จีนตั้งเป้าปล่อยยานสำรวจดาวอังคารครั้งประวัติศาสตร์เร็วขึ้นภายในปี 2028

10 ก.ย. 2567 - 08:57

  • จีนประกาศเลื่อนปล่อยยานภารกิจเทียนเวิ่น-3 เพื่อเก็บตัวอย่างจากดาวอังคารเร็วขึ้นในปี 2028 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีว่าจะส่งยานขึ้นไปในปี 2030

  • ขณะที่ อีลอน มัสก์ ก็ออกมาบอกหลังจากจีนประกาศได้ 2 วันว่าภารกิจไปดาวอังคารครั้งแรกของ SpaceX นั้นจะมีแผนเปิดตัวในปี 2026

  • แต่ทาง NASA ประกาศเลื่อนการส่งภารกิจ ESCAPADE ไปดาวอังคาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีกำหนดปล่อยยานภารกิจดังกล่าวอย่างเร็วในวันที่ 13 ต.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงความท้าทายด้านต้นทุน และปัญหาทางเทคนิค

china_aims_for_historic_mars_mission_around_2028_space_power_SPACEBAR_Hero_8a3ce7c395.jpg

ความพยายามครั้งประวัติศาสตร์ของจีนในการปล่อยยานภารกิจเทียนเวิ่น-3 (Tianwen-3 mission) เพื่อเก็บตัวอย่างจากดาวอังคารมายังโลกอาจเปิดตัวได้เร็วที่สุดในปี 2028 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีว่าจะส่งยานขึ้นไปในปี 2030 

ขณะที่ อีลอน มัสก์ ก็ออกมาประกาศว่าภารกิจไปดาวอังคารครั้งแรกของ SpaceX ซึ่งจะใช้จรวด Starship รุ่นถัดไปนั้นมีแผนเปิดตัวในปี 2026 ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังจากที่หน่วยงานอวกาศของจีนได้เลื่อนภารกิจสำรวจดาวอังคารเร็วขึ้น  

ส่วนทาง NASA เองก็ประกาศเลื่อนการปล่อยยานภารกิจ ESCAPADE ไปดาวอังคาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีกำหนดปล่อยยานภารกิจดังกล่าวอย่างเร็วในวันที่ 13 ต.ค. แต่ต้องเลื่อนออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงความท้าทายด้านต้นทุน และปัญหาทางเทคนิค 

หลายประเทศกำลังแข่งขันกันด้านอวกาศ

การเป็นประเทศแรกที่นำตัวอย่างจากดาวอังคารกลับมาจะเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่สำหรับโครงการอวกาศอันทะเยอทะยานของจีน และยังเป็นเหมือน ‘ความฝันอันนิรันดร์’ ของผู้นำสีจิ้นผิงที่ต้องการทำให้ประเทศเป็นมหาอำนาจทางอวกาศ 

ความก้าวหน้าของจีน รวมไปถึงภารกิจสำรวจดวงจันทร์แบบไร้มนุษย์ควบคุมและการจัดตั้งสถานีอวกาศในวงโคจรของตัวเองนั้นเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ กำลังเร่งพัฒนาโครงการอวกาศของตัวเอง 

สำหรับภารกิจหลักของเทียนเวิ่น-3 คือ การค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร การพัฒนาเทคนิคในการเก็บตัวอย่างพื้นผิว และการบินขึ้นเนินบนพื้นผิวดาวอังคาร 

ดาวอังคารเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญ

china_aims_for_historic_mars_mission_around_2028_space_power_SPACEBAR_Photo01_a8faa00b5f.jpg
Photo by Matthieu RONDEL / AFP / ยานสำรวจดาวอังคาร ‘จู้หรง’ ของจีน

นักวิทยาศาสตร์มองว่า ดาวอังคารเป็นจุดหมายปลายทางการวิจัยที่สำคัญมานานแล้ว ภารกิจสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่นของจีนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 2021 หลังจากที่เทียนเวิ่น-1 เข้าถึงวงโคจรของดาวอังคารและส่งยานจู้หรง (Zhurong Rover) ไปสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร 

การลงจอดของยานจู้หรงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 บนพื้นที่ราบขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘ยูโทเปีย พลานิเทีย’ (Utopia Planitia) ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ที่ลงจอดบนดาวอังคาร ซึ่งภารกิจหลักของยานสำรวจคือ การค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตโบราณและสำรวจแร่ธาตุ รวมถึงสภาพแวดล้อม 

ขณะที่สหรัฐฯ ส่งยานภารกิจ Viking 1 ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารเป็นครั้งแรกในปี 1976 พร้อมกับยานลงจอดที่ปฏิบัติการมานานกว่า 6 ปี ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่แซงหน้ายานอวกาศ Mars 3 ของสหภาพโซเวียตที่ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารในปี 1971 แต่ส่งสัญญาณได้เพียงประมาณ 20 วินาทีเท่านั้น 

ทั้งนี้พบว่า การลงจอดบนดาวอังคารครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ก็คือ ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance rover) ของ NASA ซึ่งลงจอดบนหลุมอุกกาบาตเยเซรอในปี 2021 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ได้เก็บตัวอย่างเพื่อส่งกลับมายังโลกอีกครั้ง 

NASA ประกาศเมื่อเดือนเมษายนว่ากำลังมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ในการเก็บตัวอย่างพื้นผิว หลังจากแผนงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.71 แสนล้านบาท) โดยมีกรอบเวลาในการเก็บตัวอย่างกลับคืนภายในปี 2040 

หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน NASA ก็ประกาศว่ากำลังสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการที่ประหยัดและรวดเร็วกว่า 

Photo by Noel CELIS / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์