453 ชั่วโมงอันตรายกับสถิติที่กินเนสส์ยังต้องขอร้องว่าอย่าหาทำ

15 กันยายน 2566 - 10:06

challenge-axed-by-guinness-world-records-too-dangerous-SPACEBAR-Thumbnail (1)
  •  เมื่อ 37 ปีที่แล้ว Guinness World Records ยุติการเฝ้าติดตามการทำสถิติอย่างหนึ่ง เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิต

กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ (Guinness World Records) เต็มไปด้วยบันทึกสถิติต่างๆ มากมาย แต่สถิติที่เราจะพูดถึงวันนี้คือ “การไม่นอน” 

เดฟ ฮันเตอร์ ดีเจจัดรายการวิทยุชาวอเมริกันวัย 23 ปี คือเจ้าของสถิติ “ไม่นอนหลับ” นานที่สุดคนแรก ด้วยเวลา 225 ชั่วโมง (9 วัน 9 ชั่วโมง) โดยฮันเตอร์กับ ปีเตอร์ ทริปป์ ดีเจวัย 32 ปีพยายามทำสถิตินี้ไปพร้อมๆ กัน โดยต่างคนต่างถ่ายทอดสดผ่านช่องทางของตัวเอง หนังสือพิมพ์ Miami News Record รายงานว่า หลังจากผ่านไป 140 ชั่วโมง ทั้งฮันเตอร์และทริปป์ต่างก็บอกว่ายังรู้สึกสบายๆ อยู่ 

ระหว่างทำสถิติฮันเตอร์ไม่ได้ใช้สารกระตุ้นใดๆ เลย แต่ทริปป์พึ่งสารที่ให้พลังงานอย่าง Ritalin ตามที่แพทย์แนะนำตอนที่เขาเกือบจะทรุด แต่ที่แย่กว่านั้นคือ หลังจากไม่ได้นอนมาหลายชั่วโมงอารมณ์ของทริปป์ก็เริ่มเอาแน่เอานอนไม่ได้ การรับรู้ช้าลง และเริ่มเห็นภาพหลอนภาพลวงตาต่างๆ ทั้งยังเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนของตัวเอง ทริปป์ยังอ้างว่าเขาเห็นหนูและแมว และมีอาการหวาดระแวง 

สถิติของฮันเตอร์อยู่มาจนถึงปี 1964 ก็ถูก แรนดี การ์ดเนอร์ นักเรียนมัธยมปลายวัย 17 ปี ทำลายลงโดยอาศัยเพียงน้ำอัดลม เสียงเพลงดังๆ และการอาบน้ำเย็นๆ เป็นตัวช่วยกระตุ้นร่างกายที่ทำให้เขาไม่นอนได้นานถึง 264 ชั่วโมง (11 วัน)  

ในช่วง 3 วันสุดท้ายแพทย์ก็ตรวจเช็คร่างกายการ์ดเนอร์ และแม้ว่าจะไม่ได้นอนหลับพักผ่อนมาหลายวัน การ์ดเนอร์ก็ชนะเกมพินบอลในตู้เกมได้ทุกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เกิดผลเสียกับร่างกายของเขาเลย แพทย์ระบุว่า ความสามารถในการวิเคราะห์ การรับรู้ ความจำ และการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายล้วนได้รับผลกระทบในความรุนแรงแตกต่างกันไป 

จอห์น รอสส์ แพทย์ที่เฝ้าดูการ์ดเนอร์ในช่วงที่บันทึกสถิติเผยว่า ในวันที่ 4 การ์ดเนอร์ก็เริ่มมีอาหารเห็นภาพหลอนและภาพลวงตา และสมาธิสั้น 

สถิติของการ์ดเนอร์อยู่ได้เพียง 2 สัปดาห์ก็มี จิม โธมัส หนุ่มแคลิฟอร์เนียวัย 20 ปีมาโค่นด้วยการไม่นอนต่อเนื่อง 266 ชั่วโมง 30 นาที (11 วัน 2 ชั่วโมง 30 นาที) เดือนถัดมา ตอยมี อาร์ตติอูรินปอยกา ซิลโว ชาวฟินแลนด์วัย 51 ปีก็โค่นแชมป์เก่าด้วยสถิติใหม่ 276 ชั่วโมง (11 วัน 12 ชั่วโมง) 

ปี 1974 โรเจอร์ กาย อิงลิช อีกหนึ่งหนุ่มจากแคลิฟอร์เนียทำลายสถิติด้วยการไม่นอนหลับนานถึง 288 ชั่มโมงติดต่อกัน (12 วัน) โดยไม่ใช้สารกระตุ้นอื่นนอกจากกาแฟ บันทึกสถิติของอิงลิชใน Guinness Book of Records 1974 ระบุไว้ว่า “เขามีอาการมองเห็นภาพหลอนตั้งการทดสอบที่อันตรายมากนี้” 

การก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของการไม่นอนหลับมาราธอนเกิดขึ้นในอีก 3 ปีถัดมา เมื่อ เมารีน เวสตัน จากเมืองเคมบริดจ์เชียร์ของสหราชอาณาจักรทำลายสถิติไปด้วยเวลา 449 ชั่วโมง (18 วัน 17 ชั่วโมง) แม้ดูเหมือนว่าเวสตันจะมีอาการเห็นภาพหลอนในช่วงท้ายๆ ของการบันทึกสถิติ แต่น่าแปลกใจว่าเธอร่างกายของเธอไม่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากการนอนไม่พอเลย 

ต่อมาในปี 1986 โรเบิร์ต แม็คโดนัลด์ จากรัฐแคลิฟอร์เนียก็โค่นสถิติของเวสตันด้วยตัวเลข 453 ชั่วโมง 40 นาที (18 วัน 21 ชั่วโมง 40 นาที) โดยเจ้าตัวเผยกับ UPI ว่า “มันไม่ง่ายเลย ผมพร้อมจะทรุดได้ทุกเมื่อ เพราะผมมีช่วงเวลาที่ยากลำบากตอนที่ไม่อยากอาหารเลย” แต่แม็คโดนัลด์ก็ไม่ได้รับผลกระทบยะระยาวจากการท้าทายร่างกายครั้งนั้น



ในที่สุดในปี 1997 กินเนสส์ก็ตัดสินใจยุติการบันทึกสสถิติไม่นอนหลับนานที่สุดไว้ที่ตัวเลขของแม็คโดนัลด์ โดยกินเนสส์ยืนยันว่า แม้ว่าเราจะไม่ติดตามบันทึกอีกต่อไป เนื่องจากอันตรายโดยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการอดนอน แต่เราสามารถพูดได้ว่าไม่มีใครทำลายสถิติของแม็คโดนัลด์ได้ 

กินเนสส์ให้เหตุผลที่ยุติไว้ว่า แม้ว่าเจ้าของสถิติจะมีอาการแตกต่างกันไปทั้งในแง่ของความรุนแรงและระยะเวลา แต่เรื่องราวของทุกคนก็ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การอดนอนเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของมนุษย์ เช่นเดียวกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่า แม้การอดนอนเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลกระทบกับสุขภาพกายและสุขภาพใจได้  

นอกจากนี้ กินเนสส์ยังมีเหตุผลอื่นอีก นั่นคือ ช่วงทศวรรษ 1960-1970 นักวิจัยเกี่ยวกับการนอนได้ค้นพบภาวะ microsleeps หรือการหลับในหรือหลับในระยะสั้นๆ ประมาณ 1-2 วินาที ซึ่งภาวะนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบอย่างแม่นยำหากไม่มีอุปกรณ์บันทึกทางสรีรวิทยาอย่างต่อเนื่อง 

อีกเหตุผลหนึ่งคือ มีคนที่ป่วยเป็น “โรคนอนไม่หลับมรณะ” (fatal familial insomnia) ซึ่งเป็นโรคที่หายาก โดยแรกเริ่มผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เมื่อเวลาผ่านไปก็จะพัฒนาเป็นการนอนไม่หลับ ทำให้มีปัญหาในการพูด เห็นภาพหลอน สมองเสื่อม และเสียชีวิตในที่สุด 

ด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสที่หนึ่งในผู้ป่วยเหล่านี้ทำสถิติได้โดยไม่รู้ตัวหากกินเนสส์ยังติดตามการทำลายสถิติต่อไป  

แต่ถึงแม้จะไม่ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ ก็ยังยากที่จะระบุสถิติโลกที่แท้จริงได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากเราไม่มีทางคำนวณการหลับแบบ microsleeps ในระหว่างการพยายามบันทึกสถิติที่ผ่านมา จึงทำให้การวัดขีดจำกัดว่ามนุษย์จะดำเนินชีวิตโดยไม่ได้นอนหลับได้ยาวนานแค่ไหนได้อย่างแม่นยำทำได้ยาก 

นับตั้งแต่ปี 1959-1986 สถิติโลกขยับขึ้นอย่างมากจาก 8 วันเป็นกว่า 18 วัน และนับตั้งแต่นั้นมาสถิติดังกล่าวไม่ได้ถูกทำลายมานานกว่า 37 ปีแล้ว ซึ่งอาจบอกได้ว่ามนุษย์ไม่สามารถอดนอนได้นานเกิน 19 วัน แต่หากแม็คโดนัลด์หรือเจ้าของสถิติคนอื่นๆ มีภาวะ microsleeps ขีดจำกัดนั้นก็อาจต่ำกว่า 19 วัน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์