จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ในเมียนมาร์เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ส่งแรงกระเพื่อมมาถึงประเทศไทยจนอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาทั้งอาคาร โดยเป็นเพียงอาคารที่กำลังก่อสร้างเพียงอาคารเดียวที่ทนแรงสั่นสะเทือนไม่ได้ และทราบต่อมาว่า ผู้รับเหมาคือ China Railway Number 10 Engineering Group รัฐวิสาหกิจจีน ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงโครงสร้างอาคาร มาตรฐานการก่อสร้าง ไปจนถึงคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้
ก่อนหน้านี้ที่ประเทศจีนเกิดการตั้งคำถามถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นที่มาของคำว่า “โต้วฟูจากงเฉิง” หรือ Tofu-dreg project หรือบางครั้งก็เรียกว่า Tofu buildings หรือ “อาคารเต้าหู้” ซึ่งใช้บรรยายถึงสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการพังถล่ม เหมือนกับเต้าหูที่แตกง่ายและไม่แข็งแรง
เว็บไซต์ Volume Concrete ระบุลักษณะของอาคารเต้าหู้ไว้ดังนี้
- เป็นการก่อสร้างที่ใช้วัสดุเกรดต่ำหรือไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของอาคาร
- การดูแลและการจัดการไม่เพียงพอระหว่างกระบวนการก่อสร้าง ทำให้เกิดการละเลยหรือไม่ใส่ใจรายละเอียดที่สำคัญ
- มีจุดอ่อนทางโครงสร้างที่สำคัญที่ทำให้อาคารไม่ปลอดภัยและมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายหรือพังทลาย
- การไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัย ส่งผลให้ทั้งคนงานก่อสร้างและผู้อยู่อาศัยในอนาคตตกอยู่ในความเสี่ยง
ดังนั้น อาคารเต้าหูจึงมีแนวโน้มจะเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว และต้องซ้อมแซมบ่อยครั้ง
คำว่า “โต้วฟูจากงเฉิง” ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยนายกรัฐมนตรี จูหรงจี ของจีนเมื่อปี 1998 ระหว่างที่เขาเดินทางเยือนเมืองจิ่วเจียงในมณฑลเจียงซี โดยจูหรงจีพูดถึงเขื่อนที่สร้างแบบชุ่ยๆ บนแม่น้ำแยงซีว่า เขื่อนกั้นน้ำดูเปราะบางและมีรูพรุนเหมือนกากเต้าหู้ซึ่งเป็นเศษที่เหลือจากกระบวนการผลิตเต้าหู้
คำคำนี้ได้รับความสนใจไปทั่วประเทศหลังเกิดแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนในปี 2008 ซึ่งผู้เสียชีวิตจำนวน 20,000 คนจากทั้งหมด 70,000 คนเป็นเด็กนักเรียนที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารเรียน ซึ่งในภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่าสร้างอย่างเร่งรีบและลวกๆ
การพังถล่มของโรงเรียนหลายแห่งในเสฉวนถูกโยงกับการคอร์รัปชัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและบริษัทรับเหมาก่อสร้างละเลยในการก่อสร้างโรงเรียน และเพิกเฉยต่อมาตรฐานวิศวกรรมโยธา ประหยัดวัสดุ และใช้ทางลัด เพื่อเก็บเงินส่วนต่างเข้าประเป๋าตัวเอง
วันที่ 15 พ.ค. 2008 เจฟฟรีย์ ยอร์ก จาก The Globe and Mail รายงานเหตุโรงเรียนพังถล่มหลังแผ่นดินไหวว่า อาคารที่สร้างแบบลวกๆ ถูกเรียกว่า อาคารเต้าหู้ เพราะผู้รับเหมามักง่ายใช้ลวดเหล็กแทนเหล็กเส้นเพื่อเสริมคอนกรีต ใช้ปูนซีเมนต์คุณภาพต่ำ และใช้อิฐน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยมีชาวบ้านในท้องถิ่นรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “หน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้ตรวจสอบเพื่อดูว่าเป็นไปตามมาตรฐานแห่งชาติหรือไม่”
ที่ทำเอาชาวบ้านโกรธหนักขึ้นคือ เดือน ก.ค. 2010 อาคารที่ถูกสร้างเพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 2008 กลับถล่มลงมาทั้งที่กำลังจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายแหตุการณ์ อาทิ
- โลตัส ริเวอร์ไซด์ คอมเพล็กซ์ ในเซี่ยงไฮ้ ปี 2009: อพาร์ทเมนท์ 13 ชั้นย่านโลตัส ริเวอร์ไซด์ คอมเพล็กซ์ทรุดเอียงลงมาทั้งตึก แต่สภาพส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์ การตรวจสอบภายหลังพบว่า ฐานรากของอาคารก่อสร้างไม่ดี การขุดเจาะโรงจอดรถใต้ดินทำให้ฐานอาคารอ่อนแอและมีส่วนทำให้ตัวอาคารทรุดตัวลง
- โรงเรียนมัธยมเฟิงหัวในมณฑลเจ้อเจียง ปี 2014: หลังคาของโรงยิมพังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีกหลายราย พบว่าสาเหตุของการถล่มเกิดจากวัสดุและวิธีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
- โรงแรมฮาร์บิน ปี 2016: โรงแรมแห่งหนึ่งที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมา ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 10 ราย การถล่มถูกโยงกับการก่อสร้างไม่ดี รวมทั้งการใช้วัสดุไม่เพียงพอ และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัย
- ดินถล่มเซินเจิ้น 2015: แม้จะไม่มีอาคารถล่ม แต่เหตุการณ์ดินถล่มที่เซินเจิ้นซึ่งทับถมทับอาคารหลายหลังและมีผู้เสียชีวิตถึง 69 รายถูกเชื่อมโยงกับการกำจัดขยะที่เกิดจากการก่อสร้างไม่เหมาะสม กองขยะซึ่งสุมกันสูงจนดูไม่ปลอดภัยเกิดถล่มลงมาและทำให้เกิดดินถล่ม
การสร้างอาคารเต้าหู้มักเกิดขึ้นจากความเร่งรีบเพื่อให้ทันกับโอกาสการครบรอบต่างๆ ของรัฐ อาทิ ก่อนวันครบรอบ 90 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 1 ก.ค. 2011 โครงการก่อสร้างหลายโครงการได้เริ่มขึ้น รวมทั้งสะพานอ่าวเจียวโจว แต่รายงานข่าวของสำนักข่าว CCTV เพียงไม่กี่วันหลังเปิดใช้สะพานกลับแสดงให้เห็นว่าสลักเกลียวหายไปหรือไม่แน่น และยังมีช่องว่างที่ราวกั้น
หรืออย่างปี 2007 สะพานในมณฑลหูหนานที่วางแผนจะเปิดใช้ในวันครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งมณฑลกลับพังถล่มระหว่างก่อสร้าง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 64 ราย
การทุจตริตและรับสินบนมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างอาคารเต้าหู้ เมื่อเงินงบประมาณถูกเบียดบังเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่ เงินสำหรับซื้อวัสดุที่มีคุณภาพและแรงงานฝีมือก็เหลือน้อยลง อีกทั้งโครงการก่อสร้างเหล่านี้มักจะอนุมัติให้บริษัทที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าบริษัทที่มีความพร้อม
ที่ซ้ำร้ายคือ รัฐบาลท้องถิ่นมักจะให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างรวดเร็วและมักจะทำเป็นหลับตาข้างหนึ่งเมื่อพูดถึงมาตรฐานการก่อสร้าง เหตุผลข้อแรกคือ รัฐบาลท้องถิ่นต้องพึ่งพารายได้จากการก่อสร้าง รวมทั้งการขายที่ดินและค่าโอนกรรมสิทธิ์ เหตุผลต่อมาคือ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของท้องที่ของตัวเอง จึงไม่แปลกที่ท้องถิ่นจะไฟเขียวให้มีการก่อสร้างมากๆ
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP