กรีนพีซเผยค่ายรถชั้นนำโลกสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 74 ล้านตัน

2 มิถุนายน 2566 - 03:37

carmakers-emitting-74-million-tonnes-of-co2-greenpeace-SPACEBAR-Hero
  •  กระบวนการใช้เหล็กเพื่อผลิตยานยนต์ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

  • ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 74 ล้านตันในแต่ละปี

  • การผลิตเหล็กสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 573 ล้านตันในปีที่แล้ว ซึ่งใกล้เคียงกับการปล่อยคาร์บอนต่อปีของออสเตรเลียทั้งประเทศ

กรีนพีซเผย ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 74 ล้านตันในแต่ละปี ตอกย้ำความพยายามแก้ปัญหาด้านมลพิษยังไม่ดีขึ้น ด้านรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งระงับการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศ หากสามารถเดินทางโดยรถไฟได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง 
     
กรีนพีซ องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกกำลังผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 74 ล้านตันในแต่ละปี เนื่องจากความล้มเหลวในการแยกคาร์บอนออกจากกระบวนการใช้เหล็กเพื่อผลิตยานยนต์ 
     
อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องพึ่งพาเหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างมาก และผู้ผลิตรถยนต์ 16 อันดับแรกของโลกใช้เหล็กประมาณ 39-65 ล้านตันในปี 2022 
      
รายงานระบุว่า โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ใช้เหล็ก 6.3 ล้านตันในปี 2022 เพียงปีเดียว ตามมาด้วยโฟล์กสวาเกน 5.2 ล้านตัน และฮุนได-เกีย 5.2 ล้านตัน 
   
กรีนพีซกล่าวว่า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมากในกระบวนการนี้ ทำให้อุณหภูมิของโลกเข้าใกล้ระดับ 1.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปอีก อันเป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกล่าวว่า จะทำให้เกิดภัยพิบัติต่อโลก 
   
หลิว เหวินเจี๋ย นักวิเคราะห์อาวุโสของกรีนพีซเอเชียตะวันออก กล่าวว่า “ผู้ผลิตรถยนต์กำลังนำเราไปสู่หายนะของสภาพอากาศ จากความล้มเหลวในการลดคาร์บอนในการจัดการเหล็กของพวกเขา เหล็กสำหรับยานยนต์มีรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) จำนวนมาก แต่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างฮุนได โฟล์กสวาเกน และโตโยต้า ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากเหล็กของพวกเขา เราต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์ใช้เหล็กน้อยลงและผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตเหล็กคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero-Carbon Steelmaking)” 
   
หลิว กล่าวอีกว่า การผลิตเหล็กสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 573 ล้านตันในปีที่แล้ว ซึ่งใกล้เคียงกับการปล่อยคาร์บอนต่อปีของออสเตรเลียทั้งประเทศ และรอยเท้าคาร์บอนปริมาณมากจะไม่เปลี่ยนแปลง หากไม่มีการมีส่วนร่วมมากขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งใช้เหล็กทั่วโลก 16% ในปีที่แล้ว 

นอกจากโตโยต้า โฟล์กสวาเกน และฮุนได-เกีย แล้ว รายชื่อบริษัทที่ได้รับการประเมินโดยกรีนพีซยังมี เจเนอรัลมอเตอร์ส (จีเอ็ม), สเตลแลนติส, ฟอร์ด, ฮอนด้า, นิสสัน, ซูซูกิ, จีลี่, บีเอ็มดับเบิลยู, เรโนลต์, เมอร์เซเดส-เบนซ์, เอสเอไอซีมอเตอร์, เกรตวอลล์มอเตอร์ และมาสด้า 

ไม่มีบริษัทใดเปิดเผยการปล่อยคาร์บอนจากการใช้เหล็ก และมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่เปิดเผยปริมาณการใช้เหล็กต่อปี 
  
กรีนพีซ กล่าวว่า บางบริษัท โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป พยายามลดคาร์บอนในการใช้เหล็กของตน และต้องการความพยายามมากกว่านี้ในเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเหล็กถึง 60% ของโลก และมีโครงการริเริ่มลดคาร์บอนที่นำโดยผู้ผลิตรถยนต์เพียงไม่กี่รายเท่านั้น 

“หากพวกเขาจริงจังกับการลดคาร์บอน ภายในปี 2030 ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องลดการปล่อยก๊าซจากเหล็กลงครึ่งหนึ่ง ขั้นตอนแรกคือการเปิดเผยตัวเลขการปล่อยก๊าซที่เกี่ยวข้องกับเหล็ก แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น” หลิวกล่าวและเสริมว่า “ผู้ผลิตรถยนต์ควรออกข้อผูกพันในการจัดหาเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งสัญญาณให้ผู้ผลิตเหล็กลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ในระยะยาว ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ตลอดสายการผลิต ทั้งจากการลดการใช้เหล็กและการเปลี่ยนไปใช้เหล็กคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างเต็มรูปแบบ” 
  
รายงานของกรีนพีซ ได้รับการเผยแพร่ในช่วงเดียวกับที่รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งระงับการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศ หากสามารถเดินทางโดยรถไฟได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง 
   
แม้คำสั่งระงับดังกล่าวจะเคยถูกบรรจุไว้ในกฎหมายด้านสภาพอากาศเมื่อปี 2021 และมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติแล้วก็ตาม แต่สายการบินบางแห่งได้สอบถามไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อให้ตรวจสอบว่าคำสั่งระงับดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 
  
ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะทำให้การเดินทางทางอากาศส่วนใหญ่ระหว่างกรุงปารีสและจุดหมายปลายทางต่างๆ ในประเทศ เช่นนองต์ ลียง และบอร์โด ไม่สามารถทำได้ ส่วนการต่อเครื่องบินจะไม่ได้รับผลกระทบ 
   
นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางโดยเครื่องบินที่ถูกสั่งห้ามในกรณีที่ใช้เวลาเทียบเคียงกับการเดินทางโดยรถไฟนั้นกินระยะเวลาราว 3 ชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่ากับการเดินทางจากปารีสไปยังเมืองท่าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอย่าง มาร์เซย์ด้วยรถไฟความเร็วสูง 
 
กฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า บริการรถไฟในเส้นทางเดียวกันจะต้องมาถี่ ตรงเวลา และเชื่อมต่อกันเพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสารที่จะเดินทางโดยเครื่องบิน และสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นได้ 
    
ผู้ที่ต้องการเดินทางในลักษณะดังกล่าว ควรจะเดินทางโดยรถไฟทั้งขาไปและขากลับได้ในวันเดียวกัน โดยใช้เวลาแปดชั่วโมงในการเดินทาง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์