จากกรณีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ชื่อดังของจีนประกาศลดราคารถยนต์ที่ขายในไทยครั้งใหญ่หลายแสนบาท ซึ่งนอกจากจะสร้างความไม่พอใจให้ผู้ซื้อรถยนต์จากค่ายนี้บางรายแล้ว ยังมีการพูดถึงประเด็นเรื่องสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้าที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดด้วย
อันที่จริงความกังวลว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจนล้นตลาดของจีนจนต้องปรับลดราคาเพื่อให้ระบายสต็อกได้นี้เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว
Nikkei Asia รายงานว่า กำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วแม้ว่าจะเกินความต้องการในประเทศไปแล้วก็ตาม ทำให้เกิดความกังวลว่าโรงงานผลิตรถยนต์เหล่านี้จะส่งรถออกไปยังตลาดต่างประเทศแล้วขายตัดราคา
โดยปกติแล้วจุดคุ้มทุนของกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์จะอยู่ที่ราว 80% แต่จุดคุ้มทุนของรถยนต์ที่ใช้พลังงานรูปแบบใหม่ รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าในจีนนั้นอยู่ที่ราว 50% และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหน้าใหม่หลายเจ้าก็ล้มละลายไปเรียบร้อยแล้ว เพราะมีกำลังการผลิตล้น
ในงานแสดงรถยนต์ Auto China ซึ่งเป็นหนึ่งในงานแสดงรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จบไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมาปรากฏว่า บูธของค่าย Xiaomi ที่ก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วยราคาถูกกว่ารถของ Tesla มีคนแวะเข้าไปดูอย่างล้นหลาม ผิดกับบูธของ Nissan Motor ที่อยู่ติดกัน เพราะรถยนต์ของ Xiaomi ราคาถูกกว่า โดย เหลยจวิน ซีอีโอ Xiaomi เผยว่ามีลูกค้าสั่งจองรถยนต์ในงานถึง 75,723 คัน
Nikkei Asia ระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทำราคาได้ถูกกว่าเพราะโรงงานแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าล้วนกระจุกตัวอยู่ในจีน ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาและวิจัย SNE Research ของเกาหลีใต้ระบุว่า ใน 10 อันดับแรกของโรงงานผลิตแบตเตอรีของปีที่แล้ว มีบริษัทสัญชาติจีนอยู่ถึง 6 บริษัท และราว 80% ของวัสดุแคโทดสำหรับแบตเตอรีลิเทียมไอออนก็ผลิตในจีน
ราคาแบตเตอรีติดเป็นสัดส่วนถึง 30-40% ของต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า องค์กรพลังงานระหว่างประเทศระบุว่า ราคาเฉลี่ยของแบตเตอรีในจีนอยู่ที่ราว 80% ของราคาแบตเตอรีในยุโรปและสหรัฐฯ อีกทั้งเหล็กและสวนประกอบอื่นๆ ก็ยังผลิตได้ถูกกว่า
นอกจากนี้รัฐบาลยังทุ่มงบประมาณอุดหนุนก้อนใหญ่ รวมทั้งการสนับสนุนด้านอื่นสำหรับการวิจัยและพัฒนาและการสร้างโรงงาน
เมื่อทางสะดวกเช่นนี้จึงไม่แปลกที่บรรดาบริษัทต่างๆ จะกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนระบุว่า เมื่อปีที่แล้วในจีนมีบริษัทกว่า 50 แห่งผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานใหม่
หลายๆ บริษัทยังเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเต็มที่โดยมีเป้าหมายขยายส่วนแบ่งการตลาด Seres Group บริษัทขนาดกลางที่ร่วมมือกับ Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีน ก็เพิ่งเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในฉงชิ่ง

กำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งในอัตราที่เกินกว่าความต้องการ สื่อจีนรายงานว่า คาดว่ากำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (NEV) ของจีนในปี 2025 จะทะลุ 36 ล้านคัน และคาดว่ายอดขายในปีหน้าจะอยู่ที่ราว 17 ล้านคัน ทำให้มีรถยนต์ไฟฟ้าส่วนเกินเกือบ 20 ล้านคัน
สื่อจีนรายงานอีกว่า กำลังการผลิตในปี 2023 อยู่ที่ราว 50% เนื่องจากมีรถยนต์ไฟฟ้าล้นตลาด ซึ่งต่ำกว่าจุดคุ้มทุนซึ่งอยู่ที่ 80% สร้างความเสี่ยงที่ธุรกิจจะสั่นคลอนเพราะกำไรลดลง
สถิติของรัฐบาลจีนระบุว่า กำไรสุทธิของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์อยู่ที่ 4.3% ตำกว่าของปี 2015 ซึ่งอยู่ที่ 8.7% โดยพบผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กบางรายล้มละลายไปเรียบร้อยแล้ว และบางคนคาดการณ์ว่าอีกกว่า 10 บริษัทจะล้มละลายหรือเกือบล้มละลายในปีนี้

ขณะที่บางบริษัทมองว่าการส่งออกรถไปยังยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือทางรอดจากวิกฤต สมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ระบุว่า จีนส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้น 78% เป็น 1.2 ล้านคัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.5 ล้านคันในปี 2025
หากเป็นเช่นนั้นจะกระทบกับผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปและญี่ปุ่น BYD และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าอื่นต่างก็รุกเข้ามาในตลาดไทยและประเทศอื่นในอาเซียนซึ่งผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 80%
นอกจากนี้ทั่วโลกยังจับตามองผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างใกล้ชิด อาทิ สหภาพยุโรปกำลังสอบสวนว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนถูกขายในราคาต่ำเพราะได้รับการอุดหนุนซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจากเดิม 25% เป็น 100% และ 25% สำหรับแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า ก่อนที่สหภาพยุโรปจะเดินรอยตามโดยจะเก็บภาษีสูงสุด 38%
ในสายตาของยุโรปและสหรัฐฯ การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนถือเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะหากจีนตีตลาดได้ อาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากรัฐบาลจีนทุ่มงินอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามหาศาล ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจากฝั่งจีนตั้งราคาได้ต่ำกว่าอย่างที่บริษัทอื่นทำได้ยาก
รายงานของธนาคาร UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วระบุว่า ผู้ผลิตรถยนตไฟฟ้าจากจีนได้เปรียบจริงๆ โดยบอกว่า BYD สามารถผลิตรถยนต์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าค่ายรถยนต์ที่อยู่มานานถึง 25% และยังระบุว่า BYD และค่ายรถยนต์อื่นจากจีน “พร้อมจะครองตลาดโลกด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดและไฮเทคสำหรับคนทั่วไป”
Photo by AFP