สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กับจีนยังไม่มีทีท่าว่าจะลดความร้อนแรงลง ฝ่ายจีนประกาศชัดว่าจะ “สู้จนถึงที่สุด” แม้จะบอกว่าไม่ขึ้นภาษีศุลกากรสหรัฐฯ เกิน 125% แต่ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ตามมา เช่น สั่งห้ามสายการบินจีนรับมอบเครื่องบินและซื้อชิ้นส่วนเครื่องบินจากบริษัท โบอิ้ง ของสหรัฐฯ
ถามว่าเหตุใดจนถึงตอนนี้จีนยังไม่ยอมถอยให้กับนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ คำตอบคือ จีนไม่จำเป็นต้องถอย
บรรดาผู้นำจีนคงจะบอกว่า พวกเขาไม่มีแนวโน้มที่จะยอมจำนนต่อคนที่มารังแก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนได้ตราหน้ารัฐบาลทรัมป์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่จีนก็มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้เหนือกว่าประเทศอื่นใดในโลก และจีนก็เตรียมพร้อมเศรษฐกิจของตัวเองเพื่อรับมือกับภาษีศุลกากรของทรัมป์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว (อ่านรายละเอียดว่าจีนเตรียมพร้อมอย่างไรได้ที่ ที่จีนกล้าสู้ทรัมป์เพราะสร้างเกราะป้องกันผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ ไว้แล้ว )
“คงเป็นความผิดพลาดหากคิดว่าจีนจะยอมถอยและยกเลิกภาษีศุลกากรฝ่ายเดียว เพราะถ้าทำไม่เพียงแต่จะทำให้จีนดูอ่อนแอเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอำนาจต่อรองให้สหรัฐฯ เรียกร้องเพิ่มขึ้น ตอนนี้เราเข้าสู่ทางตันซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวแล้ว”
อัลเฟรโด มอนตูฟาร์-เฮลู ที่ปรึกษาอาวุโสของ China Center at The Conference Board
บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลเกี่ยวกับความเร็วของการประกาศอัตราภาษีศุลกากร ที่ทำให้รัฐบาล ธุรกิจ และนักลงทุนมีเวลาไม่เพียงพอในการปรับตัวหรือเตรียมตัวสำหรับเศรษฐกิจโลกที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก
แต่การเผชิญหน้ากันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของโลก ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ
แมรี ลัฟลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสหรัฐฯ-จีนจาก Peterson Institute ในกรุงวอชิงตันดี.ซี.เผยว่า “สิ่งที่เรากำลังเห็นคือเกมที่ใครสามารถทนความเจ็บปวดได้มากกว่ากัน เราไม่พูดถึงว่าใครจะได้ประโยชน์อะไรแล้ว” และว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่จีนอาจ “เต็มใจที่จะอดทนต่อความเจ็บปวด เพื่อหลีกเลี่ยงการยอมจำนนต่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการรุกรานของสหรัฐฯ”
จีนเผชิญวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์เรื้อรังและอัตรการส่างงานสูงอยู่แล้ว ทำให้ประชาชนไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นที่มีหนี้สินรุงรังก็ไม่สามารถเพิ่มการลงทุนหรือช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาวิกฤตต่างๆ
“ภาษีศุลกากรทำให้ปัญหานี้หนักขึ้น” แอนดรูว์ คอลลิเออร์ นักวิชาการอาวุโสจาก Mossavar-Rahmani Center for Business and Government ของ Harvard Kennedy School กล่าว
หากการส่งออกของจีนได้รับผลกระทบก็เท่ากับว่ากระทบกับแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ แต่ไหนแต่ไรมาการส่งออกถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้จีนเติบโตอย่างงรวดเร็ว และยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ แม้ว่าจีนจะพยายามสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจด้วยการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงและการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
ตอนนี้ยังยากที่จะบอกได้แน่ชัดว่าภาษีศุลกากร “จะส่งผลเมื่อไร แต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้” คอลลิเออร์เผย “(ประธานาธิบดีสี) เผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและทรัพยากรที่ลดน้อยลง”
กระทบทั้งสองฝ่าย
ไม่เฉพาะแต่จีนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ข้อมูลของสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่าสูงถึง 438,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 และส่งออกไปจีนมูลค่า 143,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ขาดดุลการค้าอยู่ที่ 295,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และยังไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะหาซัพพลายอื่นมาแทนสินค้าจีนในเวลาสั้นๆ ได้อย่างไร
เดบอราห์ เอล์มส์ หัวหน้านโยบายการค้าของ Hinrich Foundation ในสิงคโปร์ เผยว่า ภาษีและสินค้าก็เรื่องหนึ่ง แต่ทั้งสองประเทศมี “ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน มีการลงทุนมหาศาลจากทั้งสองทาง การค้าขายทางดิจิทัล และการไหลเวียนของข้อมูลจำนวนมาก คุณเก็บภาษีในอัตรานี้ได้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีวิธีอื่นที่ทั้งสองประเทศจะใช้ต่อกัน ดังนั้นคุณอาจพูดได้ว่ามันแย่ไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว แต่มีหลายวิธีที่มันจะแย่ไปกว่านี้ได้อีก”
ทั้งโลกกำลังจับตาดูอยู่เช่นกัน จับตาดูว่าการส่งออกของจีนที่ถูกปิดกั้นจากตลาดสหรัฐฯ จะไปทางไหน
เอล์มส์กล่าวว่า สุดท้ายสินค้าเหล่านั้นจะไปจบลงที่ตลาดอื่น อย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ “ประเทศเหล่านี้ก็กำลังรับมือกับภาษีศุลกากรของตัวเองและกำลังคิดว่าจะนำสินค้าไปขายที่ไหนได้อีกบ้าง ดังนั้นเราอยู่ในจักรวาลที่แตกต่างกันมาก จักรวาลที่มืดมนมาก”
จีนไม่ยอมแพ้
ทรัมป์คุยโวกับกลุ่มผู้สนับสนุนของตัวเองว่าการบีบบังคับจีนให้ยอมจำนนเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่เรียกเก็บภาษีนำเข้า แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่ทรัมป์พูด
ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง บอกกับนายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ของสเปนที่เดินทางเยือนจีนว่า จีนและสหภาพยุโรปควร “ร่วมมือกันต่อต้านการกลั่นแกล้งฝ่ายเดียว” ของรัฐบาลทรัมป์ เช่นเดียวกับที่สีจิ้นผิงพยายามบอกกับผู้นำเวียดนามระหว่างการเดินทางเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ถูกทรัมป์เรียกเก็บภาษีหนักในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้รัฐมนตรีของจีนก็พบปะกับรัฐมนตรีนานาประเทศ อาทิ แอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย เพื่อพูดคุยเรื่องความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน และมีรายงานว่าจีนกับสหภาพยุโรปกำลังเจรจากันเรื่องยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์จีนของยุโรป และจะแทนที่ด้วยราคาขั้นต่ำแทน เพื่อควบคุมการทุ่มตลาดรอบใหม่
สั้นๆ ก็คือ ไม่ว่าจะมองไปทางไหน จีนก็มีตัวเลือกให้หยิบมาใช้
นักวิเคราะห์หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กันไปมาของสหรัฐฯ กับจีนตอนนี้แทบจะไม่มีความหมายแล้ว เพราะเลยจุดที่ตัดขาดการค้าระหว่างกันไปแล้ว ดังนั้น การขึ้นภาษีตอบโต้กันของทั้งสองมหาอำนาจจึงกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น
จะจบอย่างไร
โรแลนด์ ราจาห์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Lowy Institute มองว่า “มันไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นแรงจูงใจในการขึ้นภาษีเหล่านี้ และมันยากมากที่จะคาดเดาว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างไรต่อไปจากนี้” ไม่เหมือนกับสงครามกาค้ากับจีนในสมัยรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก ซึ่งเป็นเรื่องของการเจรจากับปักกิ่ง
ราจาห์กล่าวอีกว่า จีนมี “เครื่องมือหลากหลาย” สำหรับการตอบโต้กลับ อาทิ การลดค่าเงินหยวน หรือการปราบปรามบริษัทสหรัฐฯ “ผมคิดว่าคำถามคือ พวกเขาจะยับยั้งชั่งใจได้แค่ไหน? มันมีการตอบโต้เพื่อรักษาหน้าและมีการดึงอาวุธทั้งหมดออกมา ยังไม่แน่ชัดว่าจีนต้องการดำเนินตามแนวทางนั้นหรือไม่ อาจเป็นไปได้”
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าสหรัฐฯ และจีนอาจเจรจากันเป็นการส่วนตัว แต่ทรัมป์ยังไม่ได้พูดคุยกับสีจิ้นผิงเลยนับตั้งแต่กลับเข้าทำเนียบขาว แม่จีนจะส่งสัญญาณว่าเต็มใจเจรจากันหลายครั้งก็ตาม
แต่หลายคนกลับไม่คิดเช่นนั้น
เอล์มส์มองว่า “ฉันคิดว่าสหรัฐฯ กำลังให้ความสำคัญตัวเองมากไป” ทรัมป์อาจเชื่อว่าตลาดสหรัฐฯ ทำกำไรได้ดีจนจีนหรือประเทศอื่นๆ ต้องยอมศิโรราบในที่สุด “เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร? ไม่มีใครรู้ ฉันกังวลเกี่ยวกับความรวดเร็วและการยกระดับ อนาคตมีความท้าทายมากกว่ามากและความเสี่ยงก็สูงมาก”