เทรนด์รถ EV หนุน ‘จีน’ แซง ‘ญี่ปุ่น’ ผู้ส่งออกรถยนตรายใหญ่สุดของโลก

25 พ.ค. 2566 - 07:02

  • จีนส่งออกรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 58%

  • SAIC ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์แบรนด์ MG และ BYD เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่รายใหญ่ของจีน

  • การส่งออกรถยนต์ของจีนไปรัสเซียก็เพิ่มขึ้นด้วย นับตั้งแต่รัสเซียนำกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนเมื่อต้นปีก่อน

  • การ์ทเนอร์รายงานว่าในปี 2026 ตลาดรถไฟฟ้าทั่วโลกจะมียอดขายกว่า 50% ที่มาจากแบรนด์รถยนต์จีน

china-overtakes-japan-as-world-top-car-exporter-SPACEBAR-Thumbnail
ค่ายรถญี่ปุ่นที่ครองความเป็นเจ้าตลาดรถยนต์โลกมานาน เผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ หลังจากข้อมูลอย่างเป็นทางการยืนยันว่าตอนนี้ค่ายรถจีนก้าวขึ้นมาเป็นค่ายรถที่ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้วในไตรมาสแรกของปีนี้ 

ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า จีนส่งออกรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จำนวน 1.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 58% ขณะที่ญี่ปุ่น ส่งออกรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 954,185 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6% 

ก่อนที่จะมีการเปิดเผยตัวเลขนี้อย่างเป็นทางการ จีนก็แซงหน้าประเทศเยอรมนี ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกเมื่อปีที่แล้ว โดยมียอดส่งออกรถยนต์ทั้งปีอยู่ที่ 3.2 ล้านคัน มากกว่าเยอรมนี ซึ่งมีตัวเลขส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 2.6 ล้านคันในปีที่แล้ว 

ปัจจัยที่หนุนยอดส่งออกรถยนต์จีนในตลาดโลกมาจากการที่ทั่วโลกหันไปเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ (NEVs) ที่รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 90% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน 

SAIC ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์แบรนด์ MG และ BYD เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่รายใหญ่ของจีน ทั้งยังมีเทสลา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีน ซึ่งโรงงานดังกล่าวผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก รวมทั้งญี่ปุ่นและทวีปยุโรป 

นอกจากนี้ การส่งออกรถยนต์ของจีนไปยังรัสเซียก็เพิ่มขึ้นด้วย นับตั้งแต่รัสเซียนำกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนเมื่อต้นปีก่อน เนื่องจากชาติตะวันตกมีมาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซีย 

ปีที่แล้ว บริษัทรถยนต์ของจีนมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดรถยนต์รัสเซียเพิ่มขึ้น หลังจากบริษัทรถยนต์ชั้นนำโลกสัญชาติตะวันตกและเอเชีย อย่างโฟล์คสวาเกน และโตโยต้า ถอนตัวจากรัสเซียหลังเกิดสงครามในยูเครน 

การ์ทเนอร์ ให้ความเห็นในทำนองคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์รถไฟฟ้าทั่วโลกจะเจอกับปัญหาความยุ่งยากมากขึ้นในปีนี้  แต่ในปี 2026 ตลาดรถไฟฟ้าทั่วโลกจะมียอดขายกว่า 50% ที่มาจากแบรนด์รถยนต์จีน 

เปโดร ปาเชโก รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก กล่าวถึงปัจจัยลบที่เกิดในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกในปีนี้ว่า ประเด็นราคาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นในยุโรปทำให้ต้นทุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (บีอีวี) มีความน่าสนใจน้อยลง ประกอบกับในบางประเทศ อย่างเช่น สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ก็เตรียมเริ่มจัดเก็บภาษีรถยนต์อีวี และช่วงต้นปีนี้จีนก็เลิกอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า และยังมีปัญหาการวางโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จทั่วโลกที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งลิเทียม และนิกเกิล ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตรถอีวีสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนแบบโออีเอ็ม ลดช่องว่างด้านราคากับรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาปได้ยากขึ้น และอาจทำให้ยอดขายรถบีอีวี ขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่ามาก หรือหยุดชะงักไปเลยในบางตลาด ทำให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถ รถไฟฟ้าใช้เวลานานขึ้น กว่าจะถึงจุดคุ้มทุน 

ไมค์ แรมซี รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า ปัญหาการขาดแคลนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์จะยังดำเนินต่อไปตลอดในปีนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงจุดสิ้นสุดของสถานการณ์ขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ที่ลามไปสู่การผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตเหล่านี้ยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหลักสำหรับแบตเตอรี่ในรถบีอีวี ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น 

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2026 รถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายทั่วโลกจะเป็นแบรนด์รถยนต์จีนในสัดส่วนกว่า 50%  และมีบริษัทจีนมากกว่า 15 แห่ง ที่จำหน่ายรถอีวี และหลายรุ่นมีขนาดเล็กกว่าและมีราคาถูกกว่าคู่แข่งต่างชาติอย่างมาก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/42ncdiHwIFeekv25nUlkfr/0c28025bc2a889156074a4398783f002/info-china-overtakes-japan-as-world-top-car-exporter
ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ อย่างเทสลา โฟล์คสวาเกน และเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ก็จำหน่ายรถอีวีจำนวนมากในจีนด้วยเหมือนกันแถมยังมียอดขายรถชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย 

ส่วนความคืบหน้าในการแก้ปัญหาขาดแคลนชิปนั้น ล่าสุดอังกฤษประกาศแผนลงทุนเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตชิปในประเทศและป้องกันอุปทานชะงักงัน 

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานว่า การลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ของอังกฤษครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในระยะ 20 ปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงขาดแคลนชิป และลดการใช้ชิปต่างประเทศ จะช่วยปกป้องความมั่นคงของชาติอีกด้วย 

รัฐบาลอังกฤษจะลงทุนสูงถึง 200 ล้านปอนด์ ในระหว่างปี 2023 -2025 ก่อนจะขยายเป็น 1,000 ล้านปอนด์ในอีกสิบปีข้างหน้า
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์