ครอบครัวเหยื่อค้ามนุษย์ชาวจีนในเมียนมาร้องรัฐบาลจีนเร่งช่วยเหลือญาติที่ถูกหลอก

24 ม.ค. 2568 - 05:35

  • เหตุการณ์การลักพาตัวนักแสดงชาวจีน ‘หวังซิง’ หรือ ‘ซิงซิง’ ในเมียนมาและได้รับการช่วยเหลือออกมา ทำให้ครอบครัวของเหยื่อชาวจีนรายอื่นๆ ก็เริ่มออกมาโพสต์รายละเอียดของญาติที่หายตัวไปในเมียนมา

  • องค์การสหประชาชาติ (UN) เผยว่า มีผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หลายแสนรายที่ศูนย์หลอกลวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

china-families-appeal-to-free-relatives-held-by-scam-gangs-in-myanmar-SPACEBAR-Hero.jpg

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เหตุการณ์การลักพาตัวนักแสดงชาวจีน ‘หวังซิง’ หรือ ‘ซิงซิง’ ในเมียนมาและได้รับการช่วยเหลือออกมา ทำให้ครอบครัวของเหยื่อชาวจีนรายอื่นๆ ก็เริ่มออกมาโพสต์รายละเอียดของญาติที่หายตัวไปในเมียนมา 

ตามคำบอกเล่าของ ซิงซิง และคำให้การของตำรวจในจีนและไทยบอกว่า ซิงซิงถูกหลอกด้วยข้อเสนองานที่เขายอมรับในภายหลังว่าดูดีเกินจริง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกับดักที่กลุ่มอาชญากรวางไว้ เช่นเดียวกับชายชาวจีนคนอื่นๆ ที่สิ้นหวังในการทำงาน หลังจากนั้นซิงซิงก็ถูกลักพาตัวและถูกส่งไปทำงานในศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์แห่งหนึ่งที่ดำเนินการอยู่บริเวณชายแดนไทยในเมียนมา 

‘เจียเจีย’ แฟนสาวของซิงซิงได้เผยแพร่รายละเอียดการลักพาตัวของซิงซิง และโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อนำตัวซิงซิงกลับจีน และได้รับการสนับสนุนจากคนดังชาวจีนมากมาย เมื่อซิงซิงได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 7 มกราคม ตำรวจไทยกล่าวว่าพบตัวซิงซิงที่เมียนมา แต่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปล่อยตัวเขาเพียงเล็กน้อย 

ภายในไม่กี่วัน ก็มีการรวบรวมรายชื่อชาวจีนเกือบ 1,800 คน ซึ่งสมาชิกในครอบครัวระบุว่า ญาติของพวกเขาถูกค้ามนุษย์ในเมียนมา โดยแหล่งหลอกลวงออนไลน์เหล่านั้นได้แพร่หลายไปทั่วเมียนมาท่ามกลางความโกลาหล และสงครามกลางเมืองที่ขยายตัวขึ้นนับตั้งแต่กองทัพทำการรัฐประหารเมื่อปี 2021 

องค์การสหประชาชาติ (UN) เผยว่า มีผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หลายแสนรายที่ศูนย์หลอกลวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 กระบวนการค้ามนุษย์ดังกล่าวสร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับกลุ่มอาชญากร 

แถลงการณ์จากกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนระบุว่า “กำลังดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปราบปรามกลุ่มหลอกลวงและช่วยเหลือผู้ที่ถูกค้ามนุษย์” นอกจากนี้ สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนยังรายงานเมื่อวันอังคาร (21 ม.ค.) ว่า จีนได้บรรลุฉันทามติกับประเทศไทยและเมียนมาในการจับกุมแกนนำกลุ่มอาชญากร และกำจัดศูนย์หลอกลวงเหล่านี้ 

หลังจากที่เกิดอาชญากรรมต่อพลเมืองจีนเพิ่มขึ้น ทางการจีนก็ได้เริ่มดำเนินการปราบปรามขบวนการฉ้อโกงในเมียนมาตั้งแต่ปี 2023 ส่งผลให้พลเมืองจีนหลายหมื่นคนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายดังกล่าวถูกจับกุม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางของจีนในการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกค้ามนุษย์ในฐานะ ‘ผู้ต้องสงสัย’ มากกว่าที่จะเป็นเหยื่อ  

จากเหยื่อเกือบ 1,800 รายที่ถูกระบุตัวตนในแคมเปญ ‘Star Homecoming’ นั้นพบว่า ประมาณ 93% เป็นผู้ชาย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 27 ปี โดยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 15-45 ปี คนส่วนใหญ่เล่าถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เช่น หนี้สิน การดิ้นรนเพื่อให้พออยู่พอกินในฐานะคนงานชั่วคราว และการตกงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วประเทศ 

แต่กฎหมายจีนไม่ถือว่าผู้ชายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ อีกทั้งครอบครัวประมาณครึ่งหนึ่งบอกว่าพวกเขาไม่สามารถแจ้งความบุคคลสูญหายกับตำรวจท้องถิ่นได้ 

“ตอนแรกฉันอยากจะแจ้งความกับตำรวจ แต่พวกเขาบอกว่าแจ้งความคนหายได้เฉพาะผู้หญิงและเด็กเท่านั้น” หญิงคนหนึ่งซึ่งแจ้งความสามีวัย 30 ปีหายตัวไปหลังจากยอมรับข้อเสนองานที่หลังจากนั้นก็กลายเป็นว่า ‘เขาถูกหลอกให้ไปทำงาน’ 

ส่วนอีกเคสหนึ่งเป็นผู้หญิงอีกคนก็ไปแจ้งความสามีวัย 22 หายตัวไปเหมือนกัน เธอเผยว่า ตำรวจจีนไม่รับแจ้งความการหายตัวไปของสามีเธอ เนื่องจากสามีเธอเดินทางโดยใช้หนังสือเดินทางของเขา 

สมาชิกครอบครัวหลายคนต่างโพสต์รายละเอียดของญาติที่หายตัวไปด้วยความหวังว่า รัฐบาลจีนจะให้ความสนใจมากขึ้น และนำญาติของพวกเขาที่ถูกค้ามนุษย์กลับจีน ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศของจีนก็ออกมาเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันปราบปรามการหลอกลวงดังกล่าว 

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์