กัมพูชาพบรูปปั้น ‘ทวารบาล’ อายุนับพันปี ณ แหล่งมรดกโลกนครวัด

1 พ.ย. 2567 - 05:48

  • การขุดพบรูปปั้นหินทรายอายุนับพันปีดังกล่าว ถือเป็น ‘การค้นพบที่น่าทึ่ง’ ณ แหล่งมรดกโลกนครวัดใกล้กับเมืองเสียมราฐ

  • โฆษกสำนักงานแห่งชาติอัปสรา เผยว่า “รูปปั้นเหล่านี้มีลักษณะเหมือน ‘ทวารบาล’ ถูกค้นพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้วใกล้ประตูทางเหนือที่นำไปสู่พระราชวังหลวงสมัยศตวรรษที่ 11 ที่นครธม เมืองหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรเขมร”

cambodian-archaeologist-discover-dozen-centuries-old-sandstone-statues-SPACEBAR-Hero.jpg

นักโบราณคดีในกัมพูชาได้ขุดพบรูปปั้นหินทรายอายุนับพันปี ถือเป็น ‘การค้นพบที่น่าทึ่ง’ ณ แหล่งมรดกโลกนครวัดใกล้กับเมืองเสียมราฐ โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานแห่งชาติอัปสรา และทีมรัฐบาลจีน-กัมพูชาเพื่อปกป้องนครวัด 

“รูปปั้นเหล่านี้มีลักษณะเหมือน ‘ทวารบาล’ (หรือ ผู้อารักขาประตู) ถูกค้นพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้วใกล้ประตูทางเหนือที่นำไปสู่พระราชวังหลวงสมัยศตวรรษที่ 11 ที่นครธม เมืองหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรเขมร” ลอง โคซาล โฆษกสำนักงานแห่งชาติอัปสรา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลอุทยานโบราณคดี กล่าว 

ทีมงานกำลังประเมินโครงสร้างประตูโบราณและค้นหาหินที่ร่วงหล่นรอบๆ ประตูทางด้านเหนือของนครธม ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ทางเข้าของกลุ่มประตูนี้ รูปปั้นเหล่านี้เป็นรูปปั้นทวารบาลยืนตรงและมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ประมาณ 1 เมตรถึง 110 เซนติเมตร หรือประมาณ 39-43 นิ้ว 

รูปปั้นเหล่านี้ถูกค้นพบฝังอยู่ที่ความลึกถึง 1.4 เมตร และบางชิ้นอยู่ในสภาพดีอย่างน่าประหลาดใจ โดยแต่ละชิ้นมีเครื่องประดับขนบนใบหน้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับรูปปั้นเหล่านี้

“ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ารูปปั้นทวารบาลเหล่านี้เป็นตัวอย่างของรูปแบบคลัง (Khneang) ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาการก่อสร้างพระราชวังในศตวรรษที่ 11” สำนักงานแห่งชาติอัปสรา กล่าว 

นครธมเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานโบราณคดีนครวัด ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารที่มีความกว้างกว่า 400 ตารางกิโลเมตร ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 1992 และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ภายในอุทยานมีซากปรักหักพังของเมืองหลวงอาณาจักรขอมตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ถึงศตวรรษที่ 15 รวมถึงปราสาทนครวัดด้วย 

ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาระบุว่า สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับเสียมราฐ ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 320 กิโลเมตร ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 500,000 คนในช่วงครึ่งแรกของปี 2024  

หลังจากค้นพบรูปปั้นเหล่านี้ ทีมโบราณคดีได้บันทึกตำแหน่งของรูปปั้นเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะเคลื่อนย้ายออกไปทำความสะอาดและบูรณะ จากนั้น รูปปั้นเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยังตำแหน่งเดิม  

สมบัติทางวัฒนธรรมของเขมรจำนวนมากถูกปล้นสะดมในช่วงสงครามกลางเมืองอันยาวนาน ในช่วงเวลาที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเขมรแดงคอมมิวนิสต์อันโหดร้ายในช่วงทศวรรษ 1970 

อย่างไรก็ดี กัมพูชาได้รับประโยชน์จากกระแสการนำงานศิลปะและสมบัติทางโบราณคดีที่ถูกยึดจากบ้านเกิดกลับประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในเดือนสิงหาคม กัมพูชาได้เฉลิมฉลองการนำโบราณวัตถุหลายสิบชิ้นจากพิพิธภัณฑ์และของสะสมส่วนตัวในต่างประะเทศกลับคืนมา 

กัมพูชาถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพยายามในการจัดระเบียบในโบราณสถานนครวัด เพราะต้องอพยพผู้คนหลายพันครอบครัวที่อาศัยอยู่ใกล้นครวัดออกไปจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสาล (Amnesty International) ประณามว่าเป็น ‘การละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง’ 

Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์