เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์จีนทดลองเชื้อไวรัสที่อาจเป็นโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่มีอัตราการตาย 100% (ติดเชื้อแล้วมีแต่ตาย) ใน ‘หนูที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์’ (humanized mice)
ตามการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากปักกิ่งระบุว่า
“ไวรัสมรณะที่เรียกว่า ‘จีเอ็กซ์ พี 2 วี’ (GX_P2V) โจมตีสมองของหนูที่ถูกจำลองมาเพื่อสะท้อนการสร้างพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกันในมนุษย์”
“สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่การแพร่กระจายของ ‘GX_P2V’ ไปสู่มนุษย์ และเป็นแบบจำลองเฉพาะสำหรับการทำความเข้าใจกลไกการทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับไวรัส ‘SARS-CoV-2’ ” นักวิจัยเขียน
ไวรัสร้ายแรงตัวนี้เป็นเวอร์ชันกลายพันธุ์ของ ‘GX/2017’ ลูกพี่ลูกน้องของไวรัสโคโรนาซึ่งมีรายงานว่าพบในตัวลิ่นมาเลเซียในปี 2017 3 ปีก่อนที่โควิด-19 จะระบาด
ทั้งนี้ พบว่า หนูทั้งหมดที่ติดเชื้อไวรัสจะตายภายในเวลาเพียง 8 วัน ซึ่งนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่ามี ‘อัตราการตายที่รวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจ’ โดยไวรัส ‘GX_P2V’ จะติดเชื้อที่ปอด กระดูก ดวงตา หลอดลม และสมองของหนูที่ตายแล้ว ในช่วงไม่กี่วันก่อนที่หนูเหล่านี้จะตาย น้ำหนักของพวกมันลงอย่างรวดเร็ว มีลักษณะท่าทางโค้งงอ และเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้ามาก แต่ที่น่าขนลุกที่สุดก็คือ ‘ดวงตาของพวกมันเปลี่ยนเป็นสีขาวสนิทในวันก่อนที่พวกมันจะตาย’
นักวิจัยระบุว่า “ถึงแม้จะดูน่ากลัว แต่การวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นการศึกษาชิ้นแรกที่รายงานอัตราการเสียชีวิต 100% ในหนูที่ติดเชื้อไวรัสที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ซึ่งเหนือกว่าผลการศึกษาอื่นๆ ที่รายงานไว้ก่อนหน้านี้มาก…ที่สำคัญกว่านั้น ผลการศึกษาไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร”
แต่งานวิจัยดังกล่าวถูกผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ วิจารณ์อย่างหนัก
ฟรองซัวส์ บัลลูซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากสถาบันพันธุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกลับประณามงานวิจัยนี้บนแพลทฟอร์ม X ว่า ‘แย่มากและไร้จุดหมายทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง’ “ผมไม่เห็นสิ่งใดที่น่าสนใจที่สามารถเรียนรู้ได้จากการบังคับให้หนูพันธุ์แปลกๆ ที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ติดไวรัสแบบสุ่ม ในทางกลับกัน ผมมองเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านั้นอาจผิดพลาดได้อย่างไร”
“งานวิจัยที่มีการพิมพ์ล่วงหน้าไม่ได้ระบุระดับความปลอดภัยทางชีวภาพและข้อควรระวังด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่ใช้ในการวิจัย…การขาดข้อมูลนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่งานวิจัยบางส่วนหรือทั้งหมด เช่น การวิจัยในอู่ฮั่นปี 2016-2019 ที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งดำเนินการอย่างไม่ระมัดระวังโดยไม่มีการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นต่ำและแนวปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับการวิจัยกับเชื้อโรคที่อาจระบาดได้”
ขณะที่ ริชาร์ด เอช. เอบไร ศาสตราจารย์วิชาเคมีและชีววิทยาเคมีแห่งมหาวิทยาลัยรูเกอร์ก็ออกมาสนับสนุนข้อกังวลของบัลลูซ์ว่า ‘เห็นด้วย’
ด้าน ดร.เกนนาดี กลินสกี ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งเกษียณแล้วบอกว่า “ความบ้าคลั่งนี้จะต้องหยุดก่อนที่จะสายเกินไป”
อย่างไรก็ดี การศึกษาในปี 2024 ดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทฤษฎีการรั่วไหลของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ขณะเดียวกัน ตลอดช่วงฤดูร้อน หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ก็ยังไม่พบหลักฐานโดยตรงว่าห้องทดลองปล่อยไวรัสโคโรนา แม้ว่าจะไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะมาจากสายพันธุ์อื่นก็ตาม
และต้นกำเนิดของโควิด-19 ก็ยังไม่ชัดเจน…
Photo by NOEL CELIS / AFP