ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนบุกทุกตลาด แซงญี่ปุ่นขึ้นแท่นส่งออกรายใหญ่สุดโลก

12 ก.ย. 2566 - 05:02

  •  รถยนต์ไฟฟ้าของจีนซึ่งราคาถูกกว่ารถยนต์จากที่อื่นกำลังบุกตลาดยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • ข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีนระบุว่า จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

  • ไม้เด็ดของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนคือ ความได้เปรีบบเรื่องราคาและซัพพลายเชน

china-automakers-electric-vehicle-take-the-world-by-storm-SPACEBAR-Thumbnail
จีนกำลังบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกอย่างหนัก โดยในงานมอเตอร์โชว์ IAA Mobility ที่เมืองมิวนิกของเยอรมนี ค่ายต่างๆ กว่า 50 ค่าย รวมทั้งค่ายใหญ่อย่าง BYD และค่ายมาแรงอย่าง Xpeng พากันตบเท้าไปที่งานดังกล่าว ซึ่งมากกว่าครั้งก่อนหน้า 2 เท่าและเป็นการเข้าร่วมของค่ายรถยนต์จีนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในงานแสดงรถยนต์ระดับโลก และกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เสียด้วย 
 
ก่อนหน้าที่งานแสดงรถยนต์ IAA Mobility จะเปิดฉาก ลูคา เด เมโอ ซีอีโอแห่งค่าย Renault ของฝรั่งเศสพูดถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนไว้ว่า “มันชัดเจนว่าพวกเขามีความสามารถในการแข่งขันสูงตั้งแต่ในแง่ของการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า ผมคิดว่าพวกเขาแซงหน้าเราไป 1 ก้าว พวกเราต้องวิ่งตามให้เร็วมากๆ” 
 
รถยนต์ไฟฟ้าของจีนซึ่งราคาถูกกว่ารถยนต์จากที่อื่นกำลังบุกตลาดยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนบรรดาคู่แข่งต่างกลัวกันว่าในที่สุดแบรนด์จากจีนจะขยับขึ้นเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก  
 
ข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีนระบุว่า จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่แข็งแกร่งจากรัสเซียและความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก 
 
ข้อมูลของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาพบว่า ในช่วง 8 ดือนแรกของปีนี้ การส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นถึง 72% ไปอยู่ที่ 2.3 ล้านคัน ซึ่งในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และเดือนสิงหาคมเดือนเดียว ผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง BYD ส่งออกรถมากกว่า 25,000 คัน ตามด้วย Tesla ในจีนที่ 19,465 คัน 
 
ในยุโรป ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ สำหรับการส่งออกรถยนต์ของจีน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนกำลังเฟื่องฟู 
 
สมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีนระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้บริษัทจีนส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 350,000 คันไปยัง 9 ประเทศในยุโรป ซึ่งมากกว่าตัวเลขส่งออกทั้งปีของปี 2022 และในช่วง 5 ปีล่าสุดสหภาพยุโรปนำเข้ารถยนต์จากจีนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว 
 
UBS คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนอาจได้ส่วนแบ่งจากตลาดโลกเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 17% เป็น 33% โดยบริษัทจากฝั่งยุโรปจะเสียส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด

บุกยุโรป

นักวิเคราะห์รถยนต์กล่าวว่าผู้ผลิต EV ของจีนจำนวนหนึ่งกำลังผงาดขึ้นมาเป็น “แชมป์โลกรายใหม่”   
 
ดีแลน คู นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจาก ABI Research เผยกับ CNN ว่า “รถยนต์ล้นตลาด เศรษฐกิจชะลอตัว และการแข่งขันสูงในบ้านตัวเองทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนมองหาช่องทางขายในต่างประเทศ ในยุโรปพวกเขาเห็นตลาดที่จะทำกำไรเนื่องจากมีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากและมีมาตรการกีดกันทางการค้าเล็กน้อยเท่านั้น” 
 
ค่ายรถยนต์จากจีนจ่ายภาษีนำเข้าเพียง 10% สำหรับการส่งรถยนต์เข้าสหภาพยุโรป ขณะที่ในสหรัฐฯ ต้องจ่ายถึง 27.5% 
 
นอกจากภาษีต่ำแล้ว สิ่งที่ทำให้ยุโรปเป็นตลาดที่น่าสนใจคือ การห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่เครื่องยนต์สันดาปภายในในปี 2035  
 
รายงานของบริษัทที่ปรึกษา Deloitte ที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้วระบุว่า ใน 3-5 ปีข้างหน้า ผู้ผลิตรถยนต์จีนเกือบทุกค่ายวางแผนมุ่งเน้นไปที่ตลาดใหญ่ๆ ในยุโรป อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส และ 75% ของบริษัทที่ Deloitte สำรวจยังตั้งใจจะเข้าสู่ตลาดอเมริกาเหนือด้วย และ 88% วางแผนส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก 
 
หลี่หยุนเฟย โฆษกของ BYD เผยกับผู้สื่อข่าวที่เมืองมิวนิกในงานแสดงรถยนต์ว่า BYD ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนดีลเลอร์ในยุโรป 2 เท่าเป็น 200 เจ้าภายในปีนี้ และวางแผนเพิ่มยอดขายรถในต่างประเทศทั้งหมดเป็น 250,000 คันในปีนี้ จากตัวเลขของปีที่แล้วที่ 55,916 คัน  
 
ส่วน Xpeng ประกาศจะเข้าตลาดเยอรมนีในปี 2024 และยังวางแผนจะเพิ่มทั้งยอดขายและจำนวนศูนย์บริการในยุโรปภายในสิ้นปีนี้ 
 
โอลิเวอร์ ซิปเซอ ซีอีโอ BMW เผยว่า ผลจากการแบรถยนต์แบบเก่าของสหภาพยุโรปที่กำลังจะเกิดขึ้น และการแข่งขันที่สูงขึ้นจากผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปที่เน้นตลาดขนาดใหญ่อาจเลิกผลิตรถยนต์แบบเก่าหลังจากคำสั่งห้ามมีผลบังคับใช้ เนื่องจากกังวลเรื่องความสามารถในการทำกำไร 
 
รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งจะกลายเป็นเพียงตัวเลือกเดียวของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปนับตั้งแต่ปี 2025 มีแนวโน้มจะมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน 
 
คู จาก ABI Researchเผยว่า “ผู้พลิกโฉมของจีน” นำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่แข่งขันได้แก่ลูกค้าชาวยุโรปและมีคุณภาพสูงในกลุ่มราคาที่แตกต่างกัน “ห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ยุโรปจะถูกพลิกโฉมจาก 2 ทิศทาง นั่นคือ แบรนด์จีนเหล่านี้ที่เข้ามาในยุโรป และผู้ผลิตจากตะวันตกที่กำลังสร้างโรงงานการผลิตในจีนสำหรับส่งออกมายังยุโรป” 
 
นอกจากยุโรปแล้ว รถยนต์จากจีนยังได้รับความนิยมในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย 
 
ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ยอดขายรถยนต์จีนในออสเตรเลีย รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ขยับขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าของเมื่อ 1 ปีที่แล้ว โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 16%  

ราคาถูกกว่า 

ไม้เด็ดของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนคือ ความได้เปรีบบเรื่องราคา 
 
ข้อมูลของบริษัทวิจัย Jato Dynamics ระบุว่า รถยนต์จากจีนถูกกว่ารถยนต์ที่ผลิตในยุโรปหรือสหรัฐฯ ราว 30% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 ราคารถยนต์ไฟฟ้าในจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 34,096 ดอลลาร์สหรัฐ ในยุโรปอยู่ที่ 59,797 ดอลลาร์สหรัฐ และในสหรัฐฯ อยู่ที่ 68,429 ดอลลาร์หสรัฐ  
 
“ความสำเร็จส่วนใหญ่ของจีนในการในการขับเคลื่อนการบริโภครถยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างนั้นเป็นผลมาจากความสามารถของอุตสาหกรรมในการผลิตรถยนต์ระดับเริ่มต้นในราคาไม่แพงสำหรับคนทั่วไป” รายงานของ Jato Dynamics ระบุ และว่า ความเข้าใจของผู้บริโภคที่ว่าผู้ผลิตจีนผลิตรถยนต์คุณภาพต่ำก็เปลี่ยนไปแล้ว 
 
รายงานของ Jato Dynamics ระบุอีกว่า ด้วยความที่ในจีนมีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเป็นวงกว้าง บวกกับการสนับสนุนของรัฐบาล และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว รถยนต์ไฟฟ้าจึงกลายเป็นเรื่องปกติ “เป้าหมายของจีนคือ ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ และจีนก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก” 
 
ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดรถยนต์ที่เติบโตโดยรัฐสนับสนุนอย่างจำกัดไม่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วขนาดนี้ 

ได้เปรียบเรื่องซัพพลายเชน 

ปัจจัยหลักที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าของจีนราคาต่ำกว่าคือ ความเป็นผู้นำด้านซัพพลายเชนของแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา SNE Research ของเกาหลีใต้ระบุว่า ผู้ผลิตจีนครองส่วนแบ่งของตลาดแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าโลกถึง 60% ในปี 2022 อีกทั้งจีนยังควบคุมวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรีอย่าง นิกเกิล โคบอลต์ และลิเธียมด้วย 
 
นักวิเคราะห์ของ Moody’s ระบุไว้ในรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า “ความได้เปรียบทางการแข่งขันของจีนในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ได้เปรียบในแง่ของต้นทุนการผลิต EV คาดว่าจีนมีแร่ลิเธียมมากกว่าครึ่งหนึ่งของลิเธียมทั่วโลก ทั้งยังมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า”  
 
อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และทำให้การผลักดันบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนซับซ้อนขึ้น 
 
นักวิเคราะห์ของ Moody’s มองว่า “สหรัฐฯ และยุโรปกำลัง ‘ลดความเสี่ยง’ จากจีน ซึ่งอาจสร้างอุปสรรคการนำเข้าจากจีน แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะต่ำกว่า ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขส่งออกรถยนต์ที่กำลังเพิ่มขึ้นในขณะนี้ลดลง”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์