เครื่องบินขับไล่ ‘เฉิงตู เจ-10C’ (Chengdu J-10C) หรือ ‘Vigorous Dragon’ และขีปนาวุธล้ำสมัยของจีนได้ผ่านการทดสอบในสนามรบจริงครั้งแรก ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำให้เครื่องบินรบของฝรั่งเศสถูกยิงตก
การสู้รบระหว่างกองทัพอากาศของปากีสถานและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ มีรายงานว่าเครื่องบินรบของอินเดียหลายลำถูกยิงตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงเครื่องบินรบราฟาล (Rafale) ของฝรั่งเศสอย่างน้อย 1 ลำ
ปากีสถานใช้เครื่องบินขับไล่ J-10C ในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ปากีสถานระบุว่ามีเครื่องบินเข้าร่วมมากกว่า 100 ลำในเหตุปะทะดังกล่าว
ไม่มีฝ่ายใดข้ามพรมแดนระหว่างการปะทะทางอากาศระหว่างปากีสถานและอินเดีย แต่รายงานระบุว่าเครื่องบินรบของอินเดียถูกยิงตกทั้งในอินเดียและในแคชเมียร์ที่อินเดียปกครองอยู่ แหล่งข่าวกรองฝรั่งเศสยืนยันกับสำนักข่าว CNN ว่า เครื่องบินรบราฟาลอย่างน้อย 1 ลำถูกยิงตก ถือเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินรุ่นนี้ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์รุ่น 4.5 เสียหายในสนามรบ
ขณะนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังเฝ้าติดตามประสิทธิภาพเครื่องบินเจ็ตของจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อหาข้อมูลว่าจีนจะรับมือกับไต้หวัน หรือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “ปฏิบัติการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าขีดความสามารถของเครื่องบินรบ J-10C ได้รับการพิสูจน์บนเวทีโลกแล้ว” โดยหุ้นของบริษัท ‘Chengdu Aircraft Corporation’ พุ่งสูงขึ้นถึง 1 ใน 3 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ในขณะเดียวกัน การแสดงศักยภาพของ J-10C ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับวงการกลาโหมของชาติตะวันตก โดยมีการประเมินว่า ‘อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมในตลาดอาวุธโลก’
หู จี้ซิน อดีตบรรณาธิการของ Global Times สื่อของรัฐบาลจีน กล่าวว่า “การแสดงศักยภาพครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระดับการผลิตอาวุธของจีนนั้นแซงหน้ารัสเซียและฝรั่งเศสไปอย่างสิ้นเชิง...ความสำเร็จในสนามรบนี้ทำให้ไต้หวันควรรู้สึก ‘หวาดกลัวมากยิ่งขึ้น’”
ด้าน ดร.ฟารุค ซาเล็ม นักรัฐศาสตร์ชาวปากีสถาน เผยว่า “การที่เครื่องบิน J-10C ยิงเครื่องบิน Rafale ตก จะส่งผล 3 ประการ คือ :
- ทำให้ J-10C ได้รับการยอมรับในฐานะคู่แข่งที่น่าเกรงขามของเครื่องบินรบตะวันตกอย่าง Rafale, ยูโรไฟเตอร์ ไทฟูน (Eurofighter Typhoon) และเครื่องบินขับไล่ F-16V
- เปลี่ยนแปลงแนวโน้มการจัดซื้อเครื่องบินรบในประเทศกำลังพัฒนา
- ส่งเสริมการส่งออกอาวุธของจีน”
อุปกรณ์ทางทหารของปากีสถานประมาณ 80% ผลิตในจีน ซึ่งจีนได้ส่งมอบเครื่องบิน J-10C ชุดแรกให้กับปากีสถานในปี 2022 อย่างไรก็ดี เครื่องบิน J-10C เป็นเครื่องยนต์เดียวที่สามารถติดตั้งมิสไซล์ที่ปล่อยจากอากาศยาน (Air-to-air missile), ขีปนาวุธต่อต้านเรือ, ระเบิดนำวิถี, และจรวดได้
ขีปนาวุธ PL-15 ซึ่งติดตั้งในเครื่องบินรบ J-10C ยังไม่เคยถูกใช้ในสนามรบมาก่อน มีรายงานว่าถูกใช้ในการปะทะกับอินเดียเมื่อวันพุธ (7 พ.ค.) ที่ผ่านมา แม้ทางการอินเดียจะยังไม่ยืนยันการใช้ขีปนาวุธนี้ แต่ขีปนาวุธรุ่นนี้มีพิสัยการยิงไกลเป็นพิเศษ เทียบเท่ากับเครื่องบินรบระยะไกลข้ามพรมแดนที่ปะทะกันเมื่อวันพุธ
เครื่องบินขับไล่ J-10C ซึ่งได้รับการพัฒนาและอัปเกรดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดตัวในช่วงปี 2000 นั้นถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพทั้งในภารกิจต่อสู้ทางอากาศและโจมตีภาคพื้นดิน
ขณะที่เครื่องบินขับไล่เบา J-10C ของจีนใช้เทคโนโลยีรัสเซีย และถูกมองว่าเป็นเวอร์ชันของจีนที่เทียบเท่ากับเครื่องบินอเมริกัน F-16 และเครื่องบินสวีเดนซ้าบ กริพเพน (Saab Gripen)
เดวิด จอร์แดน อาจารย์ด้านการศึกษาด้านการป้องกันจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน กล่าวว่า “J-10C มีศักยภาพใกล้เคียงกับ F-16 รุ่นใหม่ แต่มีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ชุดขีปนาวุธระยะไกลที่ทำให้เครื่องบินรุ่นนี้มีข้อได้เปรียบในบางสถานการณ์”

นักวิเคราะห์ตะวันตกระบุว่า “การใช้ขีปนาวุธขั้นสูงในสนามรบจริงครั้งนี้จะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปผลอย่างชัดเจน”
ดักลาส แบร์รี นักวิจัยอาวุโสด้านอวกาศทางทหารที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ กล่าวว่า “ชุมชนสงครามทางอากาศในจีน สหรัฐฯ และหลายประเทศยุโรป จะให้ความสนใจอย่างมากในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยุทธวิธี เทคนิค ขั้นตอนการปฏิบัติการ อุปกรณ์ที่ใช้ สิ่งที่ได้ผลและไม่ได้ผลจากเหตุการณ์นี้”
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันเตือนว่า “ไม่ควรนำความสำเร็จของเครื่องบิน J-10C มาเป็นหลักฐานยืนยันความเหนือกว่า เพราะอาจมีปัจจัยอื่น เช่น ความผิดพลาดของนักบินฝั่งอินเดียเข้ามาเกี่ยวข้อง”
(Photo by HECTOR RETAMAL / AFP)