วิจัย ชี้ โลกร้อนทำทุ่งหิมะที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญลดลงกว่าที่คาด

18 มกราคม 2567 - 10:10

Climate-change-affects-less-snowpack-river-basin-lose-water-study-finds-SPACEBAR-Hero.jpg
  • งานวิจัยล่าสุด พบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลต่อรูปแบบการตกของหิมะ และทุ่งหิมะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ 31 แห่ง ทั่วซีกโลกเหนือลดลง

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะมีผลให้พายุหิมะขนาดใหญ่น้อยลงหรือไม่

คุณอาจรู้สึกเซอร์ไพรส์...นักวิจัยมากมายกำลังศึกษาว่าอากาศอุ่นจะเปลี่ยนรูปแบบการตกของหิมะและทุ่งหิมะ รวมถึงได้รู้บทสรุปใหม่เกี่ยวกับอนาคตของหิมะอย่างไร นักวิจัยบางคนพบว่าการตกของหิมะโดยรวมกำลังลดลงในหลายพื้นที่ ทำให้เหลือหิมะที่สะสมตามภูเขาน้อยลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ขณะที่นักวิจัยคนอื่นบอกว่า ฤดูหนาวที่อุ่นขึ้นจะไม่ช่วยป้องกันพายุหิมะที่รุนแรงมากขึ้น 

รูปแบบการตกของหิมะที่เปลี่ยนไปส่งผลสำคัญอย่างมาก ทั้งการขาดแคลนน้ำไปจนถึงปิดสกีรีสอร์ท 

การศึกษาล่าสุด โดยนักวิจัย 2 คน จากวิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth College) ศึกษาการลดลงของ ‘ทุ่งหิมะ’ ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นหิมะที่สะสมบนพื้นละลายช้าอยู่ตามภูเขา (snowpack) ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำในซีกโลกเหนือ สรุปได้ว่าการสูญเสียทุ่งหิมะในเวลานี้อาจมากกว่าที่เคยตระหนักกัน เพราะเป็นเรื่องที่ท้าทายในการวัดปริมาณ ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีสาเหตุจากมนุษย์ ส่งผลต่อรูปแบบการตกหิมะ รวมถึงทุ่งหิมะลดลงอย่างชัดเจนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอย่างน้อย 31 แห่ง ซึ่งการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature

การลดลงของทุ่งหิมะมีความหมายอย่างมากในพื้นที่ที่หิมะละลายเป็นแหล่งน้ำในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

พายุหิมะครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาสัปดาห์นี้ ทำให้หิมะตกปริมาณมาก แต่หิมะที่ตกลงมาบนพื้นเหล่านี้อาจไม่อยู่ตลอดฤดูหนาวนี้ ในช่วงเวลาสั้นๆ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสามารถทำให้เกิดหิมะที่หนาขึ้นจากพายุหิมะ เพราะการเพิ่มขึ้นของหยาดน้ำฟ้า แต่ด้วยอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น หิมะเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะละลายเร็วขึ้นและอาจไม่ติดอยู่บนพื้นจนเป็นทุ่งหิมะได้

นักวิจัยศึกษาข้อมูลจากลุ่มแม่น้ำมากกว่า 160 แห่งเพื่อย้อนดูว่าหลงเหลือหิมะอยู่เท่าไหร่ในเดือนมีนาคมของทุกปี ตั้งแต่ปี 1981 – 2020 ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เหล่านี้ ทีมวิจัยพบการลดลงอย่างชัดเจนของทุ่งหิมะซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยฝีมือมนุษย์

ด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ เป็นภูมิภาคที่สูญเสียทุ่งหิมะเร็วที่สุด พร้อมด้วยยุโรป การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่าอุณหภูมิสูงขึ้น หลายพื้นที่ที่เย็นกว่าอาจไม่เกินจุดเยือกแข็งของน้ำ (32 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 0 องศาเซลเซียส) ตลอดฤดูหนาว มากพอที่จะสูญเสียทุ่งหิมะมากนัก แต่หลังจากพื้นที่หนึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวไปแตะ 17 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ -8 องศาเซลเซียส ยิ่งเร่งให้สูญเสียทุ่งหิมะแบบก้าวกระโดด

นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลทุ่งหิมะที่มีอยู่ อุณหภูมิ และหยาดน้ำฟ้า เพื่อสร้างรูปแบบทุ่งหิมะในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การวัดทุ่งหิมะทำได้แค่บางพื้นที่ และเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องเติมที่ว่างด้วยการประมาณการที่คิดคำนวณแล้ว

นักวิจัยยังได้จำลองทุ่งหิมะในโลกสมมุติที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อดูว่าเมื่อตัดภาวะโลกร้อนออก ทำให้ได้ผลที่ต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ 

ลุ่มแม่น้ำ 31 แห่งที่พวกเขาศึกษา หรือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดเป็นแบบนั้น นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีอิทธิพลอย่างชัดเจนในพื้นที่เหล่านี้ ลุ่มแม่น้ำเหล่านี้มีอากาศอุ่น อุณหภูมิเฉลี่ยเกิน -8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดพลิกผันที่นักวิจัยระบุไว้ เพราะมนุษย์มักอาศัยในพื้นที่ที่สภาพอากาศอบอุ่นกว่า ซึ่งภูมิภาคที่อบอุ่นกว่าเหล่านี้เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด

สตีเฟน ยัง ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐในเซเลม ที่ไม่ได้ร่วมทำงานวิจัยนี้ กล่าวว่า“การศึกษานี้เป็นการค้นคว้าที่ดีมาก” ดร.ยัง ทดสอบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่อหิมะที่ปกคลุม ซึ่งเป็นการวัดว่ามีหิมะบนพื้นหรือไม่โดยไม่สนใจความลึก แตกต่างจากทุ่งหิมะ โดยการปกคลุมของหิมะสามารถวัดได้ด้วยดาวเทียม โดยจากการศึกษาของ ดร.ยัง ที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว พบว่าหิมะที่ปกคลุมในแต่ละปีของโลกลดลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2000 

ขณะที่การศึกษาทุ่งหิมะมีประโยชน์ในการแสดงถึงศักยภาพที่สำคัญของการเป็นแหล่งน้ำ ส่วนการศึกษาการปกคลุมของหิมะก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาอื่นๆ เนื่องจากหิมะสีขาวสะท้อนแสงอาทิตย์กลับขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ส่วนพื้นสีเข้มที่ไม่มีหิมะปกคลุมก็จะดูดซับแสงอาทิตย์ไว้ ดังนั้นเมื่อทุ่งหิมะลดลงไปถึงจุดที่ไม่มีหิมะปกคลุมบนพื้นเลย ความร้อนก็จะวนกลับมาสู่โลกมากยิ่งขึ้น

“มันกลายเป็นอีกทางหนึ่งที่โลกของเรากำลังร้อนขึ้น” ดร.ยัง กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์