เป็นไปได้ไหม? ที่คนเราจะมีโอกาสรอดชีวิตใต้ซากปรักหักพังได้นานกว่า 72 ชั่วโมง

31 มี.ค. 2568 - 09:37

  • หากผ่านไป 72 ชั่วโมงแล้ว...คนเราจะมีโอกาสรอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังได้นานกี่วัน?

  • แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ประสบเหตุจมอยู่ใต้ซากปรักหักพังจะมีโอกาสรอดชีวิตได้นานกว่า 3 วัน

chances-of-survival-may-be-up-to-a-week-after-earthquakes-SPACEBAR-Hero.jpg

ผ่านไป 72 ชั่วโมงแล้วสำหรับการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา และไทยที่ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางซากปรักหักพังที่เต็มไปด้วยอุปสรรคโดยเฉพาะที่เมียนมาซึ่งต้องเจอทั้งถนนชำรุด การสื่อสารไม่เสถียร และสงครามกลางเมือง 

แต่ยิ่งนานวัน ความหวังยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังเกิดภัยพิบัตินั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการค้นหาผู้รอดชีวิต และผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวมากกว่า 90% มักได้รับการช่วยเหลือภายใน 3 วันแรก เพราะหากนานกว่านี้ร่างกายของพวกเขาจะยิ่งขาดน้ำทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ประสบเหตุจมอยู่ใต้ซากปรักหักพังจะมีโอกาสรอดชีวิตได้นานกว่า 72 ชั่วโมง

“แม้จะพบผู้รอดชีวิตหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ได้ยาก แต่ก็มีเรื่องราวมากมายของผู้คนที่สามารถรอดชีวิตได้นานกว่า 7 วัน” ดร.จาโรน ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉินและภัยพิบัติจากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ กล่าว 

การกู้ภัยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากเกิดภัยพิบัติ หลังจากนั้น โอกาสรอดชีวิตจะลดลงในแต่ละวัน เนื่องจากผู้ประสบภัยจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือถูกฝังอยู่ใต้เศษซากที่หล่นลงมาอาจขาดน้ำและอากาศหายใจ “โดยทั่วไปแล้ว การจะพบผู้รอดชีวิตหลังจากวันที่ 5-7 นั้นเป็นเรื่องยาก...” ดร.ลี กล่าว 

“เป็นเรื่องแปลกที่จะมีผู้รอดชีวิตได้นานขนาดนี้...หลังจากผ่านไป 72 ชั่วโมง โอกาสที่จะรอดชีวิตมีน้อยมาก ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะพบผู้รอดชีวิตหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์” ดร.ซูซาน บริกส์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบาดเจ็บจากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ กล่าว

“ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น บาดแผลถูกทับ หรือแขนขาหัก เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับช่วงเวลาเอาชีวิตรอดที่สำคัญที่สุด หากคุณไม่สามารถดึงพวกเขาออกมาภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันมีค่านั้น โอกาสที่พวกเขาจะมีชีวิตรอดนั้นก็มีน้อยมาก...ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ต้องพึ่งยาก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อีกทั้งอายุ สภาพร่างกายและจิตใจล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ”

ดร.จอร์จ เชียมปัส ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินจากโรงเรียนแพทย์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าว

‘อายุน้อย’ มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า...

chances-of-survival-may-be-up-to-a-week-after-earthquakes-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Sai Aung MAIN / AFP / ทีมกู้ภัยกำลังช่วยเหลือผู้ประสบภับใต้ซากตึกจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2025

ดร.คริสโตเฟอร์ โคลเวลล์ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ฉุกเฉินจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวว่า “คุณจะเห็นสถานการณ์ต่างๆ มากมายที่บางคนได้รับการช่วยชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์ และบางคนก็รอดชีวิตภายใต้สภาวะที่เลวร้าย พวกเขามักเป็นกลุ่มคนอายุน้อย... 

“คนอายุ 20 ปีที่แข็งแรงจะทนต่อการขาดน้ำและสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายได้นานกว่าคนอายุ 80 ปีที่ไม่แข็งแรง” ดร.เคนจิ อินาบะ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบาดเจ็บจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน ซึ่งเคยออกปฏิบัติภารกิจในเหตุภัยพิบัติต่างๆ ทั่วโลก กล่าว 

แต่ อินาบะแย้งว่า “คนหนุ่มสาวที่แข็งแรงซึ่งเหนื่อยล้าและขาดน้ำหลังจากออกกำลังกายอย่างหนัก อาจไม่มีข้อได้เปรียบในการเอาชีวิตรอดเหนือคนอายุมากที่พักผ่อนหลังอาหารเย็น” 

ขณะที่ ดร.เชียมปัส เสริมว่า “สภาพจิตใจอาจส่งผลต่อการเอาชีวิตรอดได้เช่นกัน ผู้ที่ติดอยู่กับศพและไม่มีการติดต่อกับผู้รอดชีวิต หรือผู้ช่วยเหลือคนอื่นๆ อาจหมดหวัง แต่หากคุณมีใครสักคนที่ยังมีชีวิตอยู่ คุณทั้งสองจะต้องพึ่งพากันและกันเพื่อสู้ต่อไป” 

บางกรณีก็รอดชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์...แม้ผ่านช่วง 72 ชั่วโมงไปแล้ว!!!

chances-of-survival-may-be-up-to-a-week-after-earthquakes-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by Yasin AKGUL / AFP / เหตุแผ่นดินไหวทูร์เคียเมื่อปี 2023

ยกตัวอย่างเคสของหญิงชราวัย 90 ปี ซึ่งได้รับการช่วยเหลือออกมาจากบ้านที่พังถล่มทางตะวันตกของญี่ปุ่น หลังติดอยู่ในซากนานกว่า 5 วัน หรือราว 124 ชั่วโมงจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.6 บนคาบสมุทรโนโตะเมื่อเดือนมกราคม 2024  

อีกเคสหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2011 จากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง และคุณยายของเขาวัย 80 ปี แต่เคสคุณยายได้รับแจ้งว่ายังมีชีวิตอยู่หลังจากติดอยู่ในบ้านที่พังถล่มเป็นเวลานาน 9 วัน 

นอกจากนี้ เมื่อปี 2022 เจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลือเด็กสาวชาวเฮติวัย 16 ปีที่จมอยู่ใต้ซากแผ่นดินไหวในเมืองปอร์โตแปรงซ์ หลังจากผ่านไปนานถึง 15 วัน 

ส่วนอีกเคสพบในเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทูร์เคีย (ตุรกี) เมื่อช่วงต้นปี 2023 ซึ่งเจ้าหน้าที่พบ เบอร์เบอร์ ชายวัย 62 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวาน และติดอยู่ใต้ซากอาคารนาน 7 วัน หรือราว 187 ชั่วโมง แต่โชคดีที่เขามีขวดน้ำขวดหนึ่งไว้ประทังชีวิต พอน้ำหมด เขาก็ดื่มปัสสาวะตัวเองแทน 

(Photo by Sai Aung MAIN / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์