จีนเตือนนานาชาติ-กลุ่มประเทศ ‘BRICS’ อย่ายอมจำนนต่อการขู่ขึ้นภาษีของทรัมป์

30 เม.ย. 2568 - 08:23

  • รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวังอี้ กล่าวว่า การประนีประนอมจะยิ่งทำให้ ‘ผู้รังแก’ (สหรัฐฯ) ได้ใจ และเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ BRICS ร่วมกันต่อต้านมาตรการภาษีของสหรัฐฯ

  • ท่าทีที่แข็งกร้าวนี้แสดงให้เห็นว่าจีนตั้งใจจะต่อต้านแรงกดดันให้เข้าสู่โต๊ะเจรจาการค้า แม้รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ จะบอกว่าสหรัฐฯ อาจสั่งห้ามส่งออกสินค้าบางประเภทไปจีนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง

china-vows-to-stand-firm-urges-nations-to-resist-bully-trump-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวังอี้ กล่าวในที่ประชุมกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRICS) เมื่อวันจันทร์ (28 เม.ย.) ว่า การประนีประนอมจะยิ่งทำให้ ‘ผู้รังแก’ (สหรัฐฯ) ได้ใจ และเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ BRICS ร่วมกันต่อต้านมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยท่าทีที่แข็งกร้าวนี้แสดงให้เห็นว่าจีนตั้งใจจะต่อต้านแรงกดดันให้เข้าสู่โต๊ะเจรจาการค้า แม้รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ จะบอกว่าสหรัฐฯ อาจสั่งห้ามส่งออกสินค้าบางประเภทไปจีนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง 

“สหรัฐฯ ซึ่งได้ประโยชน์มหาศาลจากการค้าเสรีมาโดยตลอด ตอนนี้ถึงขั้นใช้ภาษีเป็นเครื่องต่อรองเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์เกินควรจากทุกประเทศ หากใครเลือกที่จะนิ่งเฉย ประนีประนอม หรือหวาดกลัว ก็จะยิ่งทำให้ผู้รังแกได้ใจและกล้าทำมากขึ้น” หวังอี้ กล่าว 

กระทรวงการต่างประเทศจีนเผยแพร่วิดีโอพร้อมคำบรรยายสองภาษาเมื่อวันอังคาร (29 เม.ย.) ยืนยันว่าจีนจะไม่ยอมอ่อนข้อ โดยอ้างว่านี่เป็นผลดีต่อโลกด้วย “จีนจะไม่ยอมคุกเข่า เพราะเรารู้ว่าการยืนหยัดเพื่อตัวเองจะยังเปิดโอกาสให้ความร่วมมือดำเนินต่อไป ในขณะที่การประนีประนอมจะทำให้ความร่วมมือนั้นสูญเปล่าไป” 

เงินหยวนในตลาดนอกประเทศแข็งค่าขึ้น 0.2% แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ หลังธนาคารกลางจีนปรับแข็งค่าค่าเงินเมื่อวันอังคาร ส่วนตลาดหุ้นจีนในฮ่องกงและในประเทศปรับตัวลดลงเล็กน้อย 

การเรียกร้องของหวังอี้ต่อประชาคมโลกสะท้อนความพยายามของจีนในการสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็น ‘ผู้พิทักษ์การค้าเสรี’ ขณะที่ภาษีของสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าทั่วโลก จีนเรียกร้องพันธมิตรให้ปกป้องพหุภาคีนิยม และเตือนรัฐบาลอื่นๆ ไม่ให้ทำข้อตกลงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยที่จีนต้องเสียเปรียบ 

ดีแลน โลห์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์กล่าวว่า “จีนต้องการแสดงความมุ่งมั่น เพราะเชื่อว่าการแสดงจุดอ่อนเป็นการเล่นไพ่แพ้ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ต้องการทำข้อตกลง หรือหาทางออก” 

จีนระบุว่ายินดีสนับสนุนความร่วมมือทางธุรกิจตามปกติระหว่างสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลก หลังสายการบินจีนปฏิเสธรับมอบเครื่องบินใหม่จากโบอิ้ง กระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวว่า บริษัทต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเรียกร้องให้สหรัฐฯ สร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคงสำหรับการค้า 

สหรัฐฯ ยืนกรานว่า ‘ลูกบอลอยู่ในมือของจีน’ เพื่อลดความตึงเครียด เบสเซนต์กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่าสหรัฐฯ มีบันไดการยกระดับ และอ้างว่า “กังวลที่จะไม่ต้องใช้มัน” ซึ่งสะท้อนถึงความเร่งด่วนที่เพิ่มมากขึ้นของรัฐบาลที่จะนำจีนเข้าสู่โต๊ะเจรจา 

“การที่จีนยกเว้นสินค้าทั้งหมดเหล่านี้ แสดงว่าจีนต้องการลดความตึงเครียด” เบสเซนต์ กล่าว โดยอ้างถึงรายงานว่า จีนจะระงับการเก็บภาษี 125% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น อุปกรณ์การแพทย์ การเช่าเครื่องบิน และสินค้าเซมิคอนดักเตอร์อย่างน้อย 8 รายการ 

“สิ่งที่เรายังไม่ได้ทำคือการยกระดับด้วยการสั่งห้าม หรือแบนสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งเราสามารถทำได้หากจำเป็นเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง” เบสเซนต์ กล่าวเสริม 

จีนปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่ได้กำลังเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แต่จีนกลับเรียกร้องความเคารพซึ่งกันและกัน และการยกเลิกภาษีทั้งหมดก่อนการเจรจาใดๆ 

“หากสหรัฐฯ ต้องการแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ก็ควรหยุดข่มขู่และกดดัน แล้วพูดคุยกับจีนบนพื้นฐานความเท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน” กัวเจียคุน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวตอบคำถามประเด็นถ้อยแถลงของเบสเซนต์ 

จีนกำลังพยายามป้องกันเศรษฐกิจจากผลกระทบของภาษีทรัมป์ ด้วยการสนับสนุนผู้ส่งออกและกระตุ้นการบริโภค นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ โฮลดิงส์ (Nomura Holdings) ระบุว่า “ภาษีของสหรัฐฯ อาจทำให้จีนสูญเสียงานถึง 15.8 ล้านตำแหน่ง” ขณะที่บริษัทโกลด์แมนแซกส์กรุ๊ป (Goldman Sachs Group, Inc.) ชี้ว่าผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสาร เสื้อผ้า และเคมีภัณฑ์เสี่ยงมากที่สุดเพราะพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก 

เจ้าหน้าที่จีนให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ เช่น การให้สินเชื่อกับบริษัทที่ประสบปัญหา เตรียมผ่อนคลายสภาพคล่องให้ธนาคาร และลดดอกเบี้ยในเวลาที่เหมาะสมเพื่อช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่ง 1 ใน 3 ของ GDP จีนปีที่แล้วมาจากภาคส่งออก 

(Photo by GREG BAKER / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์