โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เหมา หนิง แถลงการณ์ถึงประเด็นที่ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศจำกัดวีซ่าและมาตรการคว่ำบาตรกรณีที่ไทยส่งชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับจีน รวมถึงแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยที่เน้นย้ำว่า “ไทยยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมในการส่งพลเมืองจีนกลับประเทศมาโดยตลอด และความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ควรสร้างขึ้นบนพื้นฐานความเคารพซึ่งกันและกัน”
“ความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในการปราบปรามการลักลอบขนคนเข้าเมืองและกิจกรรมผิดกฎหมายข้ามพรมแดนอื่นๆ นั้นเป็นไปตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ รวมถึงกฎหมายและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิ์แทรกแซง” เหมา กล่าว
เหมา กล่าวต่อว่า “ชาวอุยกูร์ 40 คนถูกควบคุมตัวในประเทศไทยนานถึง 10 ปี หลังจากถูกจับกุม รัฐบาลจีนมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในการปกป้องพลเมืองจีน ช่วยให้พวกเขาได้กลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัว และกลับสู่ชีวิตปกติ” นอกจากนี้ เหมายังตั้งข้อสังเกตว่าความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะทำให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องการเมืองนั้น ในทางปฏิบัติแล้วก็คือการใช้มาตรฐานสองมาตรฐานในการปราบปรามผู้เห็นต่าง
“ในปีงบประมาณ 2024 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรของสหรัฐฯ (ICE) ได้เนรเทศผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารมากกว่า 270,000 คนจาก 192 ประเทศ ซึ่งถือเป็นจำนวนการเนรเทศสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014”
“ในขณะที่สหรัฐฯ บังคับใช้การเนรเทศจำนวนมากอย่างไม่เลือกหน้า แต่สหรัฐฯ ก็ยังกล่าวหา โจมตี ใส่ร้าย คว่ำบาตร และกดดันประเทศอื่นๆ อย่างไม่ยุติธรรมสำหรับความร่วมมือในการบังคับใช้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนี่ถือเป็นตัวอย่างทั่วไปของพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง”
“จีนประณามอย่างรุนแรงต่อการใส่ร้ายป้ายสีและการคว่ำบาตรที่ผิดกฎหมายที่มุ่งเป้าไปที่จีนและไทย อีกทั้งจีนยังคัดค้านอย่างเด็ดขาดที่สหรัฐฯ ใช้สิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้างในการจัดการกับปัญหาซินเจียง แทรกแซงกิจการภายในของจีน และขัดขวางความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายปกติระหว่างจีนและประเทศที่เกี่ยวข้อง”
“จีนจะยังคงเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานกับประเทศที่เกี่ยวข้องบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียมกัน ปกป้องสิทธิผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเมืองจีน และเพิ่มความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ” เหมา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนรายงานว่า การส่งตัวผู้ต้องสงสัยคดีฉ้อโกงทางโทรคมนาคมชาวจีน หรือแก๊งสแกมเมอร์ จากเมืองเมียวดีของเมียนมากลับสู่จีน ภายใต้การร่วมปราบปรามของจีน เมียนมา และไทย ขณะนี้ตัวเลขทั้งหมดอยู่ที่ 2,876 รายแล้วกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนรายงานว่า การส่งตัวผู้ต้องสงสัยคดีฉ้อโกงทางโทรคมนาคมชาวจีน หรือแก๊งสแกมเมอร์ จากเมืองเมียวดีของเมียนมากลับสู่จีน ภายใต้การร่วมปราบปรามของจีน เมียนมา และไทย ขณะนี้ตัวเลขทั้งหมดอยู่ที่ 2,876 รายแล้ว
(Photo by Pedro PARDO / AFP)