโจมตีอย่างรุนแรงต่อสถาบันประชาธิปไตยเป็นการโจมตีประชาธิปไตยที่ไม่อาจรับได้” 

เช่นเดียวกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่กล่าวว่า “ต้องเคารพเจตจำนงของชาวบราซิลและสถาบันประชาธิปไตย” พร้อมให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนลูลา 

ส่วน ริชี ซูนัก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า ”ขอประณามความพยายามใดๆ ที่บ่อนทำลายการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ และเจตจำนงทางประชาธิปไตยของประชาชนบราซิล" 

หลังเข้าควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ทางการบราซิลได้จับกุมผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโบลโซนาโรไปจำนวนกว่า 1,500 คน ขณะที่ศาลฎีกาบราซิล มีคำสั่งให้ อีบานีส ฮัวเชอะ ผู้ว่าการกรุงบราซิเลีย พ้นจากตำแหน่งเป็นเวลา 90 วัน 

อเล็กซานเดร เดอ โมราเอส ผู้พิพากษา กล่าวหาว่าเขาล้มเหลวในการป้องกันเหตุจลาจลและไม่ทำอะไรเลยเมื่อเผชิญกับการบุกโจมตีอาคารศาลฎีกา ส่วนฮัวเชอะก็กล่าวขอโทษสำหรับเหตุการณ์ในวันอาทิตย์ 

ตำรวจบราซิลควบคุมอาคารในเมืองหลวงบราซิเลียได้ในเย็นวันอาทิตย์ (8 ม.ค.) หลังจากการปะทะกันนานหลายชั่วโมง หลังจากนั้น ดา ซิลวา ผู้นำฝ่ายซ้ายของบราซิลก็สำรวจความเสียหายของอาคารศาลฎีกาด้วยตัวเอง  ก่อนจะประกาศภาวะฉุกเฉินและส่งกองกำลังพิทักษ์ชาติเข้าไปในเมืองหลวงเพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย 

การชุมนุมของฝ่ายขวา ทำให้ผู้นำฝ่ายซ้ายและกลุ่มอื่นๆ ทั่วบราซิล ระดมพลเพื่อจัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นกัน โดยในวันอังคาร (10 ม.ค.) ประชาชนหลายหมื่นคนพากันเดินขบวนในนครเซาเปาโล เพื่อสนับสนุนคุณค่าประชาธิปไตย ด้วยบรรยากาศที่คึกคัก มีการเต้นรำ ร้องเพลง และปราศรัย ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด 
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์