กฏหมายต้านจารกรรมจีน ปกป้องชาติหรือปิดปากคนเห็นต่าง

12 พ.ค. 2566 - 02:44

  • ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าความเคลื่อนไหวนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อบริษัทและบุคลากรต่างชาติและสร้างความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตของผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง

  • ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ-จีนยังคงย่ำแย่ลง มาตรการปกป้องความมั่นคงและต่อต้านการจารกรรมจึงเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย

china-anti-espionage-law-not-good-news-SPACEBAR-Thumbnail
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติจีนอนุมัติแก้ไขกฎหมายต่อต้านการจารกรรม (Counter-Espionage Law) โดยห้ามให้มีการถ่ายโอนข้อมูลใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ และขยายขอบเขตคำนิยาม “การจารกรรม” ให้กว้างขวางยิ่งกว่าเดิม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าความเคลื่อนไหวนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อบริษัทและบุคลากรต่างชาติ 

สภานิติบัญญัติสูงสุดของจีนได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายต่อต้านการจารกรรม ซึ่งเป็นการอัปเดตครั้งแรกหลังปี 2014 เป็นต้นมา และใช้เวลาในการพิจารณา 3 วันเต็ม โดยกฎหมายใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป 

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นความมั่นคงของชาติ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนเมื่อปี 2012 โดยนักวิเคราะห์มองว่า การแก้กฎหมายจารกรรมครั้งนี้สะท้อนถึงความรู้สึกหวาดระแวงที่จีนมีต่อสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างเนื้อความในกฎหมายใหม่ซึ่งระบุว่า “เอกสาร ข้อมูล วัสดุ และสิ่งของใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ” จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในระดับเดียวกับ “ความลับของรัฐ” (state secrets) แต่กฎหมายไม่ได้ให้คำนิยามชัดเจนว่า อะไรบ้างที่ถือเป็นความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติจีน 

กฎหมายต้านจารกรรมฉบับใหม่ยังขยายคำนิยามของการจารกรรมให้ครอบคลุมไปถึง “การโจมตีทางไซเบอร์ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศที่สำคัญ” นอกจากนี้ ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการเปิดสอบสวนต่อต้านการจารกรรมเพื่อเข้าถึงฐานข้อมูล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนข้อมูลหรือทรัพย์สินของบุคคล และสั่งห้ามการเดินทางผ่านแดนได้ด้วย 

“ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังย่ำแย่ลง และต่างฝ่ายต่างมีความหวาดระแวงกันมากขึ้น มาตรการปกป้องความมั่นคงและต่อต้านการจารกรรมจึงเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย” เจเรมี โดม นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์ Paul Tsai China Center ในสังกัดโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยเยล ให้ความเห็น 

โดม มองว่า กฎหมายต้านจารกรรมฉบับใหม่ของจีน เป็นการขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และเน้นพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงในทุกๆ ด้าน 

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้จับกุมพลเมืองและชาวต่างชาติด้วยข้อหาจารกรรมหลายราย ล่าสุด คือผู้บริหารของบริษัทเวชภัณฑ์ Astellas Pharma ของญี่ปุ่น ที่ถูกควบคุมตัวในปักกิ่งเมื่อเดือน มี.ค. 

การแก้กฎหมายต่อต้านจารกรรมมีขึ้นเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่จีนยกเลิกมาตรการปิดพรมแดนและคุมเข้มโควิด-19 ที่ใช้มานานถึง 3 ปีเต็ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักธุรกิจและนักวิจัยต่างชาติเดินทางเข้าออกจีนได้ยากขึ้น 

“จีนกำลังเปิดประเทศ และยิ่งทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น” ยาสุฮิโระ มัตสึดะ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้ความเห็น พร้อมระบุว่า กฎหมายต่อต้านจารกรรมฉบับเดิมที่ออกเมื่อปี 2014 มีเนื้อหาที่กำกวมและให้อำนาจตรวจสอบอย่างกว้างขวางอยู่แล้วแต่ดูเหมือนจีนคิดว่ายังไม่พอ 

อาจารย์ชาวญี่ปุ่นรายนี้ ยังมองว่า กฎหมายใหม่ของจีนกำลังสื่อความว่า “องค์กรหรือบุคคลใดก็ตามสามารถตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้ และไม่ว่าอะไรก็ตามอาจจะถูกนับว่าเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติได้ทั้งสิ้น แน่นอนว่าจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่ากังวล 

ด้าน ฮอร์เฮ โตเลโด อัลบิญานา เอกอัครราชทูตของสหภาพยุโรปประจำประเทศจีนกล่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ว่า กฎหมายต่อต้านการจารกรรมที่ขยายขอบเขตกว้างขึ้นของจีนและการสืบสวนบริษัทให้คำปรึกษาที่ดำเนินงานในจีน ก่อให้เกิดความกังวล และอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของจีนในการเปิดเศรษฐกิจ 

อัลบิญานา กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้มีการกระทำที่ไม่เอื้ออำนวยต่อเป้าหมายของจีนที่มุ่งหวังเปิดเศรษฐกิจของประเทศเพื่อรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น 

นอกจากนี้  อัลบิญานายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการสืบสวนบริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำของจีนอย่าง แคปวิชัน พาร์ทเนอร์ส (Capvision Partners) ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ใหญ่ที่สุดในจีนและมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก รวมถึงเซี่ยงไฮ้และนิวยอร์ก 

เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการพยายามขโมยความลับของรัฐ และข่าวกรองในพื้นที่ที่สำคัญต่อจีน 

หลังจากจีนแก้ไขกฏหมายนี้ได้ไม่นาน รัฐบาลปักกิ่งก็จับกุมนักจัดรายวิทยุและผู้จัดพิมพ์หนังสือชาวไต้หวัน ในข้อกล่าวหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ 

หลี่ ย่านเหอ ผู้จัดรายการวิทยุของ Radio Taiwan International และผู้พิมพ์เผยแพร่หนังสือวิจารณ์รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของจีนจับกุมขณะที่เขาเดินทางไปเยี่ยมญาติที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนมี.ค. ก่อนที่จะมีรายงานออกมาเมื่อปลายเดือนเม.ย.ว่าเขาหายตัวไป 

จู เฟิงเหลียน โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของรัฐบาลจีน ประกาศว่า หลี่ถูกทางการจีนจับกุมตัวไว้เพื่อสอบสวนการกระทำผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมยืนยันว่าจะให้ความเคารพในสิทธิ์ของชาวไต้หวันผู้นี้ระหว่างการสอบสวน 

หลี่ ย่านเหอ เจ้าของนามปากกา “ฟูชา” เกิดที่ประเทศจีนแต่ย้ายไปอาศัยในไต้หวันเมื่อปี 2009 ต่อมาก่อตั้งสำนักพิมพ์ กูซา เพรส (Gusa Press) ซึ่งเน้นตีพิมพ์หนังสือที่วิพากษ์วิจาณร์รัฐบาลปักกิ่ง 

นอกจากนี้ หลี่ ยังเป็นเจ้าของรายการ “Seeing China This Way — Time with Fucha” ซึ่งพูดคุยเกี่ยวกับการเมืองจีน ออกอากาศทางสถานีวิทยุระหว่างประเทศไต้หวัน
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์