สีจิ้นผิงยกเครื่อง ครม.ครั้งใหญ่มุ่งพึ่งพาเทคโนโลยีของตัวเองสู้สงครามเทคสหรัฐฯ

9 มีนาคม 2566 - 07:44

China-counteUSA-SPACEBAR-Thumbnail
  • การเปลี่ยนแปลงมนตรีแห่งรัฐหรืคณะรัฐมนตรีของจีน เป็นการปรับครั้งใหญ่ในรอบหลายปปี และเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่สีจิ้นผิงครองอำนาจเมื่อปี 2013

จีนประกาศยกเครื่องรัฐบางครั้งใหญ่ด้วยการปรับหน่วยงานที่ควบคุมดูแลระบบการเงินของประเทศและพุ่งเป้ายกระดับการพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยี เนื่องจากสงครามเทคกับสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้น 

การเปลี่ยนแปลงมนตรีแห่งรัฐ หรืคณะรัฐมนตรีของจีน เป็นการปรับครั้งใหญ่ในรอบหลายปปี และเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่สีจิ้นผิงครองอำนาจเมื่อปี 2013 ทั้งยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับการควบคุมสถาบันของรัฐบาลของสีจิ้นผิงและเปิดช่องให้สีจิ้นผิงแต่งตั้งคนที่ไว้วางใจเข้ามานั่งตำแหน่งสำคัญๆ  

การควบคุมกระทรวงหลักๆ ให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นจะเป็นประโยชน์ในการจัดตำแหน่งต่างๆ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่สีจิ้นผิงให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเสถียรภาพของสังคมและเศรษฐกิจ ไปจนถึงการบริหารจัดการความตึงเครียดทางภูมรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ  

นักวิเคราะห์ของโกลด์แมนแซคส์มองว่า “การเสนอปรับเปลี่ยนองค์การเหล่านี้สะท้อนประเด็นสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายของจีนให้ความสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาทิ การปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงิน” 

ครม.ของจีนกำกับดูแล 26 กระทรวงและหน่วยงานบริหารระดับกระทรวงอีกหลายสิบแห่ง แม้ว่าการตัดสินใจสำคัญๆ จะทำโดยโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สภาแห่งรัฐก็ใช้อำนาจในระดับหนึ่งเพื่อดำเนินนโยบายเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ ปักกิ่งยังมีแผนจะลดตำแหน่งงานราชการที่จีนใช้คำเรียกว่า 铁饭碗 (เถี่ยฟั่นหวั่น) หรือ iron rice bowl ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐในระบบสังคมนิยมที่เป็นอาชีพมั่นคง มีสวัสดิการรัฐดูแลรอบด้าน โดยจะลดจำนวนข้าราชการในรัฐบาลกลางลง 5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า 

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ประกาศในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติคือ จีนจะตั้งหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินที่ทรงอิทธิพล (NFRA) ซึ่งจะมาแทนที่คณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคาร (CBIRC) ที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกัน 

NFRA จะบริหารบริษัทโฮลดิงด้านการเงินหลักๆ ของประเทศโดยตรง รวมทั้งยักษ์ใหญ่ฟินเทคอย่างแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ของอาลีบาบา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นงานของธนาคารกลางแห่งชาติ รวมทั้งจะรับผิดชอบในการคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุนด้านการเงิน 

เคน เฉิง นักยุทธศาสตร์ด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของ Mizuho Bank เผยว่า นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของปักกิ่งเพื่อยืนยันการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐอาจทำให้นักลงทุนหวาดกลัว “ความเชื่อมั่นอาจแย่ลงเนื่องจากนักลงทุนควรระมัดระวังต่อสิ่งใดๆ ของการเข้มงวดด้านกฎระเบียบ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์จากภาคเทคโนโลยี ตลาดที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรมติมเตอร์ส่วนตัว ดูเหมือนว่าการต่อสู้กับความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ยังไม่จบ” 

ซูเปอร์เรกูเลเตอร์ 

ตามธรรมเนียมแล้วระบบการเงินของจีนจะกำกับดูแลร่วมกันระหว่างธนาคารกลาง CBIRC และคณะกรรมาธิการกำกับดูแลหลักทรัพย์จีน (CSRC) แต่หลังจากนี้ NFRA จะดูแลภาคการเงินทั้งหมดยกเว้นอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ที่จะอยู่ภายใต้การดูแลของ CSRC  

ข้อเสนอของรัฐบาลระบุว่า ผู้ควบคุมใหม่เข้ามาเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงในระบบการเงินให้ดีขึ้น และเสริมสร้างการกำกับดูแล “สถาบัน ความประพฤติ และการทำหน้าที่” 

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของจีนเพิ่มขึ้นท่ามกลางตลาดที่อยู่อาศัยที่ทรุดตัวและเศรษฐกิจชะลอตัว โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของเงินกู้จากสถาบันการเงินกำลังอยู่ทามกลางขาลงที่แย่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

สภาวะที่ถูกกดดันทางการเงินเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ ไล่ตั้งแต่การประท้วงที่ธนาคารในชนบทของเหอหนานเมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว ไปจนถึงการบอยคอตต์ด้วยการไม่ชำระคืนเงินกู้ยืมที่ขยายเป็นวงกว้าง และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น 

ในการยกเครื่องครั้งนี้ CSRC จะถูกอัปเกรดจาก “สถาบันของรัฐ” มาเป็น “สถาบันของรัฐบาล” และนอกจากความรับผิดชอบที่มีอยู่แล้ว CSRC ยังได้รับหน้าที่ใหม่นั่นคือ การตรวจสอบและอนุมัติการออกพันธบัตรของบริษัทต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน  

โกลด์แมนแซคส์ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้แสดงให้เห็นว่า ปักกิ่ง “ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดตราสารทุนมากขึ้น และผลักดันการจัดหาเงินทุนโดยตรงมากขึ้นเพื่อจัดสรรเงินทุนให้ดีขึ้นและช่วยชะลอการก่อหนี้” 

บรรลุการพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยี 

ข้อเสนอของรัฐบาลยังรวมถึงพยายามหลายอย่างในการเสริมสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีนเพื่อตอบโต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่ขยายวงขึ้นเรื่อยๆ จากสหรัฐฯ ในการขายเทคโนโลยีให้จีน 

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณนี้จะถูกปรับโครงสร้างและปรับปรุงให้ดีขึ้น และจะได้รับมอบหมายให้พัฒนา "ระบบทั้งประเทศ" สำหรับนวัตกรรมโดยให้ความสำคัญกับการวิจัยขั้นพื้นฐานและการใช้เทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 

ข้อเสนอของรัฐบาลระบุว่า “เมื่อเผชิญกับสถานการณ์การแข่งขันกันอย่างรุนแรงด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศและการกีดกันและปราบปรามจากภายนอก (เราต้อง)…ประสานกองกำลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ดีขึ้นเพื่อเอาชนะความยากลำบากในเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ และบรรลุการพึ่งพาตนเองอย่างรวดเร็วในเทคโนโลยีขั้นสูง” 

นอกจากนี้ จีนจะตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาดูแลข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยสำนักงานข้อมูลแห่งชาติจะได้รับมอบหมายให้ร่างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลและประสานการแบ่งปันและใช้ข้อมูล 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายปี 2020-2022 ทางการจีนเริ่มออกกฎเกณฑ์ปราบปรามอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้บริษัทเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลเป็นไปในแนวทางเดียวกับสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศชัดเจนก่อนการปราบปรามว่า พรรคต้องการภาคเอกชน “ที่มีสำนึกทางการเมือง” ซึ่งจะ “รับฟังและทำตามที่พรรคต้องการอย่างแน่วแน่” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์