วิจัยชี้ติดกัญชาหนักๆ เสี่ยงซึมเศร้า-ไบโพลาร์-โรคจิตสูงถึง 4 เท่า

25 พฤษภาคม 2566 - 09:09

chronic-cannabis-use-raises-risk-depression-bipolar-psychosis-SPACEBAR-Hero
  • งานวิจัยผู้คนมากกว่า 6.6 ล้านคนในเดนมาร์กพบว่า ผู้ที่ติดกัญชามีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคอารมณ์สองขั้วมากกว่าคนที่ไม่เสพถึง 4 เท่า

  • ขณะที่การศึกษาหลายชิ้นพบว่ากัญชาสามารถทำให้เกิดโรคจิต ทั้งยังทำให้วิธีคิด การตัดสินใจ การจัดการอารมณ์ และปฏิสัมพันธ์กับความเป็นจริงแย่ลงอีกด้วย

เสพเยอะ…เสี่ยงซึมเศร้า ไบโพลาร์ โรคจิตสูง! 

ปัจจุบันมีผู้ใช้กัญชามากขึ้นทุกวันทั้งที่ถูกกฎหมายและบางประเทศยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ แต่นอกจากความบันเทิงเพลิดเพลินผ่อนคลายแล้ว การใช้กัญชาเรื้อรังกลับเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตรวมถึงความผิดปกติทางบุคลิกภาพอย่างมีนัยสำคัญด้วย  
 
งานวิจัยผู้คนมากกว่า 6.6 ล้านคนในเดนมาร์กพบว่า ผู้ที่ติดกัญชามีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคอารมณ์สองขั้วมากกว่าคนที่ไม่เสพถึง 4 เท่า โดยทีมวิจัยพิจารณาผู้ที่มีความผิดปกติในการใช้กัญชา (CUD) ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่สามารถหยุดใช้ยาได้แม้ว่าจะสร้างความเสียหายต่อสุขภาพและชีวิตทางสังคมก็ตาม 
 
ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นซึ่งเกี่ยวโยงกับประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและประชากรสูงอายุ แต่นักวิจัยเตือนว่า โรคซึมเศร้าอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเนื่องจากกัญชาเริ่มถูกกฎหมายมากขึ้นในหลายรัฐของสหรัฐฯ โดยขณะนี้ 22 รัฐไฟเขียวให้ใช้กัญชาในเชิงสันทนาการได้ 
 
ขณะที่นักวิจัยจาก Aarhus University Hospital ในเดนมาร์กวิเคราะห์เวชระเบียนของผู้ที่เกิดระหว่างปี 1995-2021 โดยผู้เข้าร่วมทั้งหมดมีอายุอย่างน้อย 16 ปีที่ใช้กัญชาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจแม้ว่าจะเป็นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และผู้เข้าร่วมได้รับการตรวจหาความผิดปกติของการใช้กัญชา ประวัติโรคซึมเศร้า อาการทางจิต โรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์) ที่มีและไม่มีอาการทางจิต 
 
ผลที่ออกมาพบว่า ผู้เข้าร่วมประมาณ 56,000 คนมีความผิดปกติในการใช้กัญชา ประมาณร้อยละ 41 ของบุคคลเหล่านี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า โดยเกือบทั้งหมด (96%) ของการวินิจฉัยเหล่านี้เป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่ใช่โรคจิต 
 
นอกจากนี้ ยังพบว่า 14% ของบุคคลที่มีความผิดปกติของการใช้กัญชานั้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์หลังจากที่ใช้มันด้วย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ (90%) เป็นไบโพลาร์ที่ไม่ใช่โรคจิต 
 
อย่างไรก็ดี ความผิดปกติของการใช้กัญชาก็ยังมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงสูงในโรคไบโพลาร์ชนิดใดก็ตาม ซึ่งพบในผู้ชายมากกว่าถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ 2.5 เท่า 
 
สารเมาที่เรียกว่า ‘Tetrahydrocannabinol’ (THC) องค์ประกอบหลักที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทของกัญชานั้นก็เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคจิตด้วยเช่นกัน เนื่องจากสารดังกล่าวไปรบกวนการทำงานของสมองส่วนที่ประมวลผลข้อมูลและสั่งการพฤติกรรมนั่นเอง 
 
ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าตัวอย่างที่สอดคล้องกันว่ากัญชาอาจมีอิทธิพลต่อการพัฒนาความผิดปกติทางอารมณ์ได้อย่างไร? แต่พวกเขายังขาดหลักฐานว่าการหยุดใช้กัญชานั้นจะสามารถลดความเสี่ยงของการถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตได้หรือไม่ 
 
ทั้งนี้ การศึกษาหลายชิ้นในอดีตก็พบความเชื่อมโยงระหว่างกัญชากับโรคจิตเภทด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม นอกจากนี้ ยังพบว่ากัญชาสามารถทำให้เกิดโรคจิต ทั้งยังทำให้วิธีคิด การตัดสินใจ การจัดการอารมณ์ และปฏิสัมพันธ์กับความเป็นจริงแย่ลงอีกด้วย รวมไปถึงการพัฒนาทางสมองของคนหนุ่มสาว 
 
แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่เป็นโรคจิตเภทนั้นจะใช้กัญชาเพียงเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์