นักวิจัยจีนพบไวรัสค้างคาวตัวใหม่เจาะเข้าเซลล์มนุษย์ทางเดียวกับโควิด-19

24 ก.พ. 2568 - 09:15

  • นักวิจัยชาวจีนค้นพบไวรัสโคโรนาในค้างคาวสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน เนื่องจากใช้โปรตีนบนพื้นผิวเซลล์ชนิดเดียวกันกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 และมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสอาจแพร่กระจายสู่คนในอนาคตได้

  • แต่นักวิจัยเผยว่า ไวรัสจะไม่เข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายเท่ากับ SARS-CoV-2 โดยได้ระบุถึงข้อจำกัดบางประการของไวรัสด้วย

chinese-researcher-find-bat-virus-enters-human-cells-same-pathway-covid-SPACEBAR-Hero.jpg

นักวิจัยชาวจีนค้นพบไวรัสโคโรนาในค้างคาวสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน เนื่องจากใช้โปรตีนบนพื้นผิวเซลล์ชนิดเดียวกันกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 และมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสอาจแพร่กระจายสู่คนในอนาคตได้ 

แต่นักวิจัยเผยว่า ไวรัสจะไม่เข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายเท่ากับ SARS-CoV-2 โดยได้ระบุถึงข้อจำกัดบางประการของไวรัสด้วย ‘ไวรัสค้างคาว HKU5-CoV-2’ มีลักษณะที่เรียกว่า ‘การแยกฟูริน’ (furin cleavage site) ซึ่งช่วยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ผ่านโปรตีนตัวรับ ACE2 (Angiotensin-converting enzyme 2 / เอนไซม์ที่แปลงแอนจิโอเทนซิน 2) บนพื้นผิวเซลล์ 

การค้นพบล่าสุดคือ สายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนา HKU5 ถูกพบครั้งแรกในค้างคาวบ้านญี่ปุ่น (Japanese pipistrelle bat) ในฮ่องกง ไวรัสชนิดใหม่นี้มาจากสกุลย่อย ‘merbecovirus’ ซึ่งรวมถึงไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Mers) ด้วย 

ไวรัสสามารถจับกับ ACE2 ซึ่งเป็นตัวรับชนิดเดียวกับที่ไวรัส Sars-CoV-2 ใช้เพื่อทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ได้

สำนักข่าว Bloomberg รายงานผลการศึกษาดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ (21 ก.พ.) ที่ผ่านมาว่า ไวรัสค้างคาวทำให้หุ้นของบริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ขยับขึ้นในวันที่ตลาดโดยรวมปรับตัวลดลง บริษัทไฟเซอร์เพิ่มขึ้น 1.5% โมเดอร์นาพุ่งขึ้น 5.3% และโนวาแวกซ์ เพิ่มขึ้นประมาณ 1%  

เมื่อถามถึงข้อกังวลที่เกิดขึ้นจากรายงานการระบาดใหญ่อีกครั้งอันเป็นผลมาจากไวรัสชนิดใหม่นี้ ดร.ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตากล่าวว่า “ปฏิกิริยาต่อการศึกษาดังกล่าวนั้น ‘เกินจริง’...ประชากรมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS ที่คล้ายคลึงกันในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการระบาดใหญ่ได้” 

ชือเจิ้งลี่ นักไวรัสวิทยาชาวจีนเผยในรายงานของวารสาร Cell ว่า “เรารายงานการค้นพบและแยกสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน (สายพันธุ์ 2) ของ HKU5-CoV ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากไม่เพียงแต่ ACE2 ของค้างคาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ACE2 ของมนุษย์และออร์โธล็อก ACE2 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ (ยีนที่พบในสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีต้นกำเนิดร่วมกัน)”

ทั้งนี้พบว่าเมื่อแยกไวรัสออกจากตัวอย่างค้างคาว ไวรัสสามารถติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์ได้ รวมถึงเซลล์ หรือเนื้อเยื่อเทียมซึ่งมีลักษณะคล้ายอวัยวะระบบทางเดินหายใจ หรือลำไส้ขนาดเล็กด้วย 

HKU5-CoV-2 ไม่เพียงแต่จับกับตัวรับ ACE2 ในมนุษย์เท่านั้น แต่ยังจับกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด โดยสิ่งมีชีวิตทั้งหมดสามารถทำหน้าที่เป็นโฮสต์ตัวกลางและถ่ายทอดไปยังมนุษย์ได้ 

เมื่อต้นเดือนนี้ วารสาร Cell ได้ตีพิมพ์บทความที่เขียนโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเทิลและมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ซึ่งสรุปว่า แม้สายพันธุ์ HKU5 จะสามารถจับกับตัวรับ ACE2 ของค้างคาวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นได้ แต่ก็ ‘ไม่สามารถตรวจจับการจับกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ’ 

แต่ทีมของชือกล่าวว่า “HKU5-CoV-2 ปรับตัวเข้ากับ ACE2 ในมนุษย์ได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ 1 และอาจมีช่วงโฮสต์ที่กว้างกว่าและมีศักยภาพในการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ที่สูงกว่า...จำเป็นต้องมีการติดตามไวรัสเพิ่มเติม แต่ประสิทธิภาพนั้น ‘ต่ำกว่า’ ไวรัสโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ และ ไม่ควรกล่าวเกินจริงถึงความเสี่ยงของการเกิด HKU5-CoV-2 ในประชากรมนุษย์” 

Shutterstock / lumyai l sweet

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์