จับตา ‘สีจิ้นผิง’ เยือนรัสเซีย ท่ามกลางความหวังปลดชนวนสงคราม

23 กุมภาพันธ์ 2566 - 09:46

china-xi-jinping-visit-russia-putin-promote-peace-ukraine-avoid-nuclear-weapons-SPACEBAR-Thumbnail
  • จีนเตรียมใช้การพบปะกันครั้งนี้เพื่อตอกย้ำกับปธน.รัสเซียว่าไม่ควรใช้อาวุธนิวเคลียร์

  • จีนเตรียมยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางออกทางการเมืองสำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครน

  • นาโตชี้การไม่ร่วมมือในโครงการ New START ของรัสเซียทำให้โลกเป็นสถานที่อันตรายยิ่งขึ้น และขอให้ปูตินคิดใหม่

ขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกแสดงท่าทีสนับสนุนยูเครนอย่างมากในขณะนี้ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ก็รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจะพบปะกันที่กรุงมอสโก และการพบปะกันระหว่างผู้นำทั้งสอง เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามแสดงบทบาทเชิงรุกเพิ่มมากขึ้นของจีน เพื่อยุติสงครามที่ยาวนานมาถึงหนึ่งปี และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามผลักดันการเจรจาสันติภาพหลายฝ่าย นอกจากนี้ จีนยังเตรียมจะใช้การพบปะกันครั้งนี้ตอกย้ำว่าไม่ควรใช้อาวุธนิวเคลียร์ 

การเตรียมการเพื่อการพบปะกันครั้งนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่สรุปกรอบเวลา แต่อาจเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.หรือต้น พ.ค. ช่วงที่รัสเซียเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 

ประธานาธิบดีสีกับประธานาธิบดีปูติน พบกันครั้งล่าสุดก่อนพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งเมื่อปีก่อน ไม่กี่วันก่อนรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. โดยทั้งสองประกาศความเป็นพันธมิตรที่ไม่มีขีดจำกัด และจะร่วมมือกันในทุกด้านไม่มีข้อยกเว้น ส่วนการหารือทางวิดีโอคอลล์ล่าสุดมีขึ้นในเดือนธ.ค. 

ที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งไม่เคยประณามการกระทำของรัสเซีย หรือเข้าร่วมคว่ำบาตรรัสเซียกับชาติตะวันตก มีแต่เรียกร้องให้อดทนอดกลั้นและย้ำว่าข้อพิพาทควรแก้ไขด้วยสันติวิธี 

เมื่อหันมามองดูความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับพบว่าเสื่อมถอยลงในหลายๆ เรื่อง เช่น สิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและซินเจียง ล่าสุดสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนส่งบอลลูนสอดแนมเหนือท้องฟ้าสหรัฐฯ 

ข่าวเรื่องการจะพบกันของผู้นำจีนและรัสเซียมีขึ้นในช่วงที่ประชาคมโลกเริ่มวิตกกังวลมากขึ้น หลังการแถลงผลงานประจำปีของประธานาธิบดีปูตินในวันอังคาร (21 ก.พ.) และเขาประกาศระงับความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่ชื่อว่า New START ที่ลงนามเมื่อปี 2010 ระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับประธานาธิบดีดิมิทรี เมดเวเดฟ
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/74EzS5RHrZidcFZQV6k9Rf/f140e0573b72d1dd109507d0d6b3d68c/china-xi-jinping-visit-russia-putin-promote-peace-ukraine-avoid-nuclear-weapons-SPACEBAR-Photo01
Photo: Dimitar DILKOFF / AFP
เป้าหมายของ New START คือ ควบคุมหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ที่สองประเทศครอบครอง โดยอนุญาตให้แต่ละฝ่ายตรวจสอบคลังแสงนิวเคลียร์ของกันและกันได้ สนธิสัญญามีกำหนดหมดอายุในปี 2026 แต่เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดเรื่องยูเครน การตรวจสอบซึ่งกันและกันจึงถูกระงับไป 

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกความเคลื่อนไหวของปูตินว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายและไม่รับผิดชอบอย่างยิ่ง” 

ส่วน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวว่า เป็นการทำให้โลกเป็นสถานที่อันตรายยิ่งขึ้น และขอให้ปูตินคิดใหม่ 

ทั้งนี้ รัสเซียและสหรัฐฯ ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์รวมกันในสัดส่วน 90% ของทั้งโลก สนธิสัญญา New START จำกัดให้แต่ละฝ่ายมีได้ไม่เกิน 1,550 ลูก ภายในปี 2018 

หลังจากปูตินแถลงเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียชี้แจงในเวลาต่อมาว่า รัฐบาลมอสโกตั้งใจปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาเรื่องจำนวนหัวรบที่มีได้ต่อไป 

เมื่อรัสเซียระงับให้ความร่วมมือใน New START ในวันพุธ (22 ก.พ.) ไบเดนจึงต้องหารือกับรัฐสมาชิกนาโตฝั่งตะวันออก ที่เรียกว่ากลุ่ม Bucharest Nine ซึ่งประกอบด้วย บัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวะเกีย 

ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมนาโตหลังจากถูกมอสโกครอบงำมานานในยุคสงครามเย็น สมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครนอย่างแข็งขันที่สุด ทางการของหลายประเทศในกลุ่มนี้เรียกร้องทรัพยากรเพิ่มเติม เช่น ระบบการป้องกันภัยทางอากาศ การพบกันรอบนี้ไบเดนต้องการตอกย้ำถึงความรับผิดชอบด้านความมั่นคง และหารือกันเรื่องการสนับสนุนยูเครนก่อนเขาเดินทางกลับวอชิงตัน 

ด้านรัสเซียมองว่า นาโตที่เร็วๆ นี้จะรับสวีเดนและฟินแลนด์มาเป็นสมาชิก เป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริง 

ในวันพุธ (22 ก.พ.) หรือสองวันก่อนถึงวันครบรอบหนึ่งปีรัสเซียรุกรานยูเครน สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ประชุมกันโดยสมาชิกประมาณ 60 ประเทศร่วมกันเสนอร่างข้อมตินำมาอภิปรายลับก่อนจะลงมติที่น่าจะทำได้ในวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) เป็นอย่างน้อย 

เนื้อหาในร่างเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการบรรลุสันติภาพที่ครอบคลุมและยั่งยืนในยูเครนตามหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และที่เหมือนกับข้อมติฉบับก่อนๆ คือ ตอกย้ำความรับผิดชอบของยูเอ็นต่ออธิปไตย อิสรภาพ เอกภาพ และบูรณภาพเหนือดินแดนของยูเครน เรียกร้องให้ยุติการสู้รบทันทีขอให้รัสเซียถอนทหารทั้งหมดออกจากดินแดนยูเครนทันทีโดยสมบูรณ์แบบและไม่มีเงื่อนไข 

อย่างไรก็ตาม ข้อมติของยูเอ็นจีเอแตกต่างจากของคณะมนตรีความมั่นคง (ยูเอ็นเอสซี) ตรงที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย เหมือนเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่รัฐบาลเคียฟก็หวังว่าจะได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อยก็เท่ากับเมื่อเดือน ต.ค. ที่ 143 ประเทศ รับข้อมติประณามรัสเซียผนวกหลายดินแดนของยูเครน 

การอภิปรายในนิวยอร์กที่แอนโทนี บลิงเคน ไปร่วมด้วย เริ่มต้นขึ้นในเวลา 15.00 น. ของวันพุธ ตามเวลานิวยอร์ก หรือ 03.00 น. วันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) ตามเวลาประเทศไทย 

ในส่วนของจีน มีความกังวลมากขึ้นว่าความขัดแย้งอาจบานปลายคุมไม่อยู่ และว่าเร็วๆ นี้จีนจะยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางออกทางการเมืองสำหรับสงครามเห็นได้ว่าจีนและอีกหลายประเทศ เห็นชัดๆ คือ อินเดียงดเว้นการออกเสียงในข้อมติว่าด้วยยูเครนของยูเอ็นหลายครั้ง 

ขณะที่ ริชาร์ด โกวัน นักวิเคราะห์จากอินเตอร์เนชันแนลไครสิสกรุ๊ปกล่าวโดยอ้างถึงบราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ว่า “ถ้ารัฐบาลเคียฟไม่คุยเรื่องสันติภาพ ย่อมเสี่ยงว่ากลุ่มประเทศบริกส์จะเริ่มกล่าวว่า ยูเครนคืออุปสรรคของสันติภาพตัวจริง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ และอียูจึงอยากอ้างถึงการยุติการกระทำอันเป็นปรปักษ์ในร่างข้อมติฉบับล่าสุด” 

ด้านบรรดานักการทูตอธิบายเพิ่มเติมว่า การยุติการกระทำอันเป็นปรปักษ์จะมาพร้อมกับข้อกำหนดให้รัสเซียถอนทหารออกไป เพราะการใช้คำว่า หยุดยิงเฉยๆ อาจเปิดช่องให้รัสเซียจัดกำลังทหารใหม่ได้อีก

มาลุ้นกันว่า สงครามนี้จะจบลงอย่างไร ผู้นำจีนจะมีบทบาทช่วยให้เกิดการเจรจาเพื่อหาทางออกในวิกฤตที่ยืดเยื้อนี้ได้หรือไม่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์