วัยรุ่นจีนทิ้งชีวิตวุ่นวายในเมืองหันหางานปั้นเซรามิกฮีลใจในชนบท

30 ก.ย. 2566 - 02:36

  • เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นทางตะวันออกของประเทศ ขึ้นชื่อเรื่องการสอนศิลปะการปั้นเครื่องปั้นดินเผาโบราณมากว่าพันปีแล้ว

  • วัยรุ่นจีนกำลังเผชิญวิกฤต ทั้งตัวเลขการว่างงานที่สูงทุบสถิติ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และสำหรับหลายๆ คนแล้วโอกาสดีๆ ที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เคยได้รับมานั้นกลับเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา

  • หลายคนเลือกทิ้งงานทิ้งความวุ่นวายในเมืองหลวงย้ายไปอยู่ตามชานเมืองเพื่อใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์

chinese-youths-trade-city-living-for-ceramics-SPACEBAR-Hero.jpg

คนรุ่นใหม่ในจีนกำลังพากันทิ้งชีวิตในเมืองที่วุ่นวาย ต้องทำงานไม่ต่างจากหนูถีบจักร เพื่อออกไปหาชีวิตสโลว์ไลฟ์ตามชานเมือง และหนึ่งในจุดหมายปลายทางของพวกเขาก็คือ “เมืองหลวงแห่งเครื่องปั้นดินเผา” อย่างจิ่งเต๋อเจิ้นทางตะวันออกของประเทศ ขึ้นชื่อเรื่องการสอนศิลปะการปั้นเครื่องปั้นดินเผาโบราณมากว่าพันปีแล้ว โดยอาศัยเครื่องปั้นเซรามิคเหล่านี้ช่วยฮีลใจ

ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับวัยรุ่นในจีน ทั้งตัวเลขการว่างงานที่สูงทุบสถิติ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และสำหรับหลายๆ คนแล้วโอกาสดีๆ ที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เคยได้รับมานั้นกลับเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา

แต่ในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น วัยรุ่นเหล่านี้ได้ค้นพบความแตกต่างจากในเมืองใหญ่ ทั้งค่าเช่าที่ถูก ชีวิตสโลว์ไลฟ์ และความใกล้ชิดธรรมชาติของเมืองที่มีประชากรเพียง 1.6 ล้านคน ซึ่งหากวัดตามมาตรฐานของจีนก็ถือว่าเป็นเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งเท่านั้น

เหอหยุน กราฟิกดีไซเนอร์วัย 28 ปี ตัดสินใจไปจิ่งเต๋อเจิ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลังถูกเลย์ออฟ โดยเธอเช่าอพาร์ตเมนต์ขนาด 1 ห้องนอนที่มองเห็นภูเขาได้รอบด้านจากชั้น 7 ในราคาเดือนละ 500 หยวน โดยเล่าให้ AFP ฟังว่า “ฉันมาที่นี่เพราะในโซเชียลทุกคนบอกว่ามันดีมากสำหรับคนที่ชอบงานฝีมืออย่างฉัน และมันมีกลิ่นของความอิสระ ตอนตกงานฉันอยู่บ้านและเริ่มรู้สึกหดหู่ แต่พอมาถึงที่นี่ฉันรู้สึกว่าการทำความรู้จักกับคนอื่นเป็นเรื่องง่ายมาก แถมไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุกตอนเช้าด้วย ตอนนี้ฉันไม่กดดันแล้ว”

ตามหาความหมาย

1 วันที่นั่นของเหอเริ่มจากการกินอาหารเช้าแบบสบายๆ ก่อนจะตรงไปที่เวิร์กช้อปปั้นเซรามิกแล้วนำเข้าเตาเผา จากนั้นช่วงบ่ายๆ เธอก็จะไปเที่ยวตามหมู่บ้านรอบๆ แล้วว่ายน้ำในลำธารเพื่อผ่อนคลาย ส่วนชิ้นงานบางส่วนก็นำไปขายในแอปพลิเคชันเสี่ยวหงซู (คล้ายกับอินสตาแกรม) แต่ส่วนใหญ่จะขายที่ตลาด

chinese-youths-trade-city-living-for-ceramics-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เหอหยุน (คนขวา) และเพื่อนเดินเล่นในลำธารในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น (Photo by WANG Zhao / AFP)

เฉิน เจีย สาวเจ้าของดีกรีด้านดนตรีวัย 24 ปีเป็นอีกคนหนึ่งที่ทิ้งชีวิตครูสอนเปียโนในเมืองมาตามหาความหมายของชีวิตที่เมืองหลวงแห่งเครื่องปั้นดินเผานี้ โดยบอกว่า “ฉันกำลังมองหาความหมายของชีวิต ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่หลายคนไม่อยากทำงานที่ต้องเข้าออกตามเวลาแล้ว”

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนมีรากฐานว่าจากหยาดเหงื่อแรงงานของชนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยชนชั้นกลางเหล่านี้ถูกร่ายมนตร์ใส่ว่าพวกเขาจะได้ดื่มด่ำกับความมั่งคั่งและช่วยให้ลูกหลายได้มีชีวิตที่ดีขึ้นหากพวกเขาทำงานหนักพอ แต่โอกาสของคนยุคมิลเลนเนียลและเจนซีกลับต่างไปโดยสิ้นเชิง อัตราการส่างงานของคนรุ่นใหม่พุ่งเกิน 20% ค่าตอบแทนก็ต่ำ

สถานการณ์นี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า “ถั่งผิง” แปลตรงตัวคือ นอนราบ นอนเฉยๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจความคาดหวังของสังคมที่ว่าต้องทำงานหนักเพื่อหาเงิน โดยพวกเขายอมทิ้งงานดีๆ เงินเดือนสูงๆ เพื่อแลกกับชีวิตที่เรียบง่ายและความสุข

และจิ่งเต๋อเจิ้นก็กลายเป็นสวรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาชีวิตที่เรียบง่าย

อันนา ผู้อำนวยการโรงเรียนปั้นเซรามิกต้าซูที่คิดค่าเล่าเรียนเดือนละ 4,500 หยวน หรือ 22,759 บาทเผยกับ AFP ว่า “คนรุ่นใหม่หลายคนหางานทำไม่ได้ พวกเขามาที่นี่เพื่อลดความเครียด เซรามิกเข้าถึงง่ายมากๆ แค่ 2 สัปดาห์พวกขาก็ปั้นงานง่ายๆ แล้วนำไปขายที่ตลาดได้”

chinese-youths-trade-city-living-for-ceramics-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by WANG Zhao / AFP

ชีวิตใหม่

กัวอี้หยาง หนุ่มวัย 27 ที่ลาออกจากงานเงินดีอย่างโปรแกรมเมอร์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเล่าว่า เขาต้องการเวลาพักหายใจหายคอบ้างหลังจากต้องทำงานล่วงเวลามาหลายปี และไม่ต้องการกลับไปทำงานแบบนั้นอีกแล้ว “ในเมืองใหญ่...คุณแค่ทำงาน แต่ไม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง”

ความต้องการวิถีชีวิตแบบใหม่นี้เป็นแรงผลักดันให้เสี่ยวเฟย อดีตนักออกแบบภายในวัย 27 ปี ตัดสินใจลาออกแล้วเดินทางไปยังจิ่งเต๋อเจิ้นเหมือนกับวัยรุ่นคนอื่นๆ เธอเล่าว่า “ฉันไม่มีเวลาให้ตัวเอง กลับถึงบ้านก็เหนื่อยแล้วและไม่อยากคุยกับคนอื่นเลย ฉันมีความสุขมากขึ้น มีอิสระมากขึ้น และได้เจอคนที่มีแนวคิดเหมือนๆ กัน”

สื่อท้องถิ่นของจีนระบุว่า ปีที่แล้วมีวัยรุ่นจากในเมืองย้ายไปอยู่ที่จิ่งเต๋อเจิ้น 30,000 คน มีส่วนน้อยที่อยู่ยาว แต่ก็มีบางคนที่ไม่อยากกลับไปอยู่ในเมืองแล้ว อาทิ เสี่ยวเฟย ที่บอกว่า “หลังจากได้ลิ้มลองชีวิตใหม่นี้แล้ว ฉันไม่อยากกลับไปทำงานออฟฟิศอีกแล้ว”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์