ต่างชาติวิเคราะห์ นโยบายแจกแหลกไม่ช่วยคนไทยพึ่งตัวเอง

9 พ.ค. 2566 - 09:52

  • นักวิเคราะห์ต่างประเทศมอง นโยบายลดแลกแจกแถม แต่ไม่บอกวิธีหารายได้ของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นเพียงการช่วยเหลือชั่วคราวที่ไม่ช่วยให้คนไทยพึ่งตัวเองได้ 

campaign-freebies-band-aid-solution-with-fiscal-risks-SPACEBAR-Hero
สำนักข่าว CNBC รายงานถึงสถานการณ์การเลือกตั้งของไทยว่า ประเด็นใหญ่ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ความสนใจอยู่ที่เรื่องของปากท้องอย่าง ค่าจ้างขั้นต่ำ การจ่ายเงินอุดหนุนเกษตรกร และสวัสดิการต่างๆ   
 
ประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียนกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแล้วและอัตราว่างงานจะต่ำกว่า 1% ก็ตาม แต่ไทยก็เผชิญกับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นบิลค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่สูงลิ่ว จำนวนผู้ว่าจ้างยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด หนี้ครัวเรือนกำลังสูงขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ และการเติบโตของรายได้ต่อหัวต่อปีลดลงตั้งแต่ปี 2018  
 
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงเน้นนโยบายแจกแหลก อาทิ เงินสนับสนุนและการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์กังวลว่าจะทำให้การคลังของประเทศเสียสมดุล 
 
พรรคการเมืองที่ลงชิงเก้าอี้แบ่งออกป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่สนับสนุนทหาร ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มที่หนุนประชาธิปไตยอย่างเพื่อไทย ก้าวไกล และภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคที่หนุนทั้งประชาธิปไตยและทหาร 
 
บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่า ฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะทำได้ดีมากเมื่อพิจารณาจากความไม่พอใจที่หยั่งรากลึกที่มีต่อรัฐบาลปัจจุบันที่มาจากทหาร แต่สุดท้ายแล้วใครก็ตามที่ชนะก็ยังต้องได้รับการรับรองจากกองทัพและสถาบัน ซึ่งนักเคลื่อนไหวกล่าวว่าทำให้โอกาสของการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมมืดมนลง 
 
Syetarn Hansakul นักวิเคราะห์จาก Economist Intelligence Unit เผยกับ CNBC ว่า แม้จะมีสถานะที่อ่อนแอ แต่การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ “เขาสามารถพึ่งพาแรงสนับสนุนจาก ส.ว. 250 เสียง และแรงหนุนจากพรรคอื่นๆ หากสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่รับรองให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ส.ว. นั่นอาจนำมาสู่การลงถนนประท้วงอีกครั้ง” 
 
นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ในมุมมองของเรา ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งของไทยยังไม่แน่นอน และอาจออกมาแตกต่างจากโพลล์สำรวจความคิดเห็น การตั้งคณะรัฐบาลอาจล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการตกลงจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขัดขวางการกำหนดนโยบาย” 

แจกแหลก

พรรคการเมืองต่างสัญญาว่าจะลดแลกแจกแถมเพื่อดึงดูดผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติจะเพิ่มเงินสนับสนุนเกษตรกรและเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการและผู้สูงอายุ พรรคเพื่อไทยจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท (ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท) เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายในปี 2027 รวมทั้งเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่วนพรรคก้าวไกลเสนอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาทและเพิ่มสวัสดิการต่างๆ พรรคภูมิใจไทยจะพักหนี้ให้เกษตรกร 3 ปี แจกประกันชีวิตผู้สูงอายุ 

ทว่ากลับไม่ค่อยมีรายละเอียดเรื่องการหาเงินเหล่านี้ ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์กังวลว่านโยบายเหล่านี้จะเป็นภาระการเงินการคลังของประเทศที่ตึงตัวหลังจากใช้งบประมาณช่วยเหลือประชาชนช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปมหาศาลแล้ว บริษัทให้บริการจัดเก็บหนี้ Coface เตือนว่า หนี้สาธารณะของไทยพุ่งเกิน 60% ของจีดีพีนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2023  
 
การวิเคราะห์เมื่อเร็วๆ นี้ของสถาบันคลังสมอง Observer Research Foundation พูดถึงนโยบายประชานิยมนี้ว่าเป็น “วิธีการช่วยเหลือชั่วคราวที่จะให้การผ่อนปรนอย่างจำกัดแก่ประชาชนที่เป็นหนี้โดยไม่จูงใจให้พวกเขาพึ่งพาตนเอง” โดยความเห็นนี้อ้างถึงหนี้ครัวเรือนของไทยที่พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 86.8% ของจีดีพี ณ ช่วงปลายปี 2022  
 
ด้วยความที่การเงินการคลังตึงตัว DBS คาดว่า รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ที่จะปฏิบัติตามสัญญาอย่างเต็มที่ได้ “ยาก”  นอกจากนี้ การประท้วงใดๆ หลังการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

ประเด็นร้อนอื่นๆ

ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้เกิดการประท้วงตั้งแต่ปี 2020 ไปจนถึงปี 2021 ท่ามกลางการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน โดยเฉพาะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีเพียงพรรคก้าวไกลที่หาเสียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว ขณะที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดไว้ว่าจะนำเข้าที่ประชุมสภาเพื่อหารือ 

CNBC ระบุว่า ตามความเป็นจริงแล้ว เว้นแต่ว่าพรรคก้าวไกลจะจบลงด้วยการเป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้สำหรับผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่น่าจะอยู่ในวาระการประชุมของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 
 
Syetarn Hansakul เผยว่า การประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องความยุติธรรมและรายได้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลใหม่ไม่ควรมองข้าม รัฐบาลใหม่จะถูกเรียกร้องให้สร้างสนามแข่งที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อให้แข่งขันได้ดีขึ้น ให้ขยายโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม ให้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษา และช่วยให้แรงงานสามารถเผชิญกับความท้าทายของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น 

การควบคุมกัญชาเป็นอีกเรื่องเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลใหม่ 

เมื่อถูกถามถึงโอกาสที่กัญชาจะกลับมาเป็นสิ่งผิดกฎหมายอีกครั้ง วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านสาธารณสุขและการเกษตรจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยว่า เป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะเกิดขึ้น “วาทกรรมปัจจุบันที่ใช้โดยเกือบทุกพรรคหลักคือกัญชาที่ใช้รักษาโรค ความแตกต่างหลักคือวิธีการผ่อนปรนที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะนำไปใช้” 
 
วิโรจน์เผยอีกว่า แม้ว่าพรรคอนุรักษนิยมสุดโต่งอย่างรวมไทยสร้างชาติจะชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หากไม่มีภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติต้องยอมให้พรรคภูมิใจไทยโปรโมตนโยบายกัญชาอย่างที่เป็นอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์