อินเดียไปดวงจันทร์แล้ว! โชว์ภาพถ่ายผิวดวงจันทร์ชุดแรก ลุ้นลงจอด

8 สิงหาคม 2566 - 05:10

chandrayaan-3-historic-india-moon-mission-new-photos-lunar-surface-SPACEBAR-Thumbnail
  • ภาพที่ถ่ายมาแสดงให้เห็นหลุมอุกกาบาตบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยานอวกาศเข้าใกล้

  • ยานจะเตรียมลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ หากสำเร็จ อินเดียจะเป็นประเทศแรกที่ควบคุมการ ‘ลงจอดได้อย่างนุ่มนวล’

ก้าวที่ 3 ของ ‘อินเดีย’ สู่ภารกิจ ‘พิชิตดวงจันทร์’ 

หลังจากที่อินเดียปล่อยยานภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ‘จันทรายาน-3’ (Chandrayaan-3) จากศูนย์อวกาศซาทิช ดาวัน (Satish Dhawan) บนเกาะชายฝั่งศรีหริโกตา (Sriharikota) รัฐอานธรประเทศ เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  

รายงานล่าสุดระบุว่า ยานภารกิจดังกล่าวโคจรรอบโลกประมาณ 10 วัน ก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์เมื่อวันเสาร์ (5 ส.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งทางองค์การอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation / ISRO) ได้เผยแพร่ภาพดวงจันทร์ชุดแรกที่ถ่ายโดยยานภารกิจจันทรายาน-3  

ในภาพที่ถ่ายมาแสดงให้เห็นหลุมอุกกาบาตบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยานอวกาศเข้าใกล้ ทั้งนี้ ยานจะเตรียมลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ หากสำเร็จ อินเดียจะเป็นประเทศแรกที่ควบคุมการ ‘ลงจอดอย่างนุ่มนวล’  

นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จรองจากสหรัฐฯ (ประเทศแรก) อดีตสหภาพโซเวียต (ประเทศที่ 2) และจีน (ประเทศที่ 3) 

ISRO ระบุว่า “การตรวจสอบทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าจันทรายาน-3 มีสภาวะที่ดี…นี่เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันที่ ISRO ประสบความสำเร็จในการปล่อยยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์…จันทรายาน-3 เป็นโครงการที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะสานต่อความสำเร็จภารกิจสำรวจดวงจันทร์ก่อนหน้านี้ 

เป็นเวลา 13 ปีหลังจากภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของอินเดีย ‘จันทรายาน-1’ (Chandrayaan-1) เมื่อปี 2008 ซึ่งค้นพบถึงการมีอยู่ของโมเลกุลของน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่แห้งผาก และพิสูจน์ได้ว่าดวงจันทร์มีชั้นบรรยากาศในเวลากลางวัน 

ศรีธาระ โสมานาถ (Sreedhara Somanath) ผู้อำนวยการ ISRO กล่าวว่า “องค์การอวกาศของอินเดียได้ศึกษาข้อมูลจากการชนอย่างรอบคอบและดำเนินการฝึกซ้อมจำลองเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในภารกิจจันทรายาน-3 ซึ่งมีน้ำหนัก 3,900 กิโลกรัมมูลค่า 6.1 พันล้านรูปี (ราว 2.5 พันล้านบาท)” 

ก้าวต่อไป…

“ตอนนี้ยานได้เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์แล้ว นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มลดความเร็วของยานลงทีละน้อย เพื่อนำยานไปยังจุดที่จะทำให้ ‘วิกรม’ (Vikram) ซึ่งเป็นยานลงจอดน้ำหนัก 1,500 กิโลกรัมที่บรรทุกโรเวอร์สำรวจ ‘Pragyaan’ น้ำหนัก 26 กิโลกรัม สามาถลงจอดได้อย่างนุ่มนวล” ISRO ระบุ 

เมื่อลงจอด ยานโรเวอร์ 6 ล้อจะดีดออกและแล่นไปรอบๆ หินและหลุมอุกกาบาตบนพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อรวบรวมข้อมูลและภาพที่สำคัญ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การค้นหาลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวดวงจันทร์ บรรยากาศใกล้พื้นผิว และการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค จากนั้นยานจะส่งข้อมูลกลับมายังโลกเพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป 

“เพื่อศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณใต้พื้นผิวดวงจันทร์ ผมหวังว่าเราจะค้นพบสิ่งใหม่ๆ” โสมานาถกล่าว  

อย่างไรก็ดี บริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการสำรวจ พื้นที่ผิวที่ยังคงอยู่ในเงามืดนั้นใหญ่กว่าขั้วเหนือของดวงจันทร์มาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำในบริเวณที่มีเงาอย่างถาวร” 

ขณะเดียวกัน รัสเซียเองก็จะส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ลำแรกในรอบ 47 ปี (ส่งไปล่าสุดปี 1976) ในวันศุกร์นี้ (11 ส.ค.) เช่นเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อแข่งขันกับอินเดียไปยังขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่คาดว่าสามารถรองรับการมีอยู่ของมนุษย์ในอนาคตได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์