ทุเรียนจีนปลูกเองมาแรงกำลังจะกลายเป็นเจ้าตลาด ไทยอาจถูกโค่นตำแหน่ง

22 ม.ค. 2567 - 06:04

  • ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังสำรวจทางเลือกการนำเข้าเพื่อตอบสนองฐานลูกค้าขนาดใหญ่

  • ขณะที่ประเทศไทยซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้นำในการส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนไม่เคยประสบปัญหาเลย แต่ตอนนี้กำลังสูญเสียส่วนแบ่งเนื่องจากประเทศอื่นๆ ได้รับอนุมัติให้จัดส่งไปยังจีนได้

chinas-durian-market-ripens-thailand-loses-ground-SPACEBAR-Hero.jpg

การนำเข้าทุเรียนของจีนเพิ่มสูงขึ้นในปีที่แล้ว แต่ทว่าซัพพลายเออร์หลักอย่างไทยกลับกำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด (market share) เนื่องจากผู้ซื้อทุเรียนรายใหญ่ของโลกสามารถนำเข้าจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ได้ 

ข้อมูลจากกรมศุลกากรของจีนระบุว่า “จีนนำเข้าทุเรียน 1.4 ล้านตันในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 69% จากปีก่อนหน้า” 

ส่วนแบ่งการนำเข้าของไทยลดลงจากเกือบ 100% ในปี 2021 เหลือ 95.36% ในปีต่อมา และ 67.98% ในปีที่แล้ว ขณะเดียวกันเวียดนามก็เข้ามาแย่งส่วนแบ่งของไทยหลังจากที่จีนเริ่มอนุญาตให้ผู้ส่งออกของเวียดนามจัดส่งทุเรียนสดในปี 2021 

การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีนเพิ่มขึ้นจากใกล้ศูนย์เป็น 4.63% ที่ 188.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6 พันล้านบาท) ในปี 2022 และเพิ่มขึ้นเป็น 31.82% ในปีที่แล้วมูลค่ารวม 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.4 หมื่นล้านบาท) 

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเผยว่า “การส่งออกผลไม้ของเวียดนามทั่วโลกสูงถึง 4.9% ของปริมาณทั้งหมดในปี 2022 ที่ 40.88 ล้านกิโลกรัม…ส่วนแบ่งของเวียดนามอยู่ที่น้อยกว่า 1% ในปีก่อนหน้าและเป็นศูนย์ก่อนหน้านั้น” 

จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศเวียดนามคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “เวียดนามตั้งเป้าที่จะมีมูลค่าการซื้อขายทุเรียนสูงถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.24 แสนล้านบาท) ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 55% จากปีที่แล้ว ด้วยการเจาะลึกเข้าไปในตลาดจีน  

ธนาคาร HSBC กล่าวในรายงานการวิจัยเมื่อปีที่แล้วว่า “มากกว่า 90% ของการส่งออกทุเรียนไปถึงจีน” 

ฟิลิปปินส์ก็ได้รับส่วนแบ่งการตลาดเช่นกัน 

เมื่อช่วงเดือนมกราคมปีที่แล้ว จีนตกลงที่จะเริ่มนำเข้าทุเรียนสดของฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่เติบโตในดินภูเขาไฟของภูเขาอาโปบนเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ 

สำนักข่าวรัฐของฟิลิปปินส์รายงานว่า “การส่งออกทุเรียนของฟิลิปปินส์ไปยังจีนมีมูลค่า 1.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 66 ล้านบาท) ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2023” ขณะที่ข้อมูลศุลกากรจีนเผยว่า “ฟิลิปปินส์ครองส่วนแบ่ง 0.2% ของการนำเข้าทุเรียนของจีนในปีที่แล้ว” 

จีนยังประกาศเมื่อปีที่แล้วด้วยว่าประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนในประเทศเป็นครั้งแรกบนเกาะไหหลำทางตอนใต้ 

เฟิงเสวี่ยเจีย ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตร้อนชื้นแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไหหลำกล่าวว่า “ทุเรียนในประเทศคาดว่าจะมีการผลิต 250 ตันในปีนี้ และในปีหน้า ทุเรียนเหล่านี้จะสามารถออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงตอนนั้นการผลิตจะสูงถึง 500 ตัน” 

ปีที่แล้ว ไหหลำประสบความสำเร็จในการผลิตรวม 50 ตัน ซึ่งเฟิงกล่าวว่าไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน 

“ราคาและรสชาติทุเรียนในประเทศในอนาคตก็รอดูกันต่อไป” เฟิงกล่าวเสริม 

“การจัดส่งจากฟิลิปปินส์ไปยังจีนโดยทั่วไปมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ผู้ส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายอื่นๆ จ่าย เนื่องจากอุปสรรคด้านระยะทางและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนั่นอาจเปลี่ยนแปลงได้…รัฐบาลอาจจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของฟาร์ม เช่น ห้องเย็น” โจนาธาน ราเวลาส กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้าน eManagement สำหรับธุรกิจและการตลาดในกรุงมะนิลากล่าว 

มาเลเซียกำลังเจรจากับจีน... 

“ผู้ส่งออกทุเรียนในมาเลเซียก็กำลังผลักดันข้อตกลงในปีนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน” ไซมอน ชิน ผู้ก่อตั้ง DKing บริษัทส่งออกมาเลเซียกล่าว 

“ตอนนี้เรากำลังพูดคุยกับจีนเพื่อสำรวจการส่งออกผลไม้สด เช่นเดียวกับคนไทย และสิ่งที่พวกเขาทำ” ชินกล่าว 

แซม ซิน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาของ S&F Produce Group ในฮ่องกงกล่าวว่า “ในแง่ของรายได้ การขนส่งทุเรียนของไทยไปยังประเทศจีนยังคงเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว…อุปทานไม่เพียงพอสำหรับจีน  ตอนนี้ตลาดค่อนข้างได้รับการพัฒนาในเมืองระดับหนึ่งและสอง แต่ไม่ใช่ในเมืองระดับสาม สี่ และห้า” 

Photo by Madaree TOHLALA / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์