เมื่อครอบครัวของ โมฮัมหมัด ฟาห์มี ฟาต ในกัวลาลัมเปอร์ต้องเตรียมอาหารเพียงครึ่งเดียวของปริมาณปกติสำหรับงานเฉลิมฉลองวันอีดอัลฟิฏร์ (การฉลองละศีลอด) ซึ่งเขาโทษว่าเป็นเพราะ ‘มะพร้าว’ ที่เป็นวัตถุดิบหลักในอาหารเอเชียหลายๆ ชนิดขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง
โมฮัมหมัด ฟาห์มี ฟาต ผู้จัดการร้านอาหารวัย 45 ปี ซึ่งต้องทำอาหารขึ้นชื่ออย่าง ‘เนื้อเรนดัง’ ให้น้อยลง เผยว่า “กะทิสดมีจำกัดมากในช่วงเทศกาลอีด ผมซื้อได้แค่ 3 ซองแทนที่จะเป็น 6 ซอง และมันไม่พอ”
สภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลกระทบต่อผลผลิต ทำให้ปริมาณผลผลิตทั่วโลกหดตัว และในบางพื้นที่ทำให้ราคาของผลไม้เขตร้อนที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพิ่มเป็นสองเท่า ประเทศผู้ผลิตบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย กำลังพิจารณาข้อจำกัดการส่งออก ในขณะที่ผู้บริโภคถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบอื่นๆ ในการปรุงอาหารในชีวิตประจำวันและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น นมวีแกน และเครื่องดื่มชูกำลัง
ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดว่าผลผลิตจะลดลง 20% ในปีนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือพายุหมุนเขตร้อน ส่งผลให้ต้นไม้ได้รับความเสียหาย เช่น ต้นไม้ในไร่มะพร้าวริมชายฝั่งตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
เฮนรี่ ราเปโรกา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท ‘Axelum Resources Corp.’ กล่าวผ่านอีเมลว่า “สาเหตุหลักที่ทำให้มะพร้าวลดลงคือ ‘สภาพอากาศ’ เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ผลผลิตลดลง การเก็บเกี่ยวล่าช้า และเกษตรกรไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้”
สำนักงานมะพร้าวฟิลิปปินส์กล่าวว่ากำลังหารือกับผู้ผลิตเกี่ยวกับการเก็บน้ำมันมะพร้าวส่วนหนึ่งไว้ใช้ในประเทศก่อนที่จะอนุญาตให้ส่งออก “โครงการที่เสนอนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอุปทานภายในประเทศและรักษาเสถียรภาพของราคาโดยไม่กระทบต่อพันธกรณีในการส่งออกของเรา” หน่วยงานระบุในแถลงการณ์
ราเปโรกา กล่าวเสริมว่า “ผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ก็พบว่าจำนวนมะพร้าวมีจำกัดเช่นกัน เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศและการบริโภคภายในประเทศที่สูงขึ้น”
สำหรับอินโดนีเซีย ประเทศผู้ผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้ห้ามการส่งออกเป็นเวลา 3-6 เดือน เรียกเก็บภาษีการส่งออก และราคาอ้างอิงเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น 150% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ราคาขายส่งในการประมูลรายสัปดาห์ในเมืองหลวงของศรีลังกาเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดภาวะขาดแคลนพืชผลอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ รัฐบาลจึงอนุมัติคำขอจากผู้ผลิตในการนำเข้าเมล็ดมะพร้าวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อช่วยบรรเทาแรงกดดันในตลาด
ในขณะเดียวกัน คาดว่าความต้องการทั่วโลกจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมะพร้าวมีชื่อเสียงในเรื่องรสชาติดี ปราศจากแลคโตสและเป็นทางเลือกจากพืช
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำมันมะพร้าว นม และเกล็ดมะพร้าวแห้ง ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มด้านสุขภาพและความยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคน้ำมันมะพร้าวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.23 ล้านตันในปีนี้ จากข้อมูลของ ‘International Coconut Community’ ระบุว่า สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีนเป็นผู้นำเข้ามากที่สุด
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันมะพร้าวทั่วโลกจะปิดฤดูกาล 2024-2525 ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี แรงกดดันดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันมะพร้าวพุ่งสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2023 มาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 2,658 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ราว 8.8 หมื่นบาทต่อตัน)
นั่นทำให้ผู้ค้าบางรายในมาเลเซียต้องปิดกิจการชั่วคราว โดยผู้บริโภคถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนไปใช้ทางเลือกอื่น เช่น ใช้ครีมปรุงอาหาร หรือใช้โยเกิร์ตทำแกง ซอส และเค้กแทน
“กะทิถือเป็นหัวใจสำคัญของอาหารมาเลเซีย หากคุณเปลี่ยนกะทิสด หรือเปลี่ยนใหม่ รสชาติก็จะแย่ลง” ผู้จัดการร้านอาหารในมาเลเซีย กล่าว
Shutterstock / Valentyn Volkov