เพื่อนบ้านกังวลใจกัมพูชาเดินหน้าโครงการขุดคลองฟูนันเตโชเชื่อมแม่น้ำโขง

6 ส.ค. 2567 - 09:20

  • กัมพูชามั่นใจโครงการนี้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทางน้ำ ทางทะเล และท่าเรือ ตลอดจนการลงทุนด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม 

  • รัฐบาลเวียดนามต้องการให้กัมพูชาชะลอโครงการไว้ก่อน แต่ ฮุน มาเนต พร้อมเดินหน้าและยืนยันว่าโครงการนี้ผ่านการศึกษาอย่างละเอียด 

cambodia-breaks-ground-on-hun-sen-canal-project-backed-by-china-SPACEBAR-Hero.jpg

ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียนที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ของประเทศคู่กรณีหลายๆ คู่ กัมพูชาก็เปิดตัวโครงการขุดคลองฟูนันเตโชอย่างเป็นทางการและยิ่งใหญ่ ซึ่งโครงการนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพื่อนบ้านทั้งไทย เวียดนามและทุกประเทศที่ใช้ประโยชน์จากลุ่มแม่น้ำโขง  

เมื่อวันจันทร์ (5 ส.ค.) สมเด็จฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ร่วมพิธีเปิดอภิมหาโปรเจกต์ หรือโครงการขุดคลองฟูนันเตโช ความยาว 180 กม. เริ่มจากคลองตาแก้วในแม่น้ำโขง ในชุมชนสำโรงธม อ.เคียนสวาย จ.กันดาล เชื่อมสู่แม่น้ำบาสัก อ.เกาะธม จ.กันดาล ไหลผ่าน จ.กันดาล จ.ตาแก้ว จ.กัมปอต และ จ.แกบ ลงสู่ทะเล โดยใช้งบประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าเปิดดำเนินการในปี 2028 เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าแล่นผ่านกัมพูชาก่อนออกสู่ทะเล แทนการใช้เส้นทางเดิมในเวียดนาม   

ผู้นำกัมพูชา ประกาศว่าจะมุ่งมั่นทำโครงการนี้ให้สำเร็จและกล่าวว่า "โครงการนี้ไม่ได้เป็นแค่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแต่เป็นโครงการที่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ"  

โครงการนี้ที่มีพิธีวางศิลาฤกษ์วันที่ 5 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันเกิดของบิดาของฮุน มาเนต คือสมเด็จฮุนเซน และในฐานะที่ฮุน มาเนต ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาและประธานพรรคประชาชนกัมพูชา จึงสั่งการให้เจดีย์ทุกองค์ในประเทศจุดประทัดเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดโครงการที่กลายเป็นความคาดหวังใหม่ของกัมพูชา   

หากโครงการนี้สำเร็จลุล่วง จะช่วยลดการขนส่งสินค้าผ่านเวียดนามถึง 70% ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา และคาดว่าจะช่วยสร้างงานประชาชนตามเส้นทางกว่า 1,600,000 คน  

รัฐบาลกัมพูชามั่นใจว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ประกอบการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีส่วนสนับสนุนและขยายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่สอดคล้องกับโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทางน้ำ ทางทะเล และท่าเรือ ตลอดจนการลงทุนด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม  

ส่อฉุดสัมพันธ์ทวิภาคีกัมพูชา-เวียดนาม  

แต่โครงการนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเวียดนามไม่ราบรื่น โดยนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มินห์ จิ๋นห์ แสดงความกังวลในประเด็นผลกระทบต่อระบบการไหลเวียนของแม่น้ำที่ไหลจากกัมพูชาไปสู่เวียดนาม และไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้   

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองกัมพูชา กลับวิเคราะห์ว่า เหตุผลที่แท้จริงน่าจะเป็นเพราะเวียดนามกลัวที่จะสูญเสียอิทธิพลเหนือลุ่มน้ำโขง และกลัวว่าจีนอาจใช้คลองนี้เพื่อแทรกแซงกิจการทางการเมือง และการทหารของเวียดนามมากกว่า   

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของกัมพูชาเกี่ยวกับโครงการนี้ อาจเชื่อมโยงไปถึงข้อกังวลในจุดเชื่อมต่อยุทธศาสตร์ทางทะเลแห่งใหม่ของประธานสี จิ้นผิง ของจีน เนื่องจากกัมพูชามีท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวคือสีหนุวิลล์และสีหนุวิลล์ถูกตั้งให้เป็น เมืองยุทธศาสตร์บนเส้นทางการค้า โครงการจีนเชื่อมโลก เส้นทางสายไหมใหม่ (BRI) ของจีน เมื่อไม่ต้องพึ่งพาท่าเรือของเวียดนาม เวียดนามก็สูญเสียผลประโยชน์และอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลด้วย  

รัฐบาลเวียดนาม ต้องการให้กัมพูชาชะลอโครงการไว้ก่อน แต่ ฮุน มาเนต พร้อมเดินหน้าและยืนยันว่าโครงการนี้ผ่านการศึกษาอย่างละเอียด อยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญบอกว่าการขุดคลองนี้ของกัมพูชาไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากประเทศอื่น   

ด้วยเหตุนี้ คลองฟูนันเตโชจึงอาจจุดชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม จากที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศถือว่าดี ร่วมมือกันอย่างเสมอภาคและเอื้อประโยชน์ต่อกัน ทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทางการเมืองด้วย  

ทั้งนี้ ปี 2018 เวียดนามมีโครงการลงทุนในกัมพูชากว่า 200 โครงการ ยอดเงินทุนจดทะเบียนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามก็กลายเป็น 1ใน 10 ประเทศที่ลงทุนในกัมพูชาสูงสุด  

 "เวียดนามกลัวว่าจีนจะใช้ประโยชน์จากคลองนี้เป็นช่องทางรุกรานทางทหารในช่วงที่มีความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกัน แต่กัมพูชาก็ยืนยันว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างที่เวียดนามกังวลขึ้น" ลี ฮง เฮียบ นักวิจัยการเมืองชาวเวียดนามจาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ให้ความเห็น  

เวียดนามหวั่นแม่น้ำโขงลดกระทบเพื่อนบ้าน  

เวียดนามวิตกว่าโครงการขุดคลองฟูนันเตโชจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลงและส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องพึ่งพาประโยชน์จากแม่น้ำโขง ซึ่งรัฐบาลกัมพูชา ปฏิเสธข้อกังวลในเรื่องนี้ โดยบอกว่า แม่น้ำโขงที่ไหลไปยังคลองฟูนันเตโชมีปริมาณเล็กน้อยมาก   

ทุกวันนี้ ลุ่มน้ำโขงมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภูมิภาคที่เป็นแหล่งปลูกข้าวหลักของเวียดนาม ทำให้ชาวเวียดนามระดับรากหญ้าออกมาคัดค้านโครงการนี้ของกัมพูชา  

รายงานข่าวระบุว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลก การเปิดคลองฟูนันเตโชอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งปลูกข้าวและผลกระทบนี้อาจลามไปยังประเทศอื่นด้วย  

"เวียดนามมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้กัมพูชาปรึกษากับเวียดนามและประเทศอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขุดคลองฟูนันเตโชนี้ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน เวียดนามก็ควรพิจารณาใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการขุดคลองนี้ ที่รวมถึงการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อให้ภูมิภาคที่ปลูกข้าวมีน้ำเพียงพอในหน้าแล้ง"เฮียบ กล่าว  

จีนที่พึ่งหลักทางเศรษฐกิจของกัมพูชา  

รายงานข่าวที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ระบุว่า บริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) รัฐวิสาหกิจจีน ที่เคยทำหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในกัมพูชา เป็นผู้รับผิดชอบการขุดคลองนี้ และเป็นการดำเนินการภายใต้กลไกแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) หมายถึงเอกชนได้รับสัมปทานในการลงทุน ก่อสร้าง และบริหารจัดการ เพื่อหาผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วจึงโอนสินทรัพย์ให้รัฐบาลกัมพูชาเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทาน โดยมีรายงานข่าวจากสื่อจีนที่ไม่ยืนยันว่า CRBC อาจได้รับสัมปทาน 40-50 ปี  

ทุกวันนี้กัมพูชาพึ่งพาการพัฒนาเศรษฐกิจจากจีนเป็นหลัก โดยในปี 2022 รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติการลงทุนจากจีนอันดับ 1 ในสัดส่วนกว่า 90%  อีกทั้งจีนยังช่วยเหลือด้านอื่นๆ ภายในประเทศแก่กัมพูชา เนื่องจากกัมพูชาเป็นหนึ่งในพันธมิตรโครงการ BRI ทำให้เม็ดเงินของประเทศอื่นๆ อาจจะไม่ได้สำคัญเท่าเม็ดเงินที่จีนเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ เนื่องจากกัมพูชายังต้องพึ่งพาทุนจีนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและฟื้นฟูเศรษฐกิจ   

แต่การที่กัมพูชาพึ่งพาจีนมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดี แม้ว่าการลงทุนของจีนมีบทบาทสำคัญในการสร้างงานและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่กัมพูชา แต่ก็อาจสร้างความกังวลในระยะยาวได้หากเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในช่วงขาลง   

Photo by Suy SE / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์