กัมพูชาเรียกร้องไทยยอมรับเขตอำนาจศาลโลก อ้างมาเลย์-สิงคโปร์ก็เคยไป ICJ

6 ก.ค. 2568 - 02:54

  • แถลงการณ์ระบุว่า เหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม บริเวณช่องบกเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชาอย่างร้ายแรง

  • กัมพูชาอ้างถึงประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการนำข้อพิพาทชายแดนขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น มาเลเซียกับอินโดนีเซียในปี 2002 และมาเลเซียกับสิงคโปร์สิงคโปร์ในปี 2008

กัมพูชาเรียกร้องไทยยอมรับเขตอำนาจศาลโลก อ้างมาเลย์-สิงคโปร์ก็เคยไป ICJ

กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนต่อความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารกัมพูชาและชุดลาดตระเวนของไทย บริเวณจุดชมวิวภูผี จ.ศรีสะเกษ

ประกาศ 8 ประการที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศระบุถึงการตอบสนองอย่างเป็นทางการของกัมพูชาและเรียกร้องให้แก้ปัญหาโดยสันติ ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

แถลงการณ์เริ่มตั้งแต่การบรรยายรายละเอียดของเหตุการณ์ปะทะกัน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม บริเวณช่องบก โดยกัมพูชากล่าวหาฝ่ายไทยว่ารุกล้ำดินแดน และเป็นฝ่ายยิงใส่ที่มั่นของทหารกัมพูชา ทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิตไป 1 นาย

แถลงการณ์ระบุต่อว่า รัฐบาลกัมพูชาตอบโต้ด้วยการประท้วงอย่างรุนแรง โดยประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชาอย่างร้ายแรง โดยระบุว่าการโจมตีดังกล่าวขัดต่อหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ บรรทัดฐานอาเซียน และกฎหมายระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเที่ยงธรรม เพื่อนำความยุติธรรมมาสู่ทหารที่เสียชีวิต

แม้ว่าจะมีการรุกรานดังกล่าว แต่รัฐบาลกัมพูชาก็เน้นย้ำว่าได้แสดงความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ และดำเนินมาตรการที่รับผิดชอบเพื่อหลีกเลี่ยงการยกระดับความรุนแรงต่อไป แต่ความตึงเครียดกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยเพิ่มกำลังทหารตามแนวชายแดน ทำให้กัมพูชาต้องใช้มาตรการป้องตนเองที่จำเป็นเพื่อขัดขวางการรุกราน

แถลงการณ์ดังกล่าวยังวิพากษ์วิจารณ์ไทยเกี่ยวกับการดำเนินการฝ่ายเดียวหลายครั้งที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เช่น การปิดจุดตรวจชายแดนโดยไม่ได้ปรึกษาหารือล่วงหน้า การขุดสนามเพลาะในพื้นที่พิพาท และการขู่ที่จะตัดบริการที่จำเป็น เช่น อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า และเชื้อเพลิง รัฐบาลกัมพูชาระบุว่า การดำเนินการเหล่านี้ทำให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาค

กัมพูชายังคงเรียกร้องให้ไทยยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) โดยอ้างถึงประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการนำข้อพิพาทชายแดนขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น มาเลเซียกับอินโดนีเซียในปี 2002  และมาเลเซียกับสิงคโปร์สิงคโปร์ในปี 2008 โดยระบุว่า การยอมรับอำนาจศาล จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ และสะท้อนถึงความปรารถนาในการแก้ปัญหาอย่างสันติ ยุติธรรม และยั่งยืน

ขณะเดียวกัน กัมพูชาเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาอย่างสันติ แต่ก็พร้อมจะปกป้องอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน ซึ่งเป็นสิทธิที่คุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐบาลกัมพูชาหวังว่าวันหนึ่งพื้นที่ชายแดนแห่งนี้จะเปลี่ยนเป็นเขตสันติภาพ มีความร่วมมือ และการพัฒนาร่วมกันเพื่อประโยชน์ร่วมของทั้งสองประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาปิดท้ายแถลงการณ์ด้วยการเรียกร้องให้ไทยดำเนินการด้วยความจริงใจ เคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนถึงค่านิยมอาเซียน และความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์