เอเชียเจอผลกระทบหนักจากโลกร้อน ทั้งฝุ่น PM2.5-ร้อนจัด-น้ำท่วมหนัก

10 มีนาคม 2566 - 03:19

climate-change-aisa-record-high-temperatures-flood-PM2.5-SPACEBAR-Thumbnail
  • แทบไม่มีที่ใดในโลกที่สามารถหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปได้เต็มปอด

  • ภูมิภาคที่คุณภาพอากาศเลวร้ายลงอย่างเห็นได้ชัดคือเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก โดยในแต่ละวันมีปริมาณฝุ่นPM 2.5 มากกว่า 90%

  • ภูมิภาคเอเชียใต้มีค่ามลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากเอเชียตะวันออก

ขณะที่คนในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ กำลังเจอปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาด้านสุขภาพของผู้คนเพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีผลการวิจัยล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ทั้งในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกในแต่ละวันนั้นมีปริมาณมากกว่า 90% ซึ่งแน่นอนว่าเกินกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) 

แถมผลการศึกษาจากคณะนักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียและในจีนยังพบว่า ตอนนี้มีประชากรแค่ 0.0001% ของโลกที่หายใจเอาอากาศที่มีคุณภาพที่ยอมรับได้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งข้อมูลนี้น่าจะบอกเราได้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องเร่งมือแก้ไข  เพราะมลพิษทางอากาศทั่วโลกในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าแทบไม่มีที่ใดในโลกที่เราหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปได้เต็มปอดอีก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่กลายมาเป็นภูมิภาคที่คุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก 

คณะนักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียและจีนพบว่า ตลอดทั้งปี 2019 ทั่วโลกมีจำนวนวันมากกว่า 70% ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และภูมิภาคที่คุณภาพอากาศเลวร้ายลงอย่างเห็นได้ชัดคือ เอเชียใต้และเอเชียตะวันออก โดยเฉลี่ยมีจำนวนวันมากกว่า 90% ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 15 ไมโครกรัม และภูมิภาคเอเชียใต้มีค่ามลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากเอเชียตะวันออก 

กัวอวี่หมิง ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าทำการวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า แม้ว่าปริมาณ PM 2.5 จะเป็นอันตราย แต่นักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานกำกับดูแล มักจะมีความกังวลเกี่ยวกับระดับมลพิษรายวัน น้อยกว่าความกังวลเกี่ยวกับการสัมผัสกับมลพิษในระยะยาว ซึ่งคณะนักวิจัยได้แต่หวังว่าผลจากการศึกษาคุณภาพอากาศชิ้นนี้ จะช่วยเปลี่ยนความคิดของเหล่านักวิทยาศาสตร์ รวมถึงบรรดาผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับปริมาณฝุ่น PM 2.5 รายวันให้มากขึ้น เพราะถ้าทำให้สภาพอากาศในแต่ละวันสะอาดขึ้น คุณภาพอากาศในระยะยาวก็จะดีขึ้นตามไปด้วย 

ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตปีละมากกว่า 6.7 ล้านคน ซึ่งเกือบ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 แต่การวัดปริมาณของฝุ่น PM 2.5 ทั่วโลกเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะไม่มีสถานีตรวจวัดมลพิษที่มากพอ 

กัวและทีมงานได้เก็บข้อมูลการศึกษาครั้งนี้ ด้วยการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวนกว่า 5,000 สถานีทั่วโลก และใช้เครื่องจำลองการเรียนรู้ ข้อมูลด้านสภาพอากาศ และปัจจัยทางภูมิศาสตร์อื่นๆ ในการประเมินหาค่า PM 2.5 รายวันจากทั่วโลก 

ผลที่ได้บ่งชี้ว่า ปริมาณค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในเอเชียตะวันออก สูงที่สุดอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาด้วยเอเชียใต้ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และแอฟริกาเหนือที่ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ประชากรในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เจอปัญหาฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างน้อย และภูมิภาคอื่นๆ อย่างโอเชียเนีย รวมทั้งอเมริกาใต้ตรวจพบ PM 2.5 อยู่ในระดับต่ำที่สุด 

นอกจากนี้ คุณภาพอากาศในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2019 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชีย แอฟริกาเหนือ และซับ ซาฮารา โอเชียเนีย ลาตินอเมริกา รวมทั้งแคริบเบียน มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเกิดไฟป่ารุนแรงต่อเนื่อง 

ขณะที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ในรอบปีและรายวันในยุโรป และอเมริกาเหนือมีแนวโน้มลดลง เพราะผลพวงการประกาศข้อกำหนดที่เคร่งครัดของภาครัฐ ซึ่งค่าฝุ่นละอองส่วนใหญ่เกิดจากยานพาหนะ ควันและขี้เถ้าจากไฟป่า มลพิษจากเตาชีวมวล รวมทั้งละอองซัลเฟตจากการผลิตกระแสไฟฟ้าและฝุ่นจากทะเลทราย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5armIrFoIoa2dgjya8os0r/d7b627a98f579f56a5e839439135b16a/Info-__________-PM2.5-_______
นอกจากเจอปัญหาฝุ่นละอองแล้ว เมืองหลายสิบเมืองในจีนก็กำลังเจอสภาพอากาศร้อนจัดทุบสถิติ โดยบางพื้นที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติถึง 10 องศาเซลเซียส ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในช่วงต้นเดือนมี.ค. 

เมืองอู่ฮั่นและเจิ้งโจว ทางตอนกลางของจีนมีอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทุบสถิติในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะที่เมืองอู่ฮั่น ที่อยู่ช่วงกลางของแม่น้ำแยงซี มีอุณหภูมิอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส เมื่อวันจันทร์ (6 มี.ค.)ที่ผ่านมา สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงต้นเดือนมี.ค. 12 องศาเซลเซียส 

ส่วนที่กรุงปักกิ่ง และเมืองรอบๆ ก็มีอุณหภูมิสูงถึง 22-25 องศาเซลเซียส ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ด้วยเหมือนกัน 

หน่วยงานด้านสภาพอากาศของจีน ประกาศเตือนล่วงหน้าแล้วว่า ในปี 2023 จีนอาจจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วอีกปี ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก 

ขณะที่มณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำเป็นหลัก กำลังรับมือกับภัยแล้งที่คาดการณ์ว่าน่าจะกินระยะเวลานานไปจนถึงเดือนเม.ย. โดยมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่า 60 % ของปริมาณน้ำฝนปกติ นับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว 

ส่วนเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักอย่างรุนแรงและต่อเนื่องทางตอนใต้ของมาเลเซีย ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในรัฐยะโฮร์ และความรุนแรงจากอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลกระทบถึง 6 รัฐในมาเลเซีย 
 
ระดับน้ำท่วมสูง บางพื้นที่น้ำท่วมบ้านชั้นเดียวจนเกือบมิดหลังคา ทางการมาเลเซียต้องอพยพประชาชน 27,000 คนออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัย ไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวและมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1 รายเป็นคนงานสวนปาล์มที่กำลังขับรถไปที่สวน แต่ระหว่างทางรถถูกกระแสน้ำพัดหายไป 

นี่แค่สองสามเดือนแรกของปี ยังเจอผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้ เพราะฉะนั้นช่วงที่เหลือของปี เตรียมรับมือผลพวงจากปัญหาโลกร้อนกันได้เลย มาแน่ อยู่ที่ว่าจะสร้างความเสียหายให้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์