งานวิจัยอธิบายปริศนาเงินๆ ทองๆ จริงๆ แล้ว ‘เงินซื้อความสุขได้จริงหรอ?’

17 กุมภาพันธ์ 2567 - 23:00

can-money-buy-happiness-here-whats-research-says-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘เงินซื้อความสุขได้จริงหรือเปล่า?’ คำถามที่ใครๆ ก็ตอบได้ง่ายมากๆ แต่จริงๆ แล้ว ตอนนี้คุณมี ‘ความสุข’ หรือ ‘ความทุกข์’ กันแน่นะ

  • งานวิจัยมีคำตอบว่า ‘เงินเยอะ’ ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นตามไปด้วยจริงไหม?

  • ระหว่าง ‘รายได้’ หรือ ‘เงินเยอะ’ และ ‘ความมั่งคั่ง’ อะไรที่ยืนยงกว่ากัน

เงินซื้อ ‘ความสุข’ ได้จริงหรอ?

คำถามที่ใครหลายคนมักจะตอบทันทีเลยว่า “ซื้อได้สิ” “ทำไมจะซื้อไม่ได้ล่ะ?” “แค่มีเงินเราก็ได้ทุกอย่างที่เราต้องการนะ” “อยากไปเที่ยวไหนก็ได้ไป” “เงินสร้างโอกาสนะ” “แล้วมันจะซื้อความสุขไม่ได้ได้อย่างไร?”

จริงๆ แล้วมันมองได้หลายแง่มุมนะ ส่วนหนึ่งหากเรามีเงินใช้มันก็ดีจริงๆ นั่นแหละ แต่บางบ้านก็ไม่ได้มีความสุขเพราะรวยหรอกนะ เพราะลูกหลานคอยจ้องแต่จะเอามรดก บางบ้านไม่มีปัญหาเรื่องนี้ก็ดีไป มหาเศรษฐีระดับโลกบางคนก็ใช่ว่าจะไม่ทุกข์ มีเงินเยอะมากก็เสียภาษีมากเหมือนกัน พวกเขาจึงหาวิธีที่จะจ่ายให้น้อยที่สุดแต่ก็ยังได้กำไรกลับมาด้วย หรือบางคนเอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศในดินแดนภาษีต่ำอีกด้วย 

หากมองแบบนามธรรมในด้านของความสัมพันธ์ไม่ว่าจะในรูปแบบเพื่อน แฟน หรือคนรัก  หากขาดสะบั้นไปเงินก็ซื้อความสัมพันธ์แบบเดิมกลับมาไม่ได้ บางครอบครัวเลิกราหย่าร้างกันไปเงินก็ไม่สามารถสานรอยร้าวที่แตกให้กลับมาเหมือนเดิมด้วยเช่นเดียวกัน 

ฉันใดก็ฉันนั้น งานวิจัยก็มีคำอธิบายในปริศนาเงินๆ ทองๆ นี้ด้วยเหมือนกันว่าจริงๆ แล้ว “เงินซื้อความสุขได้จริงหรือเปล่า?” 

เงินมากขึ้น = สุขมากขึ้น?

can-money-buy-happiness-here-whats-research-says-SPACEBAR-Photo01.jpg

งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในปี 2021 ของนักวิจัย ‘แมทธิว คิลลิงสเวิร์ธ’ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย กลับได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2010 ของ ‘แดเนียล คาฮ์นะมัน’ นักจิตวิทยา และ ‘แองกัส ดีตัน’ นักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งงานวิจัยปี 2010 พบว่า “ความสุขในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น แต่หากสูงกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.7 ล้านบาท) ความสุขก็จะลดลง” (***งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นนี้อิงกลุ่มเป้าหมายชาวอเมริกัน) 

กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “เงินสามารถซื้อความสุขได้เพียงจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น และจุดนั้นกล่าวกันว่ามีมูลค่าประมาณ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะนั้น” 

“รายงานในปี 2010 พบว่า ‘ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับความสุข’ หรือ ‘สุขภาวะ’ นั้นหยุดที่ประมาณ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ” คอสตาดิน คูชเลฟ นักวิจัยด้านความสุขและผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว 

แต่ตอนนี้หนึ่งในนักวิจัยเหล่านั้นบอกว่าเขาคิดผิดเกี่ยวกับมูลค่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่ใช่เพียงเพราะว่าทุกอย่างมีราคาแพงมากในสมัยนี้ ทว่างานวิจัยในปี 2021 ก็พบว่า “ความสุขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหากมีรายได้เกินกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไม่มีหลักฐานว่าสูงถึงไหน” 

อย่างไรก็ดี บทความที่คาฮ์นะมันเขียนร่วมกับคิลลิงส์เวิร์ธ และบาร์บารา เมลเลอร์สในปี 2023 สรุปว่า “งานวิจัยในปี 2010 กล่าวถึงระดับสูงสุดของรายได้นั้นเกินจริง เนื่องจากใช้วิธีการที่ไม่น่าเชื่อถือในการวัดความสุขจากการสำรวจของแกลลัพ (บริษัททำโพล / Gallup) ซึ่งเป็นการถามผู้เข้ารับการวิจัยเพียงแค่ว่าพวกเขาได้ยิ้มเมื่อวันก่อนหรือไม่” 

สำหรับงานวิจัยในปี 2023 ได้ทำการสำรวจผู้ใหญ่ 33,391 คนที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มีงานทำ และรายได้ครัวเรือนอย่างน้อย 10,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 3.6 แสนบาท) ผู้เข้าร่วมจะถูกขอให้รายงานความรู้สึกของตัวเองโดยสุ่มช่วงเวลาในแต่ละวันผ่านแอปสมาร์ทโฟนที่พัฒนาโดยคิลลิงส์เวิร์ธที่เรียกว่า ‘Track Your Happiness’ เพื่อวัดระดับความสุข  

“ข้อมูลดังกล่าวมาจากการส่งข้อความหาผู้คนซ้ำๆ ในช่วงเวลาสุ่มในชีวิตประจำวัน และถามถึงความสุขของพวกเขาในขณะนั้นแบบเรียลไทม์ว่า ‘ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไร’ โดยให้คะแนนอารมณ์ของตัวเองในระดับตั้งแต่ "แย่มาก" ถึง "ดีมาก” คิลลิงส์เวิร์ธกล่าว 

ผลการศึกษาได้ข้อสรุปสำคัญ 2 ประการ  

  • ประการแรก “ความสุขยังคงเพิ่มขึ้นพร้อมกับรายได้ สำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ‘การมีเงินมากขึ้นสามารถทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้นตามไปด้วย’” 
  • ประการที่ 2 พบว่า “มีส่วนน้อยที่ ‘ไม่มีความสุข’ ประมาณ 20% ของผู้เข้าร่วม ซึ่งความทุกข์จะลดลงก็ต่อเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นถึงเกณฑ์ จากนั้นก็ไม่แสดงความคืบหน้าอีกต่อไป”…คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะประสบ ‘ความทุกข์ยาก’ เชิงลบ ซึ่งโดยทั่วไปไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยการหารายได้มากขึ้น รายงานดังกล่าวอ้างอิงตัวอย่างต่างๆ เช่น อกหัก การสูญเสีย หรือภาวะซึมเศร้า สำหรับพวกเขา ‘ความทุกข์’ อาจลดลงเมื่อรายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.6 ล้านบาท) แต่ ‘เกินกว่านั้นน้อยมาก’ การศึกษาระบุ 

“สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว รายได้ที่มากขึ้นทำให้พวกเขาความสุขที่มากขึ้น แต่ข้อยกเว้นก็คือ ‘คนที่มีฐานะทางการเงินดีแต่ไม่มีความสุข’ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณรวยและมีความทุกข์ เงินมากขึ้นก็ไม่ช่วยอะไร ส่วนคนอื่นๆ เงินที่มากขึ้นจะทำให้พวกเขามีความสุขที่สูงขึ้นในระดับที่แตกต่างกันบ้าง” คิลลิงส์เวิร์ธกล่าว 

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า “เงินส่งผลต่อความสุขแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรายได้ ‘ในบรรดาผู้มีรายได้น้อย คนที่ไม่มีความสุขจะได้กำไร (เริ่มมีความสุข) จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่มีความสุขมากกว่า’ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จุดต่ำสุดของการกระจายความสุขจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าจุดสูงสุดในช่วงรายได้มาก” รายงานระบุ 

‘รายได้’ VS ‘ความมั่งคั่ง’

can-money-buy-happiness-here-whats-research-says-SPACEBAR-Photo02.jpg

‘รายได้’ คือ ‘สิ่งที่คุณได้รับต่อเดือนหรือต่อปีจากงาน ธุรกิจ หรือผลประโยชน์ของคุณ’ 

‘ความมั่งคั่ง’ เป็นผลมาจาก ‘การสะสมรายได้เมื่อเวลาผ่านไปที่คุณไม่ได้ใช้’

‘เหตุใดความมั่งคั่งจึงสำคัญต่อสมการความสุขมากกว่ารายได้?’  

  • โดยพื้นฐานแล้ว รายได้เป็นสิ่งชั่วคราว แต่ความมั่งคั่งเป็นสิ่งถาวร  
  • รายได้คือสิ่งที่คุณอาจสูญเสียได้ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะทำงานเก่งแค่ไหนหรือธุรกิจของคุณดำเนินไปได้ดีเพียงใด ก็เป็นไปได้เสมอที่เจ้านายของคุณจะตัดสินใจไล่คุณออกในวันพรุ่งนี้ หรือลูกค้าของคุณเลิกชอบผลิตภัณฑ์ของคุณแล้วคุณก็ล้มละลาย 

นอกจากนี้ เพื่อที่จะมีรายได้นั้นต่อไป โดยปกติคุณจะต้องทำงานต่อไป และถ้าคุณไม่รักงานที่คุณทำ คุณก็จะเครียดกับงาน…นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงแม้ว่าคุณจะมีรายได้สูง แต่ก็ยังมีความเครียดมากมายหากคุณต้องพึ่งพารายได้ในการดำรงชีวิต ดังนั้นรายได้ที่สูงขึ้นอาจไม่นำความสุขมาให้  

ในทางตรงกันข้าม ความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครแย่งไปจากคุณได้  กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ‘ความมั่งคั่ง’ ก็คือ การที่คุณทำงาน ทำธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการที่เรารัก นั่นคือ ‘ความสุข’ ส่วนเงินเดือนและรายได้เป็นผลพลอยได้ หรือ ‘กำไร’ เปรียบเทียบง่ายๆ เลยหากคุณไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เครียดทุกวัน ต่อให้เงินเดือนเยอะแค่ไหน แล้วคุณจะมีความสุขได้ยังไงกัน?

“เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยกำหนดความสุข เงินไม่ใช่เคล็ดลับของความสุข แต่อาจช่วยได้นิดหน่อย”

คิลลิงส์เวิร์ธกล่าว

หากถามว่า ‘เงินซื้อความสุขได้จริงเหรอ?’ คำตอบก็คือ ‘มันซื้อได้นะ’ ‘อาจจะซื้อได้แค่บางส่วน’ ‘แต่ไม่ได้ซื้อความสุขได้โดยตรง’ เพราะมันไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต จะดีกว่าไหมถ้าเรามีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีครอบครัวที่เข้าใจ มีเพื่อนคอยให้กำลังใจ มีคนที่เรารักอยู่เคียงข้าง มีสัตว์เลี้ยงขนปุยที่สร้างรอยยิ้มให้เราตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้แหละที่ต่อให้มีเงินมากมายมหาศาลก็ซื้อมาไม่ได้ มันมีค่ามากกว่านั้น และสร้างความสุขให้เราจริงๆ 

แล้วคุณล่ะ? คุณเห็นด้วยกับงานวิจัยชิ้นล่าสุดไหม? นิยามความสุขของคุณคืออะไรกัน? เงินสำคัญกับคุณมากแค่ไหน?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์