จีนไม่สนท้ายน้ำเดือดร้อน เดินหน้าสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเพิ่ม

30 มี.ค. 2567 - 02:00

  • ภาพถ่ายทางดาวเทียมเผยให้เห็นว่าจีนเริ่มเดินเครื่องใช้งานเขื่อนทั่วป๋าซึ่งเป็นเขื่อนลำดับที่ 12 อย่างเงียบๆ บนแม่น้ำล้านช้าง

  • เขื่อนของจีนถูกมองว่าทำให้ปัญหาความแห้งแล้วในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุนแรงขึ้น ทั้งยังทำลายระบบนิเวศตลอดลำน้ำที่ชาวประมง เกษตรกร นกอพยพ และพันธุ์ปลาพันธุ์พืชนับร้อยสายพันธุ์ต้องพึ่งพา

china-turns-on-new-mekong-river-dam-despite-impact-on-se-asia-SPACEBAR-Hero.jpg

จีนยังคงเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงแม้ว่าเขื่อนพลังน้ำเหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับคนที่อยู่ท้ายน้ำอย่างชาวประมง เกษตรกร และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 60 ล้านชีวิต 

สำนักข่าว The Straits Times ของสิงคโปร์รายงานว่า ภาพถ่ายทางดาวเทียมเผยให้เห็นว่าจีนเริ่มเดินเครื่องใช้งานเขื่อนทั่วป๋าซึ่งเป็นเขื่อนลำดับที่ 12 อย่างเงียบๆ บนแม่น้ำล้านช้างซึ่งเป็นชื่อที่จีนใช่เรียกแม่น้ำโขง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการมูลค่า 20,000 ล้านหยวนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 

เขื่อนทั่วป๋ามีบริษัท หยุนหนาน ฮั๋วเหนิง ล้านช้าง ริเวอร์ ไฮโดรพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทรัฐวิสาหกิจ ไชนา ฮั๋วเหนิง กรุ๊ป และตั้งอยู่ในมณฑลยูนนานทางตอนบนของแม่น้ำล้านช้าง 

จีนซึ่งต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามองว่าการสร้างเขื่อนสำคัญต่อเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060  

แม่น้ำล้านช้าง หรือแม่น้ำโขงมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาสูงชันและมีประชากรค่อนข้างน้อยทางตอนบนของแม่น้ำ ทำให้เหมาะแก่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและการสร้างอ่างเก็บน้ำ 

เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำล้านช้างสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1995 และนอกเหนือจากเขื่อนทั่วป๋าแล้ว ยังมีอีก 8 เขื่อนที่ถูกวางแผนไว้แล้ว

china-turns-on-new-mekong-river-dam-despite-impact-on-se-asia-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ชาวประมงกำลังวางอวนดักปลาในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านอำเภอเวียงแก่นของเชียงราย ติดกับพรมแดนลาว Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

เขื่อนของจีนถูกมองว่าทำให้ปัญหาความแห้งแล้งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุนแรงขึ้น ทั้งยังทำลายระบบนิเวศตลอดลำน้ำที่ชาวประมง เกษตรกร นกอพยพ และพันธุ์ปลาพันธุ์พืชนับร้อยสายพันธุ์ต้องพึ่งพา 

แม่น้ำโขงซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีต้นน้ำมาจากที่ราบสูงชิงไห่-ธิเบตในจีน แล้วไหลเรื่อยลงมายังเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ว่ากันว่าการทำประมงในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกื้อหนุนชีวิตผู้คนกว่า 60 ล้านคน 

ด้วยเหตุนี้ การสร้างเขื่อนของจีนจึงสร้างความตึงเครียดระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พยายามขอความร่วมมือจากจีนในการแบ่งปันข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ของเขื่อน  

ที่ผ่านมาจีนปฏิเสธการเข้าร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เนื่องจาก MRC จำกัดการสร้างเขื่อน ความตกลงแม่น้ำโขง 1995 (Mekong Agreement) ของ MRC กำหนดว่าประเทศสมาชิกต้องผ่านกระบวนการปรึกษาหารือก่อนจึงจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักได้ โดยขั้นตอนนี้เกิดขึ้นหลังจากลาววางแผนสร้างเขื่อนไซยะบุรีในปี 2010  

MRC ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนามเผยกับสำนักข่าว The Straits Times ของสิงคโปร์ผ่านอีเมลว่า ทั้ง MRC เองและประเทศสมาชิกไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจากจีนเกี่ยวกับเขื่อนทั่วป๋าเลย เนื่องจากจีน “ไม่ได้เป็นสมาชิกที่ลงนามของ MRC” แต่ในฐานะสมาชิกคู่เจรจาของ MRC จีนให้ข้อมูลด้านอุทกวิทยาตลอดทั้งปีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งช่วยปรับปรุงขีดความสามารถในการติดตามแม่น้ำและการคาดการณ์น้ำท่วมและความแห้งแล้งในประเทศลุ่มน้ำโขง 

MRC ยังระบุว่า ขณะนี้ความร่วมมือกับจีนในการศึกษาผลกระทบของเขื่อนต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเดินเนินอยู่ 

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเผยกับ The Straits Times ว่า การสร้างเขื่อนทั่วป๋าส่งผลกระทบต่อวัฏจักรน้ำท่วม ซึ่งสำคัญต่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบแม่น้ำและชีวิตต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำ

เพียรพรเผยว่า “ชุมชนแม่น้ำโขงที่ต้องเผชิญกับปลาที่ลดลง สวนริมฝั่งแม่น้ำและที่ดินทำการเกษตรถูกกัดเซาะไม่เคยได้รับการเยียวยาความสูญเสียของพวกเขา เราต้องให้ความสนใจมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำที่เกิดจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างไร”

รายงานเรื่อง Mekong’s Forgotten Fishes (ปลาแม่น้ำโขงที่ถูกลืม) ฉบับปีนี้ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2003-2019 ประชากรปลาในโตนเลสาบของกัมพูชาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบแม่น้ำโขงลดลงถึง 88%  

The Straits Times ระบุว่า ความพยายามของบรรดาประเทศลุ่มน้ำโขงล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าแล้วคือ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ระหว่าง MRC และจีนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ตกลงแบ่งปันข้อมูลเกือบเรียลไทม์เกี่ยวกับระดับการกักเก็บน้ำและการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ไบรอัน อายเลอร์ จากศูนย์สติมสันที่ติดตามสถานการณ์ในแม่น้ำโขงมองว่า จีนมีหน้าที่แจ้งประเทศท้ายน้ำทราบเมื่อเขื่อนกักเก็บน้ำเสร็จแล้ว และกล่าวอีกว่า แม้ว่าจะไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องทำ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ จีนได้ให้คำมั่นว่าจะมีข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และ “แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความร่วมมือที่แท้จริงในแม่น้ำโขง” 

เฟรเดอริก คลีม ประธาน Episteme Consultants ที่ปรึกษาด้านการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนเผยว่า เขื่อนเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความนิยมในประเทศต่างๆ เนื่องจากมีศักยภาพสูง และการดำเนินงานของเขื่อนไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทว่าเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานสะอาดอื่นๆ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และความร้อนใต้พิภพ เขื่อนพลังงานน้ำเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด เพราะมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

คลีมเผยอีกว่า การดำเนินงานของเขื่อนทั่วป๋าบ่งชี้ว่าจีนยังคงมีความเชื่อต่อสิทธิ์ในการสร้างเขื่อนอยู่ แม้ว่าจะเพิ่งร่วมมือกับกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง และแม้จะสร้างผลกระทบทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในจีนที่ชาวบ้านที่อยู่ตามริมน้ำต้องย้ายที่อยู่  

“ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับเขื่อนเหล่านี้และพวกเขาก็ยังเดินหน้าสร้างมันต่อ” คลีมทิ้งท้าย 

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์