ความหวังคนไทย! ‘Xaver-400’ เรดาร์อัจฉริยะจากอิสราเอลที่เคยใช้หาผู้รอดชีวิตเหตุแผ่นดินไหวตุรกี-เม็กซิโก

2 เม.ย. 2568 - 10:14

  • หนึ่งในอุปกรณ์ช่วยค้นหาอัจฉริยะที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในภารกิจนี้ก็คือ ‘ระบบเรดาร์ Xaver-400’ ของบริษัท ‘Camero-Tech’ ซึ่งเจ้าหน้าที่อิสราเอลนำมาช่วยค้นหาผู้รอดชีวิต

  • SPACEBAR จะพาไปสำรวจความอัจฉริยะของเรดาร์ตัวนี้ว่ามีฟีเจอร์เด่นๆ อะไร แล้วทำงานยังไงบ้าง

camero-tech-xaver-400-system-saves-lives-in-the-earthquake-disaster-2-SPACEBAR-Hero.jpg

ภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู้ใต้ซากตึก สตง.ถล่มยังคงดำเนินเรื่อยมาต่อเนื่องเข้าสู่วันที่ 5 แล้ว ทั้งทีมกู้ภัย ทีมแพทย์ของไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ 4 ขาอย่างสุนัขกู้ภัย ‘K9’ ต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังไม่หยุดพัก นอกจากนี้ยังมีทีมกู้ภัยจากต่างประเทศมากมายหลายชาติมาสมทบ พร้อมอุปกรณ์ช่วยค้นหาล้ำสมัยด้วย 

และหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยค้นหาอัจฉริยะที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในภารกิจนี้ก็คือ ‘ระบบเรดาร์ Xaver-400’ ของบริษัท ‘Camero-Tech’ ซึ่งเจ้าหน้าที่อิสราเอลนำมาช่วยค้นหาผู้รอดชีวิต SPACEBAR จะพาไปสำรวจความอัจฉริยะของเรดาร์ตัวนี้ว่าทำอะไรได้บ้าง 

เรดาร์ทะลุกำแพง ‘Xaver-400’

‘Xaver-400’ เป็นเรดาร์ทะลุกำแพงแบบ 3 มิติของอิสราเอลที่นิยมใช้ในหน่วยทหารและตำรวจพิเศษทั่วโลก เทคโนโลยีทางทหารชนิดนี้สามารถตรวจจับวัตถุและบุคคลที่อยู่หลังกำแพงตั้งแต่แผ่นยิปซัมบางไปจนถึงคอนกรีตเสริมเหล็กในสถานการณ์ภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ และไฟไหม้ ทั้งยังสามารถตรวจจับการหายใจของคนที่มีชีวิตซึ่งถูกฝังอยู่ใต้เศษซากปรักหักพัง แม้ว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหว 

อุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา 3.2 กิโลกรัม และใช้งานง่าย ช่วยให้เคลื่อนย้ายและควบคุมได้คล่องตัว ตัวระบบพร้อมใช้งานได้เลยเพียงแค่กดปุ่มโดยไม่ต้องอุ่นเครื่องก่อน การออกแบบปรับให้เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติการทางยุทธวิธี

ฟีเจอร์เด่นๆ :

  • ตรวจจับวัตถุคงที่และเคลื่อนที่พร้อมกัน 
  • ตรวจจับผ่านอิฐ คอนกรีต ซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้างมาตรฐานอื่นๆ 
  • ระยะการตรวจจับสูงสุด 20 เมตร  
  • สามารถควบคุมระยะไกลได้โดยไม่ต้องติดผนัง (ภายในระยะ 20 เมตร)  
  • ปลอดภัยต่อรังสีอย่างแน่นอน 
  • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขนาดห้อง และองค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

เรดาร์อัจฉริยะทำงานยังไง...

เรดาร์ ‘Xaver-400’ ทำงานโดยการส่งคลื่นวิทยุด้วยแบนด์วิดท์กว้าง (wide bandwidth) ที่มีความถี่ต่ำ ตัวคลื่นจะวิ่งผ่านเศษหิน หรือผนังอาคาร และรับสัญญาณกลับมา จากนั้นสัญญาณเหล่านี้จะถูกวิเคราะห์โดยอัลกอริทึมอันทรงพลังซึ่งสามารถตรวจจับได้แบบเรียลไทม์ว่ามีการเคลื่อนไหว หรือการหายใจภายในพื้นที่ที่ตึกถล่มหรือไม่ 

อัลกอริทึมจะประมวลผลข้อมูลในระบบ ‘Camero-Tech’ ทำให้ทีมกู้ภัยสามารถระบุสิ่งที่พบเห็นได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ระบบเรดาร์ขนาดเล็กเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้งานกับโดรน และสื่อสารด้วยเทคโนโลยีไร้สาย ตลอดจนนำไปใช้งานในโครงสร้างอันตราย และส่งข้อมูลตอบกลับไปยังทีมกู้ภัยได้ 

แต่ความท้าทายหลังจากตึกพังทลายก็คือ ขั้นแรกต้องเข้าใจว่ากำลังค้นหาเศษซากประเภทใด และผู้รอดชีวิตอยู่ที่ไหน ตัวอย่างเช่น หากพื้นของอาคารถล่มลงมาทับพื้นด้านล่าง โดยไม่มีบริเวณที่รอดชีวิต เช่น ห้องนิรภัยคอนกรีต ดังนั้น โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตนั้นก็มีน้อยมาก 

ส่วนระบบอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าเรดาร์ ‘Xaver-400’ จากบริษัทเดียวกันนั้นจะสามารถใช้งานได้ในระยะไกลขึ้น สูงสุด 100 เมตร (ประมาณ 330 ฟุต) ซึ่งอาจมีประโยชน์ในกรณีที่อาคารเกิดไฟไหม้ หรือหากอันตรายเกินกว่าที่จะเข้าไปในพื้นที่นั้น

เคยถูกนำไปปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นไหวตุรกี-เม็กซิโก

เหตุแผ่นดินไหวเม็กซิโกเมื่อปี 2017 ขนาด 8.2 นับเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่บันทึกไว้ในประเทศในรอบศตวรรษ และหนึ่งในอุปกรณ์ค้นหาผู้รอดชีวิตที่ถูกนำมาใช้ก็คือ เรดาร์ ‘Xaver-400’ ของอิสราเอล 

“เราได้รับรายงานจากตัวแทนของเราในเม็กซิโกว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังใช้เทคโนโลยีของเราที่นั่น และเขาได้ส่งภาพทางทีวีมาให้เราซึ่งเผยให้เห็นระบบเรดาร์ของเราขณะใช้งาน เราทราบจากรายงานในเม็กซิโกว่าระบบของเราช่วยชีวิตคนจำนวนมากได้ และนั่นทำให้เราพอใจมาก เพราะความเป็นไปได้ในการค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากปรักหักพังในเวลาอันสั้นและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นเครื่องมือหลักในการช่วยชีวิตผู้คนที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว” อามีร์ บีรี ซีอีโอของบริษัท กล่าว   

เท่านั้นไม่พอ แต่ เรดาร์ ‘Xaver-400’ ยังถูกนำมาใช้ค้นหาผู้รอดชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวตุรกีปี 2023 ขนาด 7.8 อีกด้วย 

“...เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ระบบเรดาร์ของเราสามารถช่วยค้นหาในภารกิจกู้ภัยได้สำเร็จ เทคโนโลยีที่เราพัฒนามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมักใช้ในภารกิจทางทหารและการบังคับใช้กฎหมาย ยังคงพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในจุดประสงค์ดั้งเดิมในการช่วยชีวิตผู้คน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เห็นความสำเร็จของเทคโนโลยีพิเศษของเราในพื้นที่ภัยพิบัติ” บีรี ซีอีโอของบริษัท กล่าว   

ส่วนเคสในประเทศไทย อิสราเอลได้ส่งทีมกู้ภัยไปช่วยเหลือในพื้นที่ตึก สตง.ถล่มเมื่อวันอาทิตย์ (30 มี.ค.) โดยมีทีมงานจาก Camero-Tech ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีล้ำสมัยเดินทางไปถึงเป็นชุดแรก 

“เราสามารถค้นหาผู้รอดชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ใต้ซากปรักหักพังลึก 5 เมตรได้สำเร็จ” อิลาน อับราโมวิช รองประธานฝ่ายการตลาด การขาย และพัฒนาธุรกิจของ Camero-Tech กล่าว 

ทีมกู้ภัยสามารถระบุตัวผู้รอดชีวิตคนแรกได้โดยใช้เรดาร์ ‘Xaver-400’ ขั้นสูงที่สามารถตรวจจับสัญญาณของสิ่งมีชีวิตผ่านกำแพง เมื่อตรวจพบสัญญาณของสิ่งมีชีวิต ทีมกู้ภัยจึงเริ่มปฏิบัติการกู้ภัยร่วมกับทางการไทยทันที  

Photo ‘Xaver-400’ : Youtube @CameroXaver

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์